The Real Meaning of Smart City
ในคอลัมน์ Covert Story เราได้ให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับ เมืองอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ทซิตี้” ให้คุณ ๆ ได้อ่านกันไปแล้ว และเพิ่มความเข้มข้นในประเด็นการสร้างสมาร์ทซิตี้ที่สอดคล้องกับสังคมไทย เราจึงนัดพูดคุยกับ ดร.กตัญญู กลับสุวรรณ์ – นายกสมาคมสมาร์ทซิตี้ ไทยแลนด์ ซึ่งท่านเป็นนักวิชาการวิศวกรเทคโนโลยีด้าน Biomatrix ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของประเทศไทย มีผลงานวิจัยด้านการสร้างนวัตกรรมสมาร์ทซิตี้มาอย่างยาวนาน โดยเราได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจมาไว้แล้ว ณ ที่นี้
MKT Event : อยากให้คุณเล่าถึงการเกิดขึ้นของสมาคมสมาร์ทซิตี้
ดร.กตัญญู : เรื่องนี้ในประเทศเราพูดกันมาตั้ง 3 ปีกว่าแล้ว ผมก็เห็นว่ายังไม่มีอะไรจริงจังเสียที ผมและเพื่อน ๆ ที่ทำงานด้านเทคโนโลยีเลยตั้งใจมาทำงานด้านนี้ ตั้งเป็นรูปแบบสมาคมให้ชัดเจน โดยมีผมเป็นนายกสมาคม เรามีเทคโนโลยีหลักทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ มีการลงทุนร่วมกับเอกชนสร้างแลปวิจัยมาตรฐาน และมีทีมงานทำงานวิจัยร่วมกันมา 18 ปีกว่า ๆ ซึ่งทุกคนล้วนเป็นคีย์แมนในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและอินฟราสตรัคเจอร์ หลายคนเคยทำงานกับบริษัทต่างชาติในหลาย ๆ ที่ ทำให้เรามั่นใจว่าทุกอุปกรณ์เกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ที่ถูกสร้างขึ้น สามารถใช้งานได้ไม่มีแฮงค์เลย เราถึงกล้าพูดว่าเราพร้อมที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น 4.0 ได้จริง
MKT Event : แล้วความเป็นสมาร์ทซิตี้ที่ดีในความคิดคุณคืออะไร
ดร.กตัญญู : การเป็นสมาร์ทซิตี้ที่ดีไม่ใช่แค่มีเครื่องมือที่ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือความพร้อมของคนในท้องที่ การเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยี การเตรียมคนบริหารจัดการ การเตรียมงบประมาณ การออกแบบเมืองตามความต้องการของท้องที่ ท้ายที่สุดมีการตรวจประเมินผล และบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีครบก็จะทำให้เกิดเป็นเมืองอัจฉริยะที่ดีได้
MKT Event : ทำไมสมาร์ทซิตี้ต้องถูกออกแบบตามความต้องการของคนในท้องที่
ดร.กตัญญู : รูปแบบเมืองล้วนถูกออกแบบให้สอดคล้องกับชีวิตของคนที่อาศัยในนั้น เช่นเดียวกับสมาร์ทซิตี้ก็ต้องถูกออกแบบในแนวคิดนั้นด้วยเช่นกัน เพราะประชากรเมืองคือผู้ที่ต้องใช้และอยู่ร่วมกับสภาพเมืองนั้น การออกแบบเมืองอัจฉริยะจึงต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับคนในเมืองนั้นเป็นสำคัญ อย่างในประเทศไทย เรามีภูมิศาสตร์ และความต้องการในการใช้ชีวิตที่ต่างกันในแต่ละภาค คุณจึงไม่สามารถจะก็อปทะเลมาใส่ภูเขา หรือก็อปเชียงใหม่ไปที่ขอนแก่น แต่ละที่ต้องบริหารด้วยตัวมันเองได้ ดังนั้นคนที่เข้าใจจริง ๆ คือคนท้องที่ ต้องให้คนท้องที่พร้อมก่อนเพื่อเป็น Smart People แล้วเรื่องต่าง ๆ อย่าง Smart Place, Smart Process หรือ Smart City ก็จะตามมา
