Top

Smart Cities for Smart Citizens

Smart Cities for Smart Citizens

ด้วยวิทยาการความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปสามารถปรับเติมเสริมแต่งรูปแบบการใช้ชีวิตให้เปลี่ยนแปลงไปได้ทุกวัน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เพียงแต่มีผลเฉพาะกับเรื่องของชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงไปยังการเปลี่ยนแปลงเมืองซึ่งเป็นสถานที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่อีกด้วย

 

ประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญกับการสร้างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ ในทุกภาคให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นชินว่า “สมาร์ทซิตี้” (Smart City) ซึ่งคำว่าสมาร์ทซิตี้นี้หมายถึงอะไร  MKT Event ฉบับนี้จะนำเสนอความหมายของรูปแบบเมืองดังกล่าว และตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างสมาร์ทซิตี้จากทั่วโลก รวมไปถึงโมเดลต้นแบบที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่เมืองอัจฉริยะในประเทศไทย

 

Smart City คืออะไร ?

“Smart City คือพื้นที่เมืองที่นำข้อมูลอิเลกทรอนิกส์ โดยเฉพาะข้อมูลอิเลกทรอนิกส์สารสนเทศ หรือที่เราเรียกว่า ‘ICT (Information and Communication Technology)’ รูปแบบต่าง ๆ มาจัดเก็บ และนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำผลที่ได้มาใช้ในการจัดสรรทรัพยากรในการดำรงชีวิตของคนเมืองให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  ซึ่งข้อมูลอิเลกทรอนิกส์เหล่านั้นนำมาจากข้อมูลที่เก็บจากตัวบุคคลเอง อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะในยุค IoT (Internet of Thing) แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ มาประมวลลงในระบบฐานข้อมูล Big Data จนได้ออกมากระบวนการเชิงปฏิบัติงานในการควบคุมการจัดการระบบจราจร ระบบขนส่งมวลชน การใช้ทรัพยากรไฟฟ้า การใช้ทรัพยากรน้ำ การจัดการขยะ การจัดการเมือง และอีกมากมาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองด้วยเทคโนโลยี อันส่งผลต่อเนื่องไปยังการเจริญเติบโตทางธุรกิจรูปแบบใหม่”

 

 

 

ทำไม Smart City จึงมีความสำคัญกับคนในศตวรรษที่ 21 ?

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนเห็นความสำคัญของการสร้าง Smart City ขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินชีวิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกทั้งในแง่อุปทานและอุปสงค์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจในยุคสมัยใหม่ที่นำพลังของเทคโนโลยีออนไลน์มาสร้างแต้มต่อให้กับแบรนด์ การเคลื่อนย้ายเข้าสู่ออนไลน์ของธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจด้านบันเทิงทุกรูปแบบ การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนย้ายของสังคมโลกเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุที่เราเรียกว่า ‘Aging Society เป็นต้น

เหตุปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้เทรนด์การสร้างเมืองอัจฉริยะเติบโตขึ้นแทบทุกพื้นที่ในโลก แต่ที่เห็นเด่นชัดว่ามีการตื่นตัวกับแนวโน้มนี้มากที่สุด เห็นจะเป็นสหภาพยุโรปที่ได้ทุ่มเทอย่างมากในการทำแผนยุทธศาสตร์ทางสังคมในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่จุลภาคเรื่อยไปจนถึงมหภาค เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะที่สอดคล้องกับทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ภายใต้ ‘วาระดิจิทัลแห่งสหภาพยุโรป’ ซึ่งเริ่มก่อร่างสร้างตัวอย่างแข็งแกร่งมาตั้งแต่ปี 2010 จนถึงวันนี้โครงการนี้ได้ผลักดันให้หลายเมืองเอกแห่งยุโรปกลายเป็นมหานครอัจฉริยะต้นแบบที่ใคร ๆ ต่างก็เอาเป็นแบบอย่าง

  

สมาร์ทซิตี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก พวกเขาทำอะไรกันบ้าง ? 

