Thailand Inventor’s Day 2017
นวัตกรรมขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้เจริญรุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
นวัตกรรมรังสรรค์สิ่งใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอรรถประโยชน์
เพื่อยกระดับคุณภาพและทำให้ชีวิตของมนุษย์ .. ง่ายขึ้น
และนวัตกรรมไม่อาจจะเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากความคิด
และการลงมือทำของกลุ่มคนที่เราเรียกเขาว่า ‘นักประดิษฐ์’
บนความคิดที่เกริ่นไปน่าจะพอทำให้คุณรู้คุณค่าความหมายของคำว่า ‘นักประดิษฐ์’ ได้ภายในไม่กี่บรรทัด
แต่ถ้าคุณอยากรู้ความหมายเชิงลึกและอยากนึกภาพออกว่านักประดิษฐ์ทั้งหลายของประเทศไทยเขามีกระบวนการทางความคิด และการลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ กันอย่างไร ก็ต้องลองมาสัมผัสอย่างใกล้ชิดในงาน ‘วันนักประดิษฐ์ ’ เป็นมหกรรมใหญ่ของประเทศไทยที่รวบรวมผลวิจัย โครงงาน และสิ่งประดิษฐ์แบบใหม่ของนวัตกรไทยทุกรุ่นไม่ว่าจะเป็นระดับมืออาชีพ กลุ่มนักพัฒนาในระดับอุดมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา จัดขึ้นทุกปีโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
สำหรับในปี 2560 นี้ งาน “วันนักประดิษฐ์” จัดกันเต็ม ๆ 5 วัน ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 19 สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้ธีมงาน “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม : พลังสร้างความมั่นคง สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน” สื่อถึงความสำคัญของสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่อการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและการสร้างฐานที่แข็งแกร่งในการนำพาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ความน่าสนใจที่ว่า นับเป็นพลังดึงดูดสำคัญ ทำให้ผมพาตัวเองมาที่ Event Hall 102-104 ในศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อมาสัมผัสกับพลังและความมุ่งมั่นของนักประดิษฐ์ไทยด้วยตาตัวเอง และก็ต้องบอกว่าไม่ผิดหวังจริง ๆ ที่มางานนี้
ที่ไม่ผิดหวังก็เพราะบนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร อันกว้างขวางของห้องแสดงงานนี้ มีสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากโครงงาน ความคิดของนักประดิษฐ์มากมายถูกอัดแน่นอยู่ในนั้น บวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจในการให้ข้อมูลของผู้สร้างทั้งในฝั่งของมืออาชีพ นักศึกษา และน้อง ๆ นักเรียน ก็ยิ่งทำให้ผู้เข้าร่วมจำนวนมากอินไปกับโครงงานได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมชมหลากนิทรรศการที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความคิดเชิงนวัตกรรมอันหลากหลาย อาทิ
- นิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”
- นิทรรศการรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ
- นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลโครงการนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2560
- นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ
- นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์โครงการความร่วมมือเพิ่มมูลค่าสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์
- นิทรรศการบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยและบัญชีนวัตกกรมไทย
- นิทรรศการอากาศยานไร้คนขับและหุ่นยนต์สร้างบ้าน
- นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
นอกเหนือจากนิทรรศการและบูธแสดงงานแล้ว ยังเพิ่มความเข้มข้นด้วยงานเสวนาที่เน้นเรื่องแนวคิด การสร้างนวัตกรรม และการเวิร์คชอปน่าสนุก เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้เข้าร่วมงานได้นำไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์สิ่งละอันพันละน้อยอย่างง่ายดาย
และอีกหนึ่งส่วนไฮไลต์อันเป็นคุณค่าที่เราควรรับรู้ก็คือ ‘มหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ’ หรือที่เรียกว่า IPITEx 2017 พื้นที่รวบรวมงานวิจัย และสิ่งประดิษฐ์จาก 20 ประเทศชั้นนำทางการสร้างนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยเองมีสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลในต่างแดนกว่า 100 ผลงาน ซึ่งผมค่อนข้างใช้เวลากับโซนนี้นาน เพราะต้องการเรียนรู้วิธีคิด และพลวัตรในการผลักดันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศชั้นนำเหล่านั้นให้ถ่องแท้
2-3 ชั่วโมงของผมผ่านไปอย่างรวดเร็ว และเต็มอิ่มด้วยความเพลิดเพลินจากการได้ลองทดสอบสิ่งประดิษฐ์หลายชิ้น ต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่า บางชิ้นบางงานที่ได้สัมผัส ทำเอาผมอึ้ง ทึ่งในความคิดว่า “เฮ้ย! มันเจ๋ง เขาคิดได้ไงอ่ะ” รวมถึงบางชิ้นก็มีคุณค่า คู่ควรแก่การนำไปต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะผลงานของนักเรียนนักศึกษาหลายชิ้นที่ล้วนแต่นำไปใช้ได้จริง การใช้งานที่แฝงด้วยลูกเล่นแบบขำ ๆ น่ารัก น่าใช้ เหล่านี้น่าจะตอบโจทย์กับอัตลักษณ์ของความเป็นไทยในแง่ของความเป็นคนอารมณ์ดีแบบมีสาระได้เต็ม ๆ
นอกจากการชมงาน ผมยังมีโอกาสได้ซักถามผู้เข้าชมงานบางคน อาทิ ผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่เข้ามาเยี่ยมชมงานนี้ ซึ่งผู้ประกอบการท่านนั้นได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับงานนี้ว่าตัวเขาเองรู้สึกทึ่งไปกับสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ภายในงานไม่น้อย เพราะไม่คิดว่าคนไทยจะสามารถทำอะไรแบบนี้ได้
ผมถามเขาต่อว่ามีสิ่งประดิษฐ์ไหนที่เขาน่าจะนำไปใช่ต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมบ้าง
“โดรนหว่านเมล็ดพันธุ์ครับ” เขาตอบทันที โดยให้เหตุผลว่า มันคือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้ผลผลิตมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย แรงงานคน และสอดคล้องกับยุคสมัยของโลกที่ให้ความสำคัญกับอากาศยานไร้คนขับในขณะนี้
นอกจากผู้ประกอบการคนดังกล่าว ผมยังได้คุยกับน้อง ๆ นักศึกษาที่มาเข้าร่วมชมงานหลายคน ซึ่งทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าทึ่ง และภูมิใจในฝีมือของนักประดิษฐ์ไทย ซึ่งงานนี้ช่วยเปิดหู เปิดตา เปิดความคิด และมุมมองของพวกเขาได้มากทีเดียว ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากลุกขึ้นสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์ของตัวเองบ้าง เผื่อว่าจะนำส่งประกวดในครั้งต่อไป
นั่นคือพลังเชิงบวกที่ผมรับรู้ได้จากผู้เข้าร่วมงาน บวกกับพลังความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานของนักประดิษฐ์ทุกคน ทำให้ผมมองเห็นถึงอนาคตในการสร้างนวัตกรรมของประเทศไทย ว่าเรายังมีหวังที่จะก้าวขึ้นไปแข่งขันในระดับสูงกับประเทศที่มีความเข้มข้นเชิงการสร้างนวัตกรรมได้
วลีที่ว่า “หากเราตั้งใจจริง คนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก” ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดลอยๆ ที่ฟังดูเก๋ๆ หรือแค่ไว้ปลอบประโลมใจ แต่มันเกิดขึ้นได้จริงจากนามธรรมสู่รูปธรรม นี่คือสิ่งที่งานวันนักประดิษฐ์ได้มอบไว้ให้