MKT Event : ตอนนี้ทางสมาคมได้มีการสร้างนวัตกรรมใดขึ้นมาบ้าง
ดร.กตัญญู : ตอนนี้เรามีการสร้างกล้องอัจฉริยะเพื่อใช้ตรวจจับภาพในระดับ HD จับภาพพื้นที่เชื่อมต่อกับซอฟท์แวร์ไว้คำนวณภาพเชิงลึก ระบบตรวจจับภาพด้วยไบโอแมททริกส์ไว้ใช้แยกแยะวิเคราะห์หน้าและลักษณะบุคคล รวมถึงทะเบียนรถและทะเบียนราษฎร์ เชื่อมโยงฐานข้อมูลไปยังหน่วยราชการและหน่วยงานด้านความปลอดภัยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงการสร้างและวางระบบการบริหารจัดการเมือง และบริหารจัดการใช้พลังงานของเมืองบนพื้นฐานการเชื่อมโยงฐานข้อมูล Big Data
MKT Event : เครื่องมือที่สร้างขึ้นนั้นนำมาใช้บริหารจัดการในด้านใด
ดร.กตัญญู : มันถูกแบ่งออกมาเป็นการบริหารจัดการ 6 ประเด็นหลัก เรื่อง Smart Government, Smart Energy, Smart Health Care, Smart Agriculture, Smart Community, และ Smart Education
MKT Event : โครงงานไหนที่ประสบความสำเร็จในเชิงรูปธรรม
ดร.กตัญญู : หลัก ๆ ก็เป็นเรื่องการดูแลความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Smart Community ส่วนที่เหลือก็มีเรื่อง Smart Government, Smart Healthcare และ Smart Agriculture
MKT Event : ยกตัวอย่างความสำเร็จของแต่ละโครงงานให้เราฟังได้ไหม
ดร.กตัญญู : เริ่มต้นที่เรื่อง Smart Community ในประเด็นนี้ผมเน้นเรื่องความปลอดภัยก่อน เพราะว่าบ้านเราความปลอดภัยมันยังอ่อน เราต้องเอาเครื่องมือตรวจวิเคราะห์พวกนี้มาช่วยกัน ซึ่งเรื่องความปลอดภัยที่ว่านี้รวมไปถึงเรื่องการบังคับการจราจร ใครฝ่าฝืนกฎการจราจร ขับรถเร็ว ผ่าไฟแดง เปลี่ยนเลน ระบบกล้องไบโอแมททริกส์ของเราสามารถจับได้หมด สามารถอ่านสี อ่านยี่ห้อ อ่านรุ่น อ่านได้แม้กระทั่งอันไหนเป็นทะเบียนปลอม อีกทั้งกล้องยังตรวจจับสถานที่ หรืออาคารได้ด้วย สามรถวัดพื้นที่ทั้งความสูงความกว้างได้ทุกแห่ง หรืออาคารไหนไฟไหม้จะจัดการอย่างไร อาคารไหนค้ายาเสพติด ก็จะมีการป๊อปอัพขึ้นมาเป็นสีแดง เชื่อมโยงข้อมูลด้วยระบบคลาวด์แจ้งให้เจ้าหน้าที่ได้รู้
นอกจากนี้ระบบ Smart Community ที่เราวางเอาไว้ยังช่วยอำนวยความปลอดภัยให้เจาะลึกไปยังคนได้อีกด้วย ในวันนี้ทุกคนมีมือถือ ผมเลยวางระบบให้มือถือทุกตัวสามารถเป็น CCTV ได้ โดยไม่ต้องไปติดตั้งเสา และสามารถกด SOS ได้ด้วย ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านจะขึ้นมาคู่กันกับบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต ดังนั้นถ้าคนต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทยให้เขาเอาพาสปอร์ตแลกกับซอฟท์แวร์ในมือถือ เมื่อเขาไปเกิดเหตุที่ไหน เพื่อนเขาก็สามารถช่วยถ่ายให้ส่งเข้ามาที่ 191 ได้เลย แล้วเวลาที่โทรมา 191 มันก็ขึ้นพาสปอร์ตคู่กับเบอร์โทร หรือถ้าเกิดน้ำจะท่วม น้ำมาจ่อถึงหน้าบ้าน เอาตรงนี้เป็นเซนเซอร์รัฐบาลก็รู้หมดแล้ว เพราะมันมี Contour มีเลเวลของแต่ละที่อยู่ เจ้าหน้าที่ก็สะดวกในการจัดการช่วยเหลือ
