Top

Moving Forward to the Future with R&D

Moving Forward to the Future with R&D

 

ในวันที่ 23 ถึง 27 สิงหาคม ที่กำลังจะมาถึง จะมีงานใหญ่ระดับเมกาอีเวนท์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ อีเวนท์ที่ว่านั้นคือ ‘Thailand Research Week’ ซึ่งเราได้นำข้อมูลที่น่าสนใจต่าง ๆ ในงานมาบอกเล่าให้ฟังกันก่อนคร่าว ๆ อยู่ในคอลัมน์ Cover Story ฉบับเดียวกันกับที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้

 

            เมื่อธีมหลักของฉบับนี้เกี่ยวข้องกับมหกรรมงานวิจัยและพัฒนา การจะเล่าเรื่องภายในงานอย่างเดียวคงไม่หนักแน่นพอ เพราะสิ่งหนึ่งที่จะสามารถเติมเต็มเนื้อหาด้านงานวิจัยและพัฒนาของไทยในวันนี้ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ก็คือมุมมอง ความคิด วิสัยทัศน์ของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการนี้ให้กับประเทศไทย

 

ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังที่ว่านั้นก็คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

หลังเสร็จสิ้นงานแถลงข่าว  Thailand Research Week ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา MKT Event ได้มีโอกาสเรียนเชิญท่านเลขาฯ มานั่งสนทนาแบบเจาะลึกในประเด็นการพัฒนาประเทศด้วยฐานคิดเชิงการวิจัยและพัฒนา รวมถึงวิสัยทัศน์ส่วนตัวในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กรทุกรูปแบบของ วช. เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในยุค 4.0

 

ท่านเลขาฯ ได้ตอบทุกประเด็นคำถามที่เราสงสัย ออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ที่คุณกำลังจะได้อ่านอยู่นี้

 

MKT Event : ขั้นตอนการวิจัยและการพัฒนามีความสำคัญยังไงกับชีวิตมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญกับชีวิตเราแน่นอนครับ ที่เห็นชัดที่สุดก็คือเรื่องการวิจัยพัฒนานำไปสู่การสร้างเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ต่อยอดออกมาจากความคิดเชิงนวัตกรรม ทำให้ในขณะนี้เรามีอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ทำงานได้สะดวกขึ้น หรือทำให้เราติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ง่ายขึ้นมากกว่าในอดีต

 

MKT Event : ที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือในแง่การสื่อสาร การเข้าถึงซึ่งกันและกันใช่ไหม

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : นั่นเป็นเพียงประเด็นหนึ่ง แต่เป็นประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด หากเราจะพูดถึงการสร้างนวัตกรรมที่ใช้การวิจัยและการพัฒนาเข้าไปเป็นกลไกขับเคลื่อน

 

MKT Event : ยังมีประเด็นสำคัญอื่นนอกเหนือจากนี้อีกไหมที่การวิจัยพัฒนาเข้าไปมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : อีกเรื่องหนึ่งที่นำงานวิจัยเข้าไปใช้ประโยชน์อย่างมาก ก็คือการสร้างนวัตกรรมเชิงความคิดและการผลิตที่สามารถจะใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด อันนำไปสู่วิถีชีวิต และระบบอุตสาหกรรมการผลิตแบบยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในประเด็นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่แนวคิดนี้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างมาก

 

MKT Event : การวิจัยพัฒนาสามารถเปลี่ยนแปลงรูปโฉมประเทศไทยในอนาคตเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : ประการแรก คือเรื่องเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ประเทศไทยเรายังก้าวไม่พ้นสภาวะการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เรายังติดกับสภาวะนี้อยู่ และไม่ใช่แค่เรื่องรายได้อย่างเดียว ในด้านผลิตภาพส่วนใหญ่เรายังใช้ทรัพยากรในการแลกมาซึ่งรายได้ เช่น การปลูกข้าว หรือปลูกอะไรต่าง ๆ ซึ่งผลผลิตเหล่านี้มีมูลค่าต่ำหากนำไปเปรียบเทียบกับทรัพยากรที่เสียไป ในเรื่องของการได้ไม่คุ้มเสียตรงนี้แหละที่การวิจัยพัฒนาจะเข้าไปช่วยในการแปลงของที่มีมูลค่าต่ำนี้ให้เป็นของที่มีมูลค่าสูง หรือสร้างสินค้าที่มีต้นทุนต่ำทำให้มีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ นี่เป็นแนวคิดหลักในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ประการที่ 2 การวิจัยจะช่วยในแง่ของการกระจายรายได้ ความเท่าเทียมกันของสังคม เนื่องจากก่อนหน้านี้เฉพาะผู้ที่เข้าถึงความรู้เท่านั้นถึงจะได้รับประโยชน์ แต่การวิจัยในเชิงสังคม การวิจัยในแง่พัฒนาพืชผลทางการเกษตรจะช่วยทำให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและทั่วถึงมากขึ้น เมื่อเกิดความเท่าเทียมกันสังคมในระดับย่อยก็จะได้รับการพัฒนามากขึ้นอันเป็นผลดีที่ส่งมาถึงการพัฒนาสังคมในภาพใหญ่ต่อไป