 

 

Amsterdam:

แนวความคิดในการสร้างสมาร์ทซิตี้ให้เกิดขึ้นกับเมืองสำคัญของเนเธอร์แลนด์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2009 รวมกว่า 170 โครงการ พัฒนาโดยชาวท้องถิ่น รัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชน โครงการเหล่านี้ทำงานบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกันผ่านอุปกรณ์ไร้สาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตัดสินใจทำกิจกรรมต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการลดปัญหาการจราจร ประหยัดพลังงาน และเพิ่มความปลอดภัยให้ชีวิตคน ตัวอย่างของแนวความคิดดังกล่าวคือการสร้างแอปพลิเคชั่นชื่อว่า ‘Mobypark’ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจ่ายค่าเช่าที่จอดรถให้แก่ผู้เช่า ซึ่งแอปพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถส่งข้อมูลโดยตรงไปยังสภาเมืองเพื่อพิจารณาความต้องการที่จอดรถและการจราจรในอัมสเตอร์ดัม นอกจากการจัดการจราจรแล้ว ข้อมูลที่ถูกเชื่อมต่อออนไลน์ทางเทศบาลยังได้นำไปใช้สร้างระบบไฟถนนอัจฉริยะที่สามารถควบคุมการใช้พลังงานได้อย่างยืดหยุ่น ลดความสิ้นเปลืองไฟฟ้าในระบบจราจรได้อย่างมาก รวมถึงการนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลเพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ตรงเวลา และการให้ข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์ที่ดีที่สุดเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่คนเมือง

 

 

 

Barcelona:

เมืองบาร์เซโลนาได้สร้างโครงการเมืองอัจฉริยะผ่านรูปแบบการสร้างแอปพลิเคชั่นมากมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชื่อ ‘CityOS’ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีเซนเซอร์ระบบชลประทานใน Parc del Center de Poblenou ที่สามารถส่งข้อมูลระดับน้ำแบบเรียลไทม์ให้กับพนักงานดูแลสวนใช้คำนวณเพื่อการดูแลพันธุ์พืชต่าง ๆ ภายในสวน  การออกแบบเครือข่ายรถบัสสาธารณะโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับกระแสการจราจรที่พบมากที่สุดในเมืองทั้งแนวตั้งและแนวนอน มารวมเข้ากับเทคโนโลยีออนไลน์เพื่อสร้างการจัดการจราจรที่ประหยัดเวลามากที่สุด นอกจากนี้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินในเมือง เส้นทางโดยประมาณของยานพาหนะฉุกเฉินจะเข้าสู่ระบบไฟจราจร ซึ่งจะทำให้ไฟทั้งหมดเป็นสีเขียวเมื่อรถเข้าใกล้ผ่าน GPS และซอฟต์แวร์การจัดการการจราจร ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที

 

 

 

 

Columbus, Ohio

ในช่วงซัมเมอร์ของปีนี้ ทางสภาเมือง Columbus รัฐโอไฮโอ ได้เริ่มต้นโครงการสมาร์ทซิตี้ของตนเองขึ้นด้วยการจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัท American Electric Power แห่งรัฐโอไฮโอ สร้างกลุ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าจำนวนมาก รวมถึงเปลี่ยนรถในระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดให้ใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงสร้างแรงจูงใจอันเป็นสิทธิพิเศษรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่คนที่เข้าร่วมโครงการขนส่ง บนแนวคิดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวเชิงแบ่งปัน (Share Ride)

 

 

 

Dublin, Ireland

ดับบลินเมืองหลวงของประเทศไอร์แลนด์ สร้างโครงการสมาร์ทซิตี้ภายใต้ชื่อ ‘Smart Dublin’ โดยทางเมืองได้ร่วมมือกับ Intel ผู้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์รายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกสร้างเซนเซอร์ตรวจจับต้นทุนต่ำ เพื่อนำไปติดตั้งทั่วทุกบริเวณในเมืองดับบลิน ซึ่งเซนเซอร์ที่ว่านี้จะทำการตรวจจับสภาพอากาศ ระดับน้ำ และปริมาณน้ำฝน เพื่อนำข้อมูลที่ได้นั้นมาใช้ในการป้องกันน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายให้กับเมืองได้ตั้งแต่ 2 ล้านยูโร ไปจนถึง 100 ล้านยูโร ขึ้นยู่กับปริมาณฝนและปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการแจ้งเตือนและการป้องกันจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยป้องกันความเสียหายได้อย่างยั่งยืน ทำให้คนในเมือง รวมถึงนักท่องเที่ยวสามารถรู้ล่วงหน้าถึงการเตรียมตัว และการใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างสะดวกอีกด้วย