MKT Event : เรื่องต่อมาคือ Smart Health Care
ดร.กตัญญู : คือในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราจึงเตรียมการด้วยสร้างระบบ Smart Health Care เพื่อรองรับการสร้างคุณภาพชีวิตให้คนชรา รวมถึงคนในวันนี้ บนพื้นฐานการใช้กล้องเก็บข้อมูลส่งข้อมูลภาพถึงมือแพทย์วิเคราะห์รักษาโดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล แค่แลบลิ้นใส่กล้อง เปิดม่านตา ก็มีอุณหภูมิร่างกายบอกหมด นอกจากนี้ยังรวมถึงการสร้างเซนเซอร์ติดไว้กับผู้สูงอายุ เวลาที่เขาล้มลงไป มันจะบอกไปที่โรงพยาบาล และเชื่อมต่อเข้ากับฐานข้อมูลของสาธารณสุขและโรงพยาบาลทั้งหมด หรือสมมติว่าเกิดอุบัติเหตุรถชนกันแล้วคนเจ็บพูดไม่ได้ ก็แค่เอานิ้วมาใส่หรือเอาใบหน้ามาใส่ ระบบตรวจจับของเราจะบอกได้ทันทีว่าคนนี้แพ้ยาอะไร โรงพยาบาลประจำเขาอยู่ไหน เคยผ่าตัดที่ไหนมา มีโรคเก่า ๆ อะไรบ้าง เป็นต้น
MKT Event : Smart Government ล่ะ
ดร.กตัญญู : ในส่วนของ Smart Government นั้น เราสร้างช่องทางไหลเวียนข้อมูลทุกอย่างถึงกันหมด ยกตัวอย่างเช่นข้อมูลอาชญากรรมก็ไปถึงทุก สน. หรือข้อมูลทะเบียนราษฎร์สามารถเชื่อมโยงไปถึงทุกหน่วยงานราชการ แค่คุณเดินเข้าโรงพักถ้ากล้องเซนเซอร์ตรวจจับใบหน้าคุณได้ เจ้าหน้าที่ก็จะบอกได้ทันทีว่าสิ่งที่คุณเคยแจ้ง แล้วเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ดำเนินการไปถึงขั้นไหน โดยที่คุณไม่ต้องถามหรือไม่ต้องเสียเวลาค้นข้อมูล
MKT Event : ใช้ Big Data ในการจัดการ
ดร.กตัญญู : ใช่ครับคือระบบ Smart Government ที่เราคิดยังสามารถประยุกต์ใช้กับงานด้านธุรกิจได้ด้วย ยกตัวอย่างงานบริหารความพึงพอใจของลูกค้า เช่น งานประเภท CRM เราใส่ข้อมูลของลูกค้าไว้ สมมติมี VIP มา แล้วเราเคยขายสินค้าให้แล้ว พอมาอีกครั้งเราสามารถเช็คได้ว่ารถลูกค้าท่านนั้น ๆ กำลังมา เราสามารถเตรียมที่จอดรถไว้ให้พร้อม คุณคิดว่าได้ First Impression ไหม
MKT Event : ได้แน่นอน
ดร.กตัญญู : ใช่ไหมครับ ถ้าเป็นสน. คนนี้มาแจ้งความเรื่องอะไรบอกเลยลูกชายคุณหายใช่ไหม เดี๋ยวผมกำลังตามให้นะ ไม่ต้องรอเขาถามเลย มันจะเป็นอย่างนี้หมด ใช้ Automatic ช่วย มันลิงค์ข้อมูลถึงกันหมด ผมยกตัวอย่างถ้ารัฐบาลต้องการช่วยเหลือชาวนายากจน ก็ไม่ต้องไปสำรวจหรอกครับ เราก็ใช้ฐานข้อมูลเดิมที่แต่ก่อนเคยทำไว้มาใช้ในการลงทะเบียนชาวนา เอามาตรวจสอบกลับไปได้ว่าคุณทำนาได้กี่ไร่ ถ้าคุณไม่ได้ตามนี้จริงแสดงว่าคุณไม่ใช่ชาวนาจริง คุณจะมาเบิกเบี้ยเลี้ยงชาวนาไม่ได้ บัตรคนจนคุณก็ไม่ได้ เขามีข้อมูลจริงอยู่ไง แล้วก็เอา GPS มาผูก ดังนั้นบ้านคนนั้นอยู่ตรงไหน บ้านคนนี้อยู่ตรงไหน ก็ผูกข้อมูลนี้ คุณไม่ได้เป็นชาวนาจริง คุณห้ามมารับบัตรอะไรแบบนี้
