“Working Life Cycle”
ถึงท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 16 เข้าสู่ปีที่ 3 ของนิตยสาร MKT Event ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเราได้มีการปรับปรุงรูปแบบเนื้อหาในคอลัมน์ต่าง ๆ เพื่อให้น่าอ่านและถูกใจท่านผู้อ่านมากขึ้น รวมถึงการสร้างสรรค์บางคอลัมน์ให้ตรงกับความต้องการของคนทำงานรุ่นใหม่ เช่น Personal Tips เพราะเราเชื่อว่าธุรกิจไม่มีวันหยุดนิ่ง การปรับปรุงพัฒนาและเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราก้าวทันในทุกสถานการณ์
สำหรับ Thinking Back ฉบับนี้ อยากเขียนถึงชีวิตคนทำงานในรูปแบบ Working Life Cycle ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและมีระยะเวลาสั้น-ยาวที่ต่างกัน
บางคนอาจจะเคยรู้สึกว่าเช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกไม่อยากไปทำงานหรือใช้ชีวิตกับการทำงานมาถึงจุดหนึ่งก็คล้าย ๆ จะก้าวสู่เป้าหมายแต่สุดท้ายทำไมกลับมาอยู่ที่เดิม ซึ่งถ้าคุณรู้สึกหรือมีความคิดเช่นนี้นับว่าเป็นสัญญาณที่แสดงว่าวงจรชีวิตการทำงานของคุณกำลังประสบปัญหาเข้าแล้ว จนอาจจะถึงเวลาที่ต้องหันมาพิจารณาและวิเคราะห์รูปแบบหรือแนวทางในการทำงานของคุณอีกครั้งว่า
“ตอนนี้คุณทำงานมาถึงขั้นไหนหรือคุณกำลังประสบปัญหาอะไรและพร้อมหรือไม่กับการเปลี่ยนแปลง”
ขั้นที่ 1 ช่วงแนะนำ (Introduction Worker) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับการเริ่มทำงานระยะแรก ไม่นับแค่เด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน การย้ายงาน เปลี่ยนงานใหม่ ก็นับเป็นช่วงแนะนำนี้ได้เช่นกัน ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดของการทำงาน ทุกคนมีความสุขและมีจิตใจที่พร้อมสำหรับการใฝ่หาความรู้ เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เข้าใจกติกาและทุกสิ่งทุกอย่างโดยง่าย สนุกสนานกับงานที่ทำโดยไม่รู้จักเบื่อ เป็นช่วงเวลาที่ใช้การเรียนรู้มากกว่าการคาดหวัง
ขั้นที่ 2 ช่วงเติบโต (Growth Worker) เป็นช่วงที่คนทำงานทุกคนจะเริ่มวาดฝัน วางเป้าหมายคิดและผลักดันผลงานของตัวเองอย่างเต็มกำลัง ทำงานและทำงาน ใช้เวลาอยู่กับการทำงานมากกว่าเวลาทั้งหมด ซึ่งเป็นช่วงที่คุณจะต้องใช้พลังจากทุกส่วนของคุณสร้างผลงานให้เห็นและเป็นที่ประจักษ์ต่อองค์กร ถึงแม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่คุณจะประสบปัญหาที่หลากหลาย พบอุปสรรคทุกรูปแบบ แต่ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตการทำงานของคุณ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงหักเหมากในการทำงาน คุณต้องประคองความคิดคุณให้ดี หมั่นหาความรู้และใช้เวลาให้คุ้มค่า คุณก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก
ช่วงที่ 3 ช่วงอิ่มตัว (Saturated Worker) เป็นผลอันเกิดจากช่วงที่ 2 เพราะถ้าคุณประสบความสำเร็จคุณก็จะได้รับการโปรโมทเลื่อนขั้น และเมื่อคุณได้เลื่อนขั้นคุณก็จะใช้เวลาอยู่กับความภาคภูมิใจในระยะหนึ่ง แต่ศักยภาพทำสิ่งเดิม ๆ กลับช้าลงเพราะคุณเริ่มเหนื่อยและขาดเหตุผลและแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน ยิ่งกว่านั้นถ้าคุณไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คุณวาดฝันไว้ ไม่มีการโปรโมท ผลงานเกิดข้อผิดพลาดไม่เข้าตาเจ้านายก็จะยิ่งเร่งปฏิกิริยาให้คุณถึงจุดอิ่มตัวเร็วขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่อันตรายที่สุดของการทำงาน เป้าหมายของคุณจะเปลี่ยนหรือไม่ก็อยู่ในช่วงนี้ ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากเข้าสู่ช่วงที่ 4 อย่างรวดเร็วคุณต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันสถานการณ์ พัฒนาหาความรู้และแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ของคุณให้กับคนรอบข้าง สร้างคนรุ่นต่อไปให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น
ช่วงที่ 4 ช่วงถดถอย (Drop Worker) ช่วงนี้เป็นช่วงที่หนักที่สุดของการทำงาน ซึ่งมีระยะเวลาสั้น-ยาวไม่เท่ากัน บางคนสั้นมากเพราะเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงนี้ก็ลาออกเพื่อไปเริ่มขั้นที่ 1 ใหม่ บางคนก็ใช้เวลาจมอยู่กับความเบื่อหน่ายและให้เวลาในการทำงานหมดไปในแต่ละวัน ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่คุณจะต้องหันมามองและวิเคราะห์รูปแบบการทำงานของคุณอีกครั้ง
หากแต่ถ้าลองมองกันดี ๆ คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบริษัทหรือเปลี่ยนงาน แค่เพียงปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและสร้างความท้าทายบนเป้าหมายใหม่เพื่อให้คุณได้สนุกกับการทำงานอีกครั้ง ปรับปรุงตัวเองให้เข้าสู่ขั้นที่ 1หรือ 2 ให้ได้ เพียงเท่านี้วงจรชีวิตการทำงานของคุณก็จะกลับมาเริ่มใหม่ได้อีกครั้ง