ประการที่ 3 เรื่องของสิ่งแวดล้อม ทิศทางการวิจัยปัจจุบันนี้ก็คือการวิจัยเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ ในส่วนนี้การวิจัยในเชิงประหยัดพลังงาน หรือการวิจัยเชิงวัสดุศาสตร์เพื่อสร้างสินค้าและแพคเกจจิ้งจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเข้าไปช่วยเหลือทำให้เกิดสินค้าเชิงนวัตกรรมตอบสนองต่อความคิดแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เล่าไปทั้งหมดเป็นทิศทางการวิจัยที่จะช่วยต่อยอดอนาคตของประเทศไทยในสเต็ปต่อจากนี้

 

MKT Event : ท่านบอกว่าในอดีตคนที่มีความรู้เท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงการวิจัยและพัฒนาได้ จึงอยากถามต่อไปว่าแล้วคนกลุ่มรากหญ้า ทาง วช. มีนโยบายอะไรเพื่อสร้าง Mindset ให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทาง วช. ให้ความสำคัญมาก ที่จะนำวิธีคิดเชิงวิจัย และการสร้างนวัตกรรม ลงไปสู่สังคมทุกระดับ ดังนั้นทิศทางการวิจัยในปีนี้และปีหน้าของเราก็คือการมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อประโยชน์ของพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก ในอดีตที่ผ่านมาเราทำการวิจัยในส่วนกลางก่อนและเอาผลที่ได้ไปถ่ายทอดต่อให้กับสังคม ชุมชน รวมถึงกลุ่มคนรากหญ้า จึงทำให้สิ่งที่ทำไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน งานวิจัยจึงไม่ค่อยถูกนำไปใช้ เหมือนกับที่คนเขาชอบบอกว่าทำงานวิจัยเสร็จก็เอาไปขึ้นหิ้งอะไรแบบนี้ ก็เลยทำให้เราต้องปรับทิศทางในการทำงานใหม่ เป็นมุ่งการวิจัยเพื่อประโยชน์ของพื้นที่ คือจังหวัดนี้ต้องการพัฒนาอะไร สามารถบอกเราได้ เราจะได้ทำการค้นคว้าที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ

 

MKT Event : คือ Tailor Made ให้ไปเลยใช่ไหม

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : ใช่ครับ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ในบางเขตมุ่งเน้นทางด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ประเด็นคือต้องการให้มีเรือท้องแบนที่วิ่งโดยใช้พลังงานไฟฟ้าและเมื่อวิ่งไปแล้วทำยังไงให้ไม่เกิดเสียงดัง ไม่มีน้ำมันกระทบกับสิ่งแวดล้อมด้วย จะเห็นว่าการวิจัยหลายเรื่องไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเลย แต่เป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยู่ในท้องถิ่น แทนที่เราจะไปวิจัยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้เท่านั้น แบบนี้ก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน

 

MKT Event : ทาง วช. มีการพัฒนา Infrastructure ภายในองค์กรอย่างไร เพื่อตอบรับกับแนวคิดวิธีการปฏิบัติแบบนี้

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : ณ ขณะนี้ทิศทางของการวิจัยที่ วช. ดำเนินการอยู่ นอกเหนือจากการวิจัยที่สร้างความรู้ในทางวิชาการแล้ว เรามีการวิจัยในเชิงประเด็น คือมุ่งเน้นในบางประเด็น เช่น เศรษฐกิจชุมชน ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่ง และการวิจัยเพื่อประโยชน์พื้นที่ ดังนั้นสิ่งที่ วช. ดำเนินการอยู่ตอนนี้คือเราดำเนินการร่วมกับพื้นที่ ร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ ร่วมกับยุทธศาสตร์จังหวัด นี่เป็นกลไกเพิ่มเติมซึ่งเราดำเนินการขึ้นมา ประการที่ 2 เราร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรัฐ, กระทรวงศึกษาธิการในการใช้ประโยชน์ของเครือข่ายของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯ และภูมิภาค  อันนี้เป็นการปรับโครงสร้างภายในที่เรากำลังดำเนินการอยู่

