Universal Design
ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร
เข้าใจคน เข้าใจตัวตน ขับเคลื่อนความเท่าเทียมด้วย
Universal Design
คำว่าด็อกเตอร์ ข่มให้เรารู้สึกเกรงขามตั้งแต่ยังไม่เจอตัว แต่ทันทีที่ได้พบผู้ชายวัยเพียงสี่สิบต้น ๆ กับท่าทีเป็นมิตร รอยยิ้มสบาย ๆ พร้อมคำแนะนำตัวแบบเป็นกันเอง “ผมชื่อหนอนนะครับ”
ทำให้ความรู้สึกหนัก ๆ ในใจที่จะมาพูดคุยกับ ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร เรื่อง Universal Design หายวับไปทันที พบว่าเขาเป็นผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งเท่านั้น
แต่สิ่งที่ทำให้เรานึกนิยมชมชอบก็คือความคิดไม่ธรรมดาของเขาที่มีต่อผู้คนบนโลกใบนี้ จนไม่แปลกใจในตำแหน่งที่เขาได้รับซึ่งสลักไว้บนนามบัตรว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“วันนี้เราจะมาคุยเรื่อง Univesal Design กันใช่ไหมครับ” อาจารย์หนอนเปิดฉากตั้งคำถามก่อนและไหลลื่นสู่คำตอบที่เราพร้อมรับฟัง โดยออกตัวก่อนเลยว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นจริง ๆ แล้วไม่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมโดยตรง
หากแต่เป็นการฝึกอบรมอาชีพคนพิการโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้คนเหล่านี้สามารถมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ แต่เป้าหมายรองที่ซ่อนอยู่และสำคัญไม่แพ้กันคือ การกระตุ้นให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ออกมาให้คนในสังคมได้เห็นพวกเขา เพื่อนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่อไป
อาจารย์หนอนเท้าความให้เราเข้าใจง่าย ๆ เกี่ยวกับแนวคิดเบื้องต้นของ Universal Design ซึ่งเป็นแนวความคิดและกระบวนการออกแบบเพื่อทุกคน
“ย้อนกลับไปสมัยเรียน ผมรู้สึกว่าสถาปัตยกรรมเน้นเรื่องความงามเป็นหลัก แต่พอเริ่มโตขึ้นมีความรู้สึกลึกซึ้งต่อสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้รู้ว่าแนวคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้เป็นเรื่องของคนกับสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมจะดีได้ คนก็ต้องดี ดีในที่นี้ไม่ใช่เป็นคนดี แต่คือรู้จักใช้สภาพแวดล้อมหรือสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตที่ดี”
“ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบในเชิง Universal Design, Barrier Free หรือ Inclusive Design ล้วนแล้วแต่มองที่คนก่อน งานออกแบบสมัยก่อนมักจะมุ่งเน้นสร้างเพื่อรองรับคนที่มีร่างกายครบถ้วน ไปไหนมาได้ตามปกติเท่านั้น พอโลกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นักออกแบบมองเห็นคนหลากหลายขึ้น มองเห็นกลุ่มคน Disability ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนพิการเท่านั้น แต่รวมถึงคนแก่ เด็ก คนท้อง นักท่องเที่ยวลากกระเป๋า คนทุกคนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะ Disability ได้ทั้งนั้น เช่นถ้าเราหกล้มใส่เฝือก ก็เท่ากับเราพิการชั่วขณะ หรือเวลาเดินทางไปต่างประเทศ แล้วเห็นป้ายแต่อ่านไม่ออก นั่นคือภาวะ ไร้ความสามารถชั่วคราว”
บนโลกนี้มีแนวคิดการออกแบบมากมาย แต่ทำไมนักวิชาการคนหนึ่งจึงสนใจเรื่องนี้ คำตอบง่าย ๆ คือเพราะเขาเป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ หน้าที่ของเขาคือการศึกษาหาความรู้ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด วันนี้เขาสนใจเรื่องนี้ ต่อไปเขาอาจจะสนใจเรื่องใหม่ แต่แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีความคิดหนึ่งที่บ่มเพาะอยู่ในตัวตนและเป็นแก่นของความคิดทั้งปวง สำหรับอาจารย์หนอน สิ่งที่อยู่ความสนใจของเขาคือ “คน”
