Expo Milano 2015, Italy
The Most Powerful Event of The World
งานมหกรรมโลก หรือที่เรารู้จักดีในชื่อ ‘World Expo’ ถือเป็นบิ๊กอีเว้นท์ที่คนทั่วโลกต่างเฝ้ารอชมอย่างยาวนาน ซึ่งการจัดแต่ละครั้งนั้นมีระยะห่างในการจัดอยู่ที่ 5 ปี ถ้าหากเทียบออกมาเป็นวันก็จะอยู่ที่ 1,825 วันนั่นเอง
และทุกครั้งที่งานนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ โลกทั้งโลกดูราวกับจะหยุดหมุน ให้คนพุ่งความสนใจไปยังประเทศผู้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน รวมถึงธีมงานที่บอกเล่าถึงเรื่องราวอันเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางสังคมของยุคสมัยในช่วงเวลานั้นได้อย่างมหาศาล
ซึ่งในครั้งนี้งานมหกรรมโลกประจำปี 2015 จะถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ภายใต้ชื่องานว่า ‘Expo Milano 2015’ ในระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคมไปจนกระทั่งถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้
เมื่อมีงานอีเว้นท์ระดับยักษ์เช่นนี้เกิดขึ้น ในฐานะที่เรา MKT Event เป็นแมกกาซีนที่ข้องเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรมการจัดอีเว้นท์เชิงการตลาดทุกรูปแบบ เราจึงต้องหยิบยกเอาเรื่องราวของ Expo Milano 2015, Italy มาเล่าสู่กันฟังกับผู้อ่านในทุกแง่มุมโดยละเอียด ผ่านเรื่องปกประจำฉบับนี้ เพื่อให้คุณได้รับรู้คอนเซปท์งาน ภาพรวมการจัดผัง เลยเถิดไปไกลถึงไฮไลท์ในแต่ละพาวิลเลี่ยนของประเทศมหาอำนาจใหญ่ ๆ ในโลก
นอกจากนี้รวมถึงการเจาะลึกข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของ Thailand Pavilion พื้นที่แห่งความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยใช้ประกาศตัวตนแห่งการเป็นผู้ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงโลกให้นานาอารยะชนได้เห็น พ่วงด้วยบทสัมภาษณ์สั้น ๆ ของผู้มีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่แห่งนี้ทุกขั้นตอน
เราเชื่อว่าทั้งหมดที่เรานำเสนอน่าจะเป็นข้อมูลที่ทำให้คุณสามารถมองเห็นภาพรวม นวัตกรรม และสิ่งที่ทุกประเทศต้องการสื่อสารผ่านงานมหกรรมอันยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลนี้ได้อย่างครบถ้วน
เริ่มต้นเราอยากฉายภาพความเป็นมาเบื้องต้นของงานมหกรรมโลก 2015 หรือที่เราเรียกกันว่า ‘Expo Milano 2015,Italy’ ให้คุณผู้อ่านของเราได้เห็นกันเสียก่อน งาน Expo Milano 2015 ที่จัดขึ้นในเมืองมิลานนับเป็นครั้งที่สองของประเทศอิตาลีที่ได้รับเกียรติให้จัดงานแสดงอันยิ่งใหญ่นี้ โดยครั้งแรกถูกจัดขึ้นเมื่อปี 1906 ที่เมืองมิลานเช่นกัน
ในฐานะที่งานนี้เป็นอีเว้นท์ใหญ่อันดับสามของโลกรองจากโอลิมปิกและฟุตบอลโลก ก็เป็นประจำของทุกครั้งที่ฝ่ายจัดงานอย่าง Bureau International Des Exposition (BIE) และผู้ชนะการคัดเลือกในครั้งนั้นจะนำประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อโลกในอนาคตมาเป็นคอนเซปท์หลักในการสร้างธีมงาน ซึ่งธีมหลักที่ว่านั้นก็คือ ‘Feeding the Planet, Energy for Life’ นั่นเอง
โดยธีมดังกล่าวต้องการสื่อถึงการผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงโลก และอาหารเหล่านั้นสามารถสร้างพลังงานให้แก่ชีวิตมนุษย์ในอนาคต บนไอเดียดังกล่าวถูกนำมาตีความขยายไปยังบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรมวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความคิดสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับการผลิตอาหารทั้งระบบ
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมเรื่องของอาหารจึงเป็นประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงในการจัดงานครั้งนี้ คำตอบก็คือเกิดขึ้นจากความปริวิตกในเรื่องสภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคต ที่สืบเนื่องจากข้อมูลคาดการณ์ของสหประชาชาติ (UN) ที่ออกมาเปิดเผยว่าภายในปี 2040 ประชากรโลกจะมีจำนวนกว่า 9,000 ล้านคน
จำนวนที่มากขึ้นในระดับนั้นจะทำให้เกิดสภาวะอาหารไม่พอเพียงเลี้ยงคน หากรวมกับสภาวะโลกร้อนอันเป็นสาเหตุทำให้แหล่งเพาะปลูกมีจำนวนน้อยลง เรื่องการขาดแคลนอาหารจึงเป็นสภาวะวิกฤติอันร้ายแรงที่โลกต้องเจอในเวลานั้นแน่นอน
จึงเป็นที่มาของธีมงาน โดยคาดหวังว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะช่วยกระตุ้นเตือนถึงคุณค่าทุกคำของอาหาร รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้พัฒนาตนเองในด้านการผลิตให้สอดรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที รวมถึงการชี้ให้เห็นถึงผลเสียในด้านการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยข้อมูลที่เรียบง่ายอย่างเรื่องของอาหารนั่นเอง
มาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้ถึงธีมคอนเซปท์ของงาน รวมถึงข้อมูลปลีกย่อยของมหกรรมนี้ไปบ้างแล้ว ทีนี้เราจะมาพูดถึงรายละเอียดพื้นที่จัดงานกันบ้าง ในส่วนของผังมาสเตอร์แพลนของงานนี้ เกิดขึ้นจากการร่วมกันออกแบบของ 4 สถาปนิกชื่อก้องโลกอย่าง Stefano Boeri, Richard Burdett, Jacques Herzog และ William MacDonough โดยแพลนดังกล่าวอ้างอิงจากรูปแบบถนนหินที่กองทัพโรมันในอดีตใช้เดินทัพที่ออกมาเป็นถนนพาดกลางงานสองเส้นหลัก
เส้นแรกมีชื่อว่า ‘Documento’ เชื่อมต่อกันในทิศตะวันออกถึงตะวันตก ซึ่งถนนเส้นนี้จะใช้เป็นส่วนแสดงงานของพาวิลเลี่ยนหลักจาก 60 ประเทศใหญ่ที่สร้างพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงส่วนจัดแสดงงานแบบแบ่งแยกคลัสเตอร์ที่ใช้เป็นพื้นที่แสดงนวัตกรรม การให้ความรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์และแสดงเทคโนโลยีการสินค้า อาทิ โกโก้, กาแฟ, ข้าว, ผลไม้,เครื่องเทศ, ธัญพืช, อาหารจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, อาหารทะเลจากเกาะ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ได้สร้างพาวิลเลี่ยนของตนเองขึ้นมา
และเส้นที่สองมีชื่อว่า ‘Cardo’ ซึ่งเป็นถนนที่มีความยาว 350 เมตร พาดผ่านทางทิศเหนือไปจรดทิศใต้ บนถนนเส้นนี้ถือเป็นพระเอกของงานเพราะเป็นที่ตั้งของอิตาลีพาวิลเลี่ยน, พาวิลเลี่ยนซีโร่ที่บอกเล่าเรื่องราวของพัฒนาการด้านอาหารของประเทศอิตาลีในยุคโบราณอันเป็นที่มาของธีมงาน Feeding the Planet, Energy for Life, ส่วนแสดงงาน Future Food District, สวนสนุกสำหรับเด็ก, ส่วนแสดงนวัตกรรมความรู้ด้านอาหารอิตาลีที่ชื่อ CascinaTriulza รวมถึงแลนด์มาร์คสำคัญประจำงานบริเวณทางเข้าก็คือหอคอยยักษ์รูปดอกไม้ที่ชื่อ ‘Belvedere in Città’ ที่คุณสามารถขึ้นไปดูภาพกว้างของงานทั้งหมดแบบ 360 องศา
ไม่เพียงเท่านั้นจุดตัดของถนนทั้งสองสายที่เราได้กล่าวไป ทางผู้จัดเขายังใช้พื้นที่นี้สร้างขึ้นเป็นส่วนแสดงงานที่ชื่อ ‘Piazza Italia’ เพื่อสื่อความหมายถึงการปะทะสังสรรค์ระหว่างประเทศอิตาลีกับส่วนต่าง ๆ ของโลก ซึ่งตรงนี้เป็นที่ตั้งของ Mediterranean Hill, Expo Center, Open Air Theater และ Lake Arena นั่นเอง
นี่เป็นแค่บางส่วนเท่านั้นที่เราอยากเล่าแบบเร็ว ๆ ให้คุณได้เห็นภาพโดยรวมในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ซึ่งหากจะเอาทุกส่วนมาบอกเล่าก็เกรงว่าหน้ากระดาษที่มีอยู่คงไม่เพียงพอ เพราะเอาแค่การเที่ยวงานนี้ให้ครบถ้วนคุณอาจต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนขึ้นไป จึงจะสามารถเก็บทุกรายละเอียดในงานได้ครบถ้วน
In Detail of the Big 5 Pavilions
Italy:
สำหรับพาวิลเลี่ยนของประเทศเจ้าภาพออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชื่อดังแห่งกรุงโรมอย่าง ‘Nemesi & Partners’ ด้วยแนวคิด ‘ป่าในเมือง’ ที่ภายนอกพาวิลเลี่ยนให้พื้นผิวภายนอกเป็นเหมือนกิ่งไม้สานไขว้กันไปมา สร้างขึ้นจากคอนกรีตชีวภาพพิเศษชนิด ‘i.active Biodynamic’ ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถดักจับมลภาวะ ช่วยทำให้อากาศสะอาดขึ้น และพาวิลเลี่ยนนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองอีกด้วย
แม้จะเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก แต่กับงานเอ็กซ์โปครั้งนี้ประเทศสหรัฐอเมริกากลับพลิกแนวทางฉีกมุมไปเล่าเรื่องการให้ความเคารพกับประวัติศาสตร์การเกษตรของประเทศตัวเอง ทั้งในด้านการเพาะปลูก การผลิต รวมถึงการแปรรูปเชิงอุตสาหกรรมแบบเรียบง่าย รวมถึงมีการจำลองฟาร์มขนาดใหญ่ในพื้นที่เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าใจถึงวิถีการเกษตรแบบอเมริกันชนในสมัยโบราณได้อย่างใกล้ชิด ส่วนตัวพาวิลเลี่ยนนั้นออกแบบโดย ‘James Biber’ สถาปนิกชื่อดังเจ้าของบริษัท Biber Architects แห่งนิวยอร์ก
พาวิลเลี่ยนของสหราชอาณาจักรนั้นได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบมาจากพฤติกรรมของผึ้งในระบบนิเวศวิทยาที่เป็นผู้มีหน้าที่ผสมเกสรดอกไม้ให้ดอกไม้เจริญเติบสวยงามบานสะพรั่ง ดังนั้นเรื่องหลักที่สหราชอาณาจักรต้องการเล่าจึงเกี่ยวพันกับดอกไม้และท้องทุ่งอันสุขสงบ สมบูรณ์ตามแบบฉบับชนบทอันสวยงามของชาวอังกฤษที่สามารถเชื่อมโยงกับความทันสมัยของโลกได้อย่างลงตัว ส่วนความโดดเด่นของอาคารอยู่ตรงที่สร้างโครงข่ายเหล็กลักษณะเป็นเหมือนรังนกห