MKT Event : สุดท้ายคือเรื่อง Smart Agriculture
ดร.กตัญญู : Smart Agriculture เรานำเทคโนโลยีนี้มาช่วยในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ตั้งแต่การใช้โดรนดูแลพืชติดตั้งระบบเชื่อมต่อกับกล้องและโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ผมไปเที่ยวหัวหิน ไปเที่ยวภูเก็ต ก็สามารถดูแลผลผลิตได้ หรืออยากฉีดสารอินทรีย์บำรุงดอกลำไยผมก็ Mark Location เดี๋ยวโดรนมันก็วิ่งออกไปฉีดเอง พอเสร็จมันก็ถ่ายรูปมาให้ตอนนี้โตเท่าไร ดอกเป็นอย่างไร มันจะซูมมาให้ เราก็จะเห็นว่ามันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราไปเที่ยวได้ทั่วโลก เราก็ยัง Monitor สวนเราได้ จะมีเซนเซอร์บอกเราหมดเลย หรือแม้กระทั่งน้ำตรงไหนที่ท่วมข้าวแล้ว มันก็จะบอกให้ แมลงตรงไหนมีหนอน หนอนประเภทนี้มีคุณ ประเภทนี้ไม่ดี ต้องใช้ยาอะไรกำจัด ก็จะบอกขึ้นมาเป็นตารางให้คนที่ดูแลสวนที่นั่นไปเติมให้โดรนมันวิ่งไปฉีดให้ คนก็ไม่ต้องไปเสียสุขภาพในการฉีด นอกเหนือจากเรื่องการดูผลผลิต ในส่วนของการเก็บเกี่ยว ระบบเซนเซอร์ที่ติดตั้งจะช่วยวางแผนการเก็บเกี่ยวว่าคุณจะขายข้าวได้เดือนไหน คุณจะให้เขามาขนได้เดือนไหน ข้าวโพดคุณจะเก็บได้เมื่อไหร่ ประเมินให้ด้วยว่าปีนี้จะได้กี่ตันเพราะฉะนั้นปีนี้คุณรู้แล้วว่ารายได้คุณจะได้เท่าไหร่หรือจะขาดทุนเท่าไหร่ นี่คือเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับเรื่องการเกษตรของบ้านเราในอนาคต
MKT Event : ถ้ามองกันในแง่ธุรกิจ เครื่องมือเหล่านี้นำไปใช้สร้างกำไรให้แก่สมาคมอย่างไร
ดร.กตัญญู : องค์กรเราไม่เน้นกำไร เราเน้นปวารณาตัวเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ วันใดวันหนึ่งถ้าเรามีงบ เราก็จะมารวมตัวกันสร้างเมืองขึ้นมาเมืองหนึ่งให้ดูว่าเมืองอัจฉริยะจริง ๆ เป็นอย่างไร แล้วให้คนมาดูตัวอย่างให้เห็นจริงว่ามันทำงานอย่างไร ส่วนเรื่องความร่วมมือที่ใครจะนำเอาเทคโนโลยีเราไปใช้ ก็เป็นส่วนที่ต้องมาคุยกัน แต่เรายินดีที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างสมาร์ทซิตี้ให้เกิดขึ้น
MKT Event : เมืองที่ว่านั้นคิดไว้ไหมว่าจะอยู่ที่ไหน
ดร.กตัญญู : ผมเองมีที่อยู่ที่พิษณุโลกแปลงหนึ่งก็มองไว้ว่าอยากจะไปทำที่นั่น แต่ตอนนี้ก็ยังมองไว้หลาย ๆ ที่ หาให้เหมาะสมที่สุด
MKT Event : นวัตกรรมที่คุณได้เล่าให้เราฟัง นอกจากเพื่อใช้สร้างสมาร์ทซิตี้แล้วยังมีจุดประสงค์อื่นอีกไหม
ดร.กตัญญู : สิ่งที่ผมคิดขึ้นมาก็เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในสังคม คือเครื่องมือทุกอย่างที่ผมเล่าให้ฟัง ส่วนใหญ่มันสามารถทำงานแทนคนในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงช่วยลดขั้นตอนในการทำงานบางอย่างให้กับคนได้ ดังนั้นเมื่อมันช่วยและลดขั้นตอนได้ ก็จะทำให้คุณว่างเพื่อนำเอาเวลาที่เหลือไปสร้างคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการให้เวลากับครอบครัวหรือเติมเต็มสิ่งดี ๆ ให้กับคนที่คุณรัก ซึ่งผมมองว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญมากในชีวิตมนุษย์ เพราะเมื่อชีวิตถูกยกระดับให้ดีขึ้น สังคมรอบข้างเราก็จะดีตามไปด้วย