“จริง ๆ แล้วคนมีคุณค่า มีคุณภาพชีวิตที่หลากหลาย ทุกคนต้องการสิ่งดี ๆ ในชีวิต แต่ข้อจำกัดของคนไม่เท่ากัน คุณภาพชีวิตของเราหรือเขาไม่เท่าคนที่มี Ability คนจึงเป็นสิ่งสำคัญสามารถกำหนดทุกอย่าง สถาปัตยกรรมเกิดจากคน สิ่งที่เราคุยกัน คนก็กำหนดขึ้นมา เราไม่สามารถเลี่ยงความเป็นคนไปได้ เราในฐานะนักออกแบบจะมีส่วนช่วยส่งเสริมคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร อันนี้เป็นโจทย์สำคัญของสถาปนิก”
“ครั้งหนึ่ง ผมเคยทำโครงการเกี่ยวกับชุมชนรายได้น้อยหรือเรียกง่าย ๆ สลัมก็แล้วกัน พบผมว่ามีคนเก่ง คนฉลาดอยู่ในนั้นจำนวนมาก แต่ด้วยทรัพยากรมีจำกัด ทำให้เขาไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ ได้ ผมเคยมีโอกาสไปนั่งคุยกับผู้ชายคนหนึ่งเป็นผู้นำชุมชน มีแนวคิดทำให้ชุมชนตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากสลัมกลายเป็นบ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไปเรียกร้องกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ให้ทำโครงการบ้านมั่นคง เขามีความสามารถในการปลุกเร้าคนทั้งชุมชนขึ้นมาช่วยกัน ผมรู้สึกว่าเขาเก่งมาก เหมือนผมได้ไปนั่งเรียนหนังสือกับเขา พอคุยจบ เขาก็ลาผมแล้วบอกว่า เขาต้องไปทำงาน แล้วเขาก็หยิบเสื้อวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาใส่ ผมอึ้งเลยนะครับ แล้วผมรู้สึกเลยว่า ถ้าผมเห็นภาพเขาในบทบาทวินมอเตอร์ไซค์ก่อน ผมอาจจะไม่คุยกับเขา ทำให้ผมมองคนเปลี่ยนไป เริ่มเห็นคนมากกว่าสภาพแวดล้อม เรียกได้ว่าเป็นจุดพลิกความคิด ผมเชื่อว่า คนมีมิติที่น่าสนใจ สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของคน สองสิ่งนี้มีปฏิสัมพันธ์กัน”
เมื่อพูดถึงคน เราคิดว่าอาจารย์หนุ่มคนนี้น่าจะมีบุคคลต้นแบบเป็นสถาปนิกชื่อดังก้องโลกที่เป็นแรงบันดาลใจให้คิดขับเคลื่อนสังคม แต่คำตอบที่ได้กลับตาลปัตรอย่างสิ้นเชิง
“ถ้ามองในเชิง Universal Design ก็ต้องเป็น Ron Mace สถาปนิกชาวอเมริกัน คนที่เขาเริ่มต้นเรื่องนี้แต่จริง ๆ แล้วผมไม่ได้ตื่นเต้นกับเขาเท่าไหร่ ผมคิดว่าคนทุกคนมีความคิด ในหนึ่งคนถ้าเราคุยกับเขาดี ๆ เราจะเจอความคิดบางอย่างที่ดี ๆ อยู่ที่ว่าความคิดนั้นจะมีผลต่อสังคมต่อโลกอย่างไร ในหนึ่งชีวิตเรา เราเจอความคิดหลากหลาย คงไมได้มีแค่คนนี้คนเดียว ต่อไปผมอาจจะเจอคนใหม่ที่คิดดี ๆ ผมก็ตอบไม่ได้ว่าคือใครคนใดคนหนึ่ง”
“สมัยเรียนผมเคยคุยกับคุณป้าท่านหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ท่านเคยเป็นสถาปนิก อยู่มาวันหนึ่งท่านตกช้าง ทำให้ร่างกายตั้งแต่ช่วงประมาณหน้าอกลงไปไม่รู้สึกเลย นอนอยู่กับเตียงอย่างเดียว วันหนึ่งท่านชวนผมไปไถ่ชีวิตโคกระบือจากเจ้าของซึ่งเป็นคนพิการ ผมก็ถามว่าคนนี้เกี่ยวอะไรกับป้า ป้าตอบผมว่า ไม่รู้ ป้าแค่อยากทำอะไรให้คนอื่น ผมไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจเลย ป้าบอกว่า ถ้าเราช่วยเขา เขาจะได้มีเงินไปเลี้ยงตัวเอง ไปใช้ชีวิตต่อได้ ตรงนั้นเป็นการจุดประกายบางอย่างให้เราคิดเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมกับคนพิการมากขึ้น”
“อย่างล่าสุดมีคนหนึ่งในสลัม เขาสร้างบ้านด้วยถังปี๊บ เขาเป็นหมอสมุนไพรแล้วมีปี๊บเหลือใช้เยอะมาก ถามว่าแนวคิดเขาเป็น Green Design ไหม แน่นอนว่าใช่ เพราะเขาทำให้ไม่เกิดขยะ ระบบน้ำที่ใช้ในบ้านเขาก็คิดค้นเอง อาบน้ำเสร็จนำมาใส่ชักโครก เอามากรองลอกดึงรดน้ำต้นไม้ แต่เขาอยู่ในสลัม ถามว่าเป็นสถาปนิกใหญ่ไหม ก็ไม่ใช่ แต่แนวคิดเขาดีมาก ๆ”