 

 

 

Tokyo

แนวคิดการสร้างสมาร์ทซิตี้ของเมืองโตเกียวถูกคิดริเริ่มโดยแบรนด์อิเลกทรอนิกส์ของโลกอย่าง Mitsubishi, Panasonic และ Sharp ที่ได้จับมือร่วมกันเปลี่ยนโตเกียวให้เป็นเมืองอัจฉริยะแบบสีเขียว โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2006 ด้วยการนำสายไฟและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานลงใต้ดิน และแทนที่ด้วยการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น จนในปัจจุบันทั่วบริเวณพระราชวังอิมพีเรียลถูกขนานนามให้เป็น ‘เกาะสีเขียว’ นอกจากการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ไกลออกไปนอกเมืองโตเกียว Panasonic ยังได้นำแนวคิดนี้ไปสร้าง Eco Village ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ปราศจากการปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ ทั้งยังติดตั้งเทคโนโลยีอัจฉริยะไปทั่วบริเวณหมู่บ้านเพื่อตรวจจับสภาพอากาศ ก่อนนำมาประมวลเผยแพร่ให้คนในหมู่บ้านได้รู้ถึงสภาพอากาศที่เหมาะแบบเรียลไทม์

 

 

 

Copenhagen

ด้วยวิสัยทัศน์ในการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศให้เหลือศูนย์ เป็นจุดเปลี่ยนให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงแห่งประเทศเดนมาร์กถูกคิดค้นขึ้นจากแนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เมืองยังมีเป้าหมายในการสร้างความเป็นอยู่อย่างเป็นสุขแบบยั่งยืน จึงมีการนำเทคโนโลยีรูปแบบนี้มาใช้กับระบบสาธารณูปโภคตต่าง ๆ เช่น ระบบอัจฉริยะในการควบคุมไฟบนท้องถนน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในที่สาธารณะ การสร้างแอปพลิเคชั่นช่วยหาที่จอดรถและการจัดการจราจร การสร้างแอปพลิเคชั่นในการควบคุมระบบเปิดปิดไฟภายในบ้าน รวมถึงการสร้างเครือข่ายระบบเช่าจักรยานทั่วเมืองด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยควบคุมการยืมและคืนอย่างชาญฉลาด

 

 

 

New York

วิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนเมือง Big Apple แห่งนี้ให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ นั่นคือการที่สภาเมืองได้สร้างความร่วมมือกับแบรนด์ Cisco และ City 24/7  โดยการเปลี่ยนตู้โทรศัพท์สาธารณะเก่าไม่ใช้แล้ว ให้กลายเป็นที่ติดตั้งจออัจฉริยะ เพื่อรายงานข่าว เหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานที่จะทำให้ชาวเมืองสามารถเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด โดยใช้การส่งผ่านข้อมูลไร้สายแบบ NFC และโครงข่าย Wi-Fi

 

 

 

Xinjiang

ปัจจัยหลักที่ทำให้เมืองแห่งนี้มีความอัจฉริยะ นั่นคือการใช้ระบบไอทีมาเชื่อมโยงกับชีวิตคน ทั้งการติดตั้งจออิเลกทรอนิกส์ ที่จะแสดงให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับการมาของรถประจำทาง การพัฒนาแอปพลิเคชั่นเชื่อมโยงกับระบบของรถประจำทาง สามารถตรวจสอบเวลาที่แน่นอนที่รถจะมาถึง มีกล้องติดตั้งอยู่ทั่วเมืองและมีเว็บไซต์ที่จะแสดงการจราจรที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้เห็นการจราจรแบบ real time และชาวเมืองสามารถหลีกเลี่ยงการจราจรที่หนาแน่นได้ ในส่วนของความปลอดภัยบ้านแต่ละหลังจะมีการติดตั้งปุ่ม Panic Button สำหรับไว้ใช้แจ้งเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในบ้านให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที

 

 

 

 

จากที่เราได้แนะนำตัวตนของสมาร์ทซิตี้ทั่วโลก ให้คุณเห็นว่าเมืองอัจฉริยะเหล่านั้นเขาได้ริเริ่มทำอะไรกันไปแล้ว ทีนี้ลองกลับมามองดูที่ประเทศไทยบ้าง การเกิดขึ้นของสมาร์ทซิตี้ในบ้านเราก็กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นอย่างแข็งแรงเช่นกัน รัฐบาลได้นำประเด็นนี้เข้าไปบรรจุอยู่ในวาระแห่งชาติในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยี

ลองมาดูโมเดลต้นแบบของสมาร์ทซิตี้แบบไทยที่คิดสร้างขึ้นจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวน 7 รูปแบบที่ได้รับการคัดเลือกจาก “โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ” (Smart Cities-Clean Energy) โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ร่วมกับสถาบันอาคารเขียวไทยได้จัดการประกวดขึ้นมา มีตัวอย่างให้เห็นดังนี้

 

 

  1. นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

การสร้างเมืองอัจฉริยะภายใต้แนวคิดของ ‘สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)’ เริ่มต้นขึ้นจากแนวคิดการพัฒนาแบบรอบด้านทั้งเรื่องของอาคาร พลังงาน การเคลื่อนไหว เพื่อสะท้อนภาพความเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะสีเขียว ด้วยการติดตั้งโซลาร์รูฟท๊อปบนหลังคาอาคาร โดยอาคารสูงที่สุด 2 อาคารจะถูกปรับปรุงตามมาตรฐานอาคารเขียวของ TREES ในระดับ Platinum ขณะที่อีก 8 อาคารรวมอาคารหอประชุมจะเป็น Net Zero Energy Building

 

พร้อมทั้งมีระบบสื่อสารระยะไกลพลังงานต่ำ หรือ LoRa-Wan เชื่อมต่ออุปกรณ์อัจฉริยะเข้าสู่ Data Analytic Center เพื่อประมวลผลข้อมูล ให้การดำเนินงานทุกอย่างในเมืองผ่านอินเทอร์เน็ต  รวมถึงการสร้างภาพของ Smart Community ที่สมบูรณ์แบบด้วยการสร้าง Wrist Band ให้ชาวนิด้าทุกคนใส่ ทำให้ทุกคนสามารถตรวจสอบตารางเรียนตารางสอน หรือแม้แต่สถานะสุขภาพ นอกจากนี้ยังมี Smart Board ที่จะติดตั้งบริเวณทางเชื่อม โถงลิฟต์ และจุดสําคัญอื่น ๆ ซึ่งจะแสดงข้อมูลงานวิชาการ รวมถึงผลการสํารวจที่สําคัญของนิด้าโพลด้วย

 

 

  1. มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด

การสร้างเมืองอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ภายใต้แนวคิดการรักษาสภาพแวดล้อมสีเขียวเดิม พร้อมพัฒนาพื้นที่สีเขียวขึ้นมาใหม่ ด้วยนำเทคโนโลยี Smart Code มาใช้บันทึกข้อมูลต้นไม้ภายในพื้นที่ทุกต้น เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจวัดพื้นที่สีเขียว หาวิธีการรักษา และหาวิธีการเพิ่มพื้นที่ดังกล่าว ในส่วนพื้นที่สีเขียวที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ จะออกแบบให้มีระบบสปริงเกอร์ซิสเต็มที่ใช้ Smart Timer ในการดูแลพื้นที่ ขณะเดียวกันจะมีแอ่งน้ำ 5 สายหลักที่เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติที่พยายามจะคงสภาพให้เป็น Green Belt ด้วยการใช้ทางเท้าและทางจักรยานที่สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่สีเขียวได้

 