MKT Event : ในความคิดคุณ เราต้องปรับตัวเรื่องใดบ้างเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของสมาร์ทซิตี้
ดร.กตัญญู : เรื่องที่ต้องปรับตัวอย่างมากในความคิดผมคือ คุณต้องยอมรับเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ลดลง แต่ถ้าคุณเป็นคนดีจะไปกลัวอะไรจริงไหม ซึ่งความเป็นส่วนตัวที่ลดลงตรงนี้ผมเชื่อว่าจะไปเพิ่มระบบคัดกรองความปลอดภัยที่รัดกุมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการบริหารความปลอดภัยของเรา ก็คือหากเกิดเหตุร้ายแล้วต้องจับโจรให้ได้ภายใน 15 นาที คุณเชื่อไหมถ้าจับแบบนี้ได้ซัก 10-20 เคส รับรองโจรหายหมด ดังนั้นหากคุณอยากได้ความปลอดภัยในชีวิตอย่างที่ผมบอกมันก็มีสิ่งต้องแลกกัน
MKT Event : นอกจากการปรับตัวแล้ว คุณมีคำแนะนำอะไรบ้างไหมในการใช้สมาร์ทซิตี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ดร.กตัญญู : การจะใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุดก็คือคุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน ไม่ใช่ว่ามีเครื่องมือที่ดีที่สุดแต่ไม่รู้วิธีใช้ เพราะหากคุณไม่รู้วิธีการใช้มันก็ไม่เกิดประโยชน์
MKT Event : คุณกำลังจะบอกว่าเทคโนโลยีแพงไม่มีประโยชน์อะไรเลย
ดร.กตัญญู : มันก็ไม่เชิง เครื่องมือเครื่องไม้ที่ดีอยู่กับคนที่รู้จักใช้มันก็ยิ่งดี แต่นวัตกรรมล้ำสมัยส่วนใหญ่แลกมาด้วยราคาที่แพงมาก ดังนั้นมันจึงถูกจำกัดอยู่แค่กับคนบางกลุ่ม แต่กับเทคโนโลยีระดับแมสส์เป็นสิ่งที่ต้องกระตุ้นให้คนเรียนรู้ที่จะใช้มันให้เป็นจนเกิดประโยชน์ให้ได้ เหมือนกับชาวนาตอนนี้บางหมู่บ้านเขาก็เอารีโมทคอนโทรลของรถบังคับไปบังคับรถไถ เขานั่งอยู่บนเถียงนา เขาไม่ต้องไปยืนตากแดดไถนา นี่คือพื้นฐานของเขาที่ทำ Innovation ขึ้นมา
MKT Event : ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการส่งเสริมให้คนใช้เทคโนโลยีเหล่านี้
ดร.กตัญญู : ใช่ ภาครัฐต้องสนับคนพื้นถิ่น (Local People) ให้เขามีความรู้ในการใช้เครื่องมือใช้ข้อมูล เพราะเขาจะรู้วิธีการบริหารจัดการได้ดีที่สุด เอามาปรับให้มันเกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีต้องประเมินผล มีผู้ใช้และเกิดประโยชน์จริง ๆ สุดท้ายก็เป็นอย่างที่ผมบอกก็คือเจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน แล้วก็สังคมได้รับประโยชน์โดยตรง เอาง่าย ๆ เลยคนที่อยู่ในบ้านมีความสุข บ้านปลอดภัย หมู่บ้านเจริญก้าวหน้า ตำบลนั้นมีชื่อเสียง อำเภอนั้นดีมีเอกลักษณ์ประจำอำเภอ จังหวัดนั้นดังเรื่องอะไร ทุกจังหวัดประเทศไทยดัง ทั้งโลกก็รู้จัก เหล่านี้ล้วนเป็นผลดีกับภาพรวมของประเทศทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้คิดตระหนักกัน