การเข้ามาคลุกคลีกับคนและ Universal Design ไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อการขยายแนวคิดนี้ให้คนในสังคมได้รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ไม่ใช่เพียงทำให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อคนพิการในการใช้ชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่ในฐานะนักออกแบบ แต่ในฐานะคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง เขาก็ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เขากำลังทำอยู่เช่นเดียวกัน
“ผมได้พัฒนาความคิดตัวเอง เข้าใจคนในมิติที่สวยงามมากขึ้น รู้ว่าความรู้มันไม่มีวันหมด ทำอย่างไรให้ดึงความรู้มาต่อยอดเพื่อสังคมได้ แต่ก่อนผมมีเครื่องมือไม่กี่ชิ้น อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ตั้งแต่เราเข้าใจเรื่องคนมากขึ้น เรามีเครื่องมือมากขึ้น เข้าไปพูดคุยกับคน ผมบอกลูกศิษย์เสมอว่า ผมสอนคุณได้เรื่องเครื่องมือและวิธีการ แต่ความรู้อยู่ทุกที่ คุณต้องไปขุดคุ้ยเอาเอง และต้องเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม”
“อย่างการเสิร์ชหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ผมมองว่าข้อดีคือเป็นการพุ่งไปหาข้อมูลอย่างเร็ว ๆ แต่เป็นเพียงประตูด่านแรกให้ไปต่อ มีประตูไหนอีก ผมติดอาวุธให้เขาคิดเสมอว่าต้องตรวจสอบความรู้ทุกอย่าง ให้รู้จริง มันไม่ขาวกับดำ มันมักจะเทา ๆ มันไม่มีความรู้ที่ตายตัว มันเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ หลายคนเข้าใจว่า Universal Design ทำเพื่อคนพิการอย่างเดียว แต่จริง ๆ คือทำเพื่อคนทุกคน ต่อให้คุณร่างกายครบ แต่ไปอยู่สภาพแวดล้อมที่อาจจะทำให้คุณไปไหนไม่ได้ นั่นก็คือ Universal Design”
ดูเหมือนว่าขอบเขตและมิติของคนที่จะพูดคุยนั้นมีอีกมาก แต่แท้จริงแล้วสิ่งสุดท้ายที่ผู้ชายธรรมดา ๆ คนนี้ต้องการนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นแล้วในสังคมประเทศญี่ปุ่น ประเทศในแถวทวีปยุโรป เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่าอีกกี่ปี Universal Design จึงจะได้รับการเติมเต็มจากคนในสังคมไทย
“ทำอย่างไรให้แนวคิด Universal Design ขยายออกไปให้ได้กว้างมากที่สุด ผมมีเครื่องมือ หนึ่ง-การสอนหนังสือ สอง-การอบรมฝึกอาชีพคนพิการ ทั้งสองอย่างไม่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเลย แต่ถามว่าแล้วผมทำสิ่งเหล่านี้เพื่ออะไร ผมอยากให้คนพิการออกมาใช้ชีวิต ออกมาเรียน ออกมาซื้อของตามร้านสะดวกซื้อ และที่ผมมองมากกว่านั้นคือนักศึกษา อาจารย์ คนทั่วไปได้มองเห็นพวกเขา ทำให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในสังคม ผมคิดว่าการประชาสัมพันธ์เรื่อง Universal Design ที่ดีที่สุดคือคนพิการเอง การออกมาใช้ชีวิตให้คนทั่วไปได้เห็น เพื่อจะได้ไม่เกิดคำถามว่า ปรับสภาพแวดล้อมไปทำไม ปรับแล้วก็เปลืองเงินปรับแล้วไม่มีคนมาใช้ มันเป็นเรื่องทัศนคติ อยากให้วิธีคิดนี้หายไป ถ้าสังคมนี้ไปถึงตรงนั้นได้จะดีมาก คนทุกคนสามารถออกมาใช้ชีวิตได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากัน สังคมต้องช่วยกันขัดเกลาความคิดคน ทั้งทัศนคติของคนพิการเอง และทัศนคติของคนทั่วไปที่มองคนพิการ”
อาจารย์หนุ่มทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำที่หนักแน่นอันเป็นประโยชน์ ซึ่งคำพูดนี้จะเป็นประโยชน์มากขึ้น หากทุกคนในสังคมมองเห็นคุณค่าความงาม และช่วยกันคนละไม้ คนละมือ แนวคิด Universal Design ก็น่าจะลงหลักปักฐานในความคิดและจิตใจของคนไทยในอนาคตได้ไม่ยาก เราเชื่อเช่นนั้น
Quote
“ ‘คน’ สำคัญ เพราะคนเป็นคนกำหนดทุกอย่าง สถาปัตยกรรมเกิดจากคน สิ่งที่เราคุยกัน คนก็กำหนดขึ้นมา เราไม่สามารถเลี่ยงความเป็นคนไปได้ เราในฐานะนักออกแบบจะมีส่วนช่วยส่งเสริมคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร”
เรื่อง : ฝนธรรม ผลภาค