ในส่วนของการจัดการขยะ ทางมหาวิทยาลัยจะใช้ระบบเซนเซอร์ที่เรียกว่า Smart Bin ในการแยกขยะ เมื่อขยะเต็มจะส่งสัญญาณไปเตือนที่ระบบควบคุม จากนั้นจะส่งรถไปเก็บ เพื่อนำขยะมาแปลงเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ถ่าน และปุ๋ย นอกจากนี้ทุกอาคารยังมีการติดตั้ง Solar Roof Top รวมถึงมีการเปลี่ยนหลอดไฟที่ถูกควบคุมด้วยเครื่องตรวจวัด Meter on Demand ที่สามารถแสดงข้อมูลว่ามีการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนใช้พลังงานเท่าไหร่ ก็จะผลิตเท่านั้น รวมถึงการสร้าง Smart Community ด้วยการพัฒนาโรงอาหารให้ใช้ระบบ Smart e-Payment และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย Smart Classroom โดยจะติดตั้ง Wi-Fi จำนวน 6,300 จุด ทั่วบริเวณมหาวิทยาลัย เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลการเรียนที่เป็นประโยชน์

 

 

  1. เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ

คอนเซปท์เมืองอัจฉริยะของจุฬาฯ สร้างขึ้นจากคำว่า ‘Job & Housing Balance’ คือพื้นที่ของพาณิชยกรรมที่มีพื้นที่อาศัยอยู่ด้วย โดยส่งเสริมให้ใช้การเดินทางในพื้นที่แบบที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนมลพิษ พร้อมพัฒนาพื้นที่ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ทำเป็นต้นแบบไปแล้วคือ ‘อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ’  ขณะที่ในด้านของการผลิตพลังงานนั้นจะใช้แนวคิดแบบ Smart Energy มาขับเคลื่อนการบริหารพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าจาก Solar Roof Top ร่วมกับการนำชีวมวลมาเผาอย่างไม่มีมลพิษ โดยคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะสามารถลดพลังงานจนเป็น Zero Energy Emission ได้

 

 

  1. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นั้นตั้งเป้าว่าภายในปี 2577 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปีของมหาวิทยาลัย ต้องพัฒนาตนเองให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยและเมืองอัจฉริยะให้ได้ โดยตั้งเป้าเป็น Smart Energy University ให้ได้ภายใน 3 ปีนับต่อจากนี้ ด้วยแนวทางลดการบริโภคพลังงานไฟฟ้าให้ได้ 50% โดย 30% ที่ลดทอนมาจากการใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และไบโอแก๊ส ส่วนอีก 20% จะมาจากการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานทั้งหมด ทั้งยังมีแผนสร้างระบบขนส่งภายในมหาวิยาลัยด้วยแนวคิดการปล่อยคาร์บอนต่ำ มีการพัฒนาทางจักรยานความยาว 15 กิโลเมตร มีบริการ Bike Sharing จำนวน 10 สถานี โดยนักศึกษาสามารถใช้บัตรนักศึกษายืมและคืนจักรยานได้ทุกที่ทุกเวลาโดยผ่านสมาร์ทโฟนอีกด้วย ขณะที่รถยนต์ของมหาวิทยาลัยทุกคัน.มีแผนให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยตั้งเป้าจะเปลี่ยนรถชัทเทิลบัสทั้งหมดให้เป็นรถโซลาร์บัสในอีก 3 ปีข้างหน้า

 

 

  1. Whizdom101

โครงการมิกซ์ยูส เนื้อที่ 43 ไร่ บนถนนสุขุมวิทมีเป้าหมายใส่ใจสิ่งแวดล้อม เริ่มจากการพัฒนาให้มีพื้นที่สีเขียวจำนวน 14 ไร่ หรือคิดเป็น 32% ของพื้นที่โครงการในรูปแบบ Multi-Level Garden Park นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สาธารณะให้บุคคลภายนอกและชุมชนโดยรอบสามารถเข้ามาพักผ่อนหรือทำกิจกรรมทางสังคมได้ เช่น E- Library ห้องสมุดสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงการมีลู่วิ่งและเลนจักรยานลอยฟ้า ความยาว 1.3 กิโลเมตร บนอาคาร

 

ในส่วนของการใช้พลังงาน วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน ออกแบบทุกอาคารบนแนวคิดการประหยัดพลังงานทั้งด้าน Passive และ Active ทุกอาคารในโครงการจะผ่านหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ TREEs ระดับโกลด์ของสถาบันอาคารเขียวไทย สูงสุด มีการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกันทั้งประปา ไฟฟ้า คมนาคมขนส่ง บริการสาธารณะของเมือง โดยจะมี Smart Application ที่จะบอกได้ว่ามีการใช้พลังงานไปเท่าไหร่ด้วย

 

 

  1. ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง

ด้วยวิสัยทัศน์ของเทศบาลนครขอนแก่นที่ต้องการพัฒนาเมืองในรูปแบบ Smart City ทางเทศบาลนครขอนแก่นจึงร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองด้วยการใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นตัวขับเคลื่อน จึงมุ่งไปที่การก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะได้แก่ รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) สมาร์ทบัส และทางจักรยาน ภายใต้แนวคิดนี้ทำให้การพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองใหม่ ที่เกิดจากระบบขนส่งมวลชนควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นเมืองอนุรักษ์พลังงาน และเป็นครีเอทีฟสเปซ ขณะที่เมืองเก่าซึ่งคือพื้นที่ใจกลางเมือง แนวคิดการพัฒนาเมืองคือทำอย่างไรให้พื้นที่มีชีวิต เริ่มจากพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นพิพิธภัณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และสร้างเป็นครีเอทีฟสเปซที่คนเมืองสามารถเข้ามาใช้ร่วมกันได้ ในด้านการอนุรักษ์พลังงานนั้นใช้การบริหารจัดการผ่าน Smart Micro Grid ซึ่งมีศูนย์บริหารจัดการพลังงานทั้งเมือง นอกจากนี้ยังมีการติดตั้ง Solar Roof Top ในพื้นที่ รวมถึงการสร้าง Solar Floating ซึ่งเป็นโครงการแผ่นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่บึง เพื่อป้อนพลังงานเข้าสู่เมืองมากว่า 30% ร่วมกับการผลิตพลังงานเพิ่มด้วยไบโอแก๊ส

 

 

  1. โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง

เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉางถูกออกแบบมาให้เป็น Net Zero Energy City โดยบ้านทุกหลังสามารถเก็บพลังงานไว้ใช้เองได้ ภายใต้การนำระบบไมโครกริดเข้ามาใช้ นอกจากนี้ ยังออกแบบมาให้เป็นเมืองที่ใช้รถไฟฟ้าทั้งเมือง มีรถไฟฟ้าสาธารณะให้บริการแก่คนทุกกลุ่ม และมีสถานีชาร์จไฟกระจายทั่วเมือง ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการเดินทางด้วยการเดินเท้าและทางจักรยาน โดยจะมี Bike Sharing ให้บริการด้วย

 

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ลดการใช้ขวดพลาสติกด้วยการผลิตน้ำประปาดื่มได้ มีการบริหารจัดการขยะโดยใช้ระบบถังเก็บขยะอัจฉริยะที่เก็บข้อมูลปริมาณขยะและความถี่ในการรวบรวมขยะ ส่วนน้ำเสียจะถูกรวบรวมและบําบัดจนสะอาด เก็บกักในบึงประดิษฐ์ที่สามารถนํากลับมาใช้ใหม่ได้อีก

 

ด้านการสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานจะใช้เทคโนโลยี IoT และโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อการติดต่อสื่อสารและบริหารจัดการที่ทั่วถึง ทั้งยังมีบริการ Free Wi-Fi ความเร็วสูงให้ใช้ในย่านธุรกิจและย่านท่องเที่ยวในเมืองด้วย รวมถึงมีการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรมวิชาชีพ และการดูแลสุขอนามัยให้กับประชาชนด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก แอปพลิเคชั่น และเว็บ พอร์ทัล ครบวงจร

 

mkteventmag
No Comments

Post a Comment