 

MKT Event : ในส่วนของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ทาง วช. มีวิธีการในการพัฒนาคนเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบการวิจัยพัฒนาอย่างไรบ้าง

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : วช. และเครือข่ายองค์กรงานวิจัยแห่งชาติให้ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่สำหรับนักวิจัยซึ่งเพิ่งจบมาใน 1-5 ปี โดยเราร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เราให้ 2 อย่าง หนึ่ง คือเราให้ที่ปรึกษาการวิจัยเพื่อจะให้นักวิจัยที่มีความอาวุโสกว่าเป็นผู้แนะนำให้ข้อมูลต่าง ๆ  สอง คือ เรามีทุนวิจัยเบื้องต้นเพื่อให้นักวิจัยที่เพิ่งจบการศึกษาออกมาสามารถที่จะเริ่มทำงานวิจัยได้ทันที โดยที่ในช่วงต้นยังไม่ต้องเสียเวลาไปดิ้นรนหาทุนวิจัยในระยะ 1-5 ปีแรกของชีวิต ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลการแนะนำของนักวิจัยอาวุโส คืออยู่ในกลุ่มวิจัย

 

MKT Event : ตอนนี้มีโครงงานอะไรใหญ่ ๆ อันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ วช. จะต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : ในปีนี้เราได้กำหนดหัวข้อตามยุทธศาสตร์วิจัย มีทั้งประเด็นในเชิงสุขภาพกับประเด็นในเชิงอุตสาหกรรม ขณะนี้เราได้ตกลงกันแล้วว่าโครงการวิจัยที่จะขับเคลื่อนขนาดใหญ่มีอยู่ประมาณ 8 โครงการ ผมยกตัวอย่าง 2 โครงการที่เด่น ๆ นะครับ

  1. เรื่องของเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่ เช่น เครื่องมือที่ช่วยในการผ่าตัด อุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยใช้มาก เพราะต่อไปประเทศไทยจะเป็นเมดิคอลฮับและกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์เยอะมาก แล้วเรื่องนี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ซึ่ง วช. กำลังขับเคลื่อนอยู่
  2. การสร้างคนไทยยุคใหม่ในอนาคตที่มีจิตใจดี มีความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เหล่านี้ นี่คือการทำความเข้าใจเรื่องการวิจัยพฤติกรรมจิตสำนึกของประชาชน กระบวนการในการเรียนรู้ นี่ก็เป็นตัวอย่างของการวิจัยเรื่องหนึ่งซึ่งนอกเหนือจากเชิงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จะมีการวิจัยเชิงสังคม เกี่ยวข้องด้วย

 

MKT Event : ในฐานะที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ท่านมีวิธีสร้างความน่าสนใจให้กับอาชีพของนักวิจัยอย่างไร เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจก้าวเข้าสู่วิชาชีพนี้

ศ.นพ.สิรฤกษ์ : นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเร่งทำเช่นกัน เพื่อลบล้างภาพความน่าเบื่อของอาชีพนักวิจัยให้หมดไปจากความคิดของคนรุ่นใหม่ วิธีการที่เลือกก็คือการสร้างแรงบันดาลใจของวิชาชีพที่จับต้องได้ให้กับเขาก่อน ซึ่งแรงบันดาลใจที่สำคัญก็คืองานที่ตัวเองทำอยู่สามารถสร้างประโยชน์ให้ชีวิตของเขาอย่างไร แปลว่าวิจัยแล้วมีประโยชน์ วิจัยแล้วสร้างรายได้ให้ได้ วิจัยแล้วยืนอยู่ได้ในสังคมอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

ดังนั้นขณะนี้เราต้องสร้างผู้ประกอบการจากการวิจัย เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560” นี้ ว่ามีผลงานวิจัยซึ่งไม่ได้เป็นของที่ขึ้นหิ้ง แต่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และคนทำวิจัยสามารถมีรายได้ที่ดีมาก ๆ จากการวิจัย ซึ่งเราก็เห็นแล้ว ตอนนี้เราเริ่มมีกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ มีเศรษฐีใหม่ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยหลายราย ถ้าเราสามารถสร้างภาพนี้ให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าจะมีคนรุ่นใหม่เดินเข้าสู่วิชาชีพนี้เป็นจำนวนมากในอนาคตแน่นอน

mkteventmag
No Comments

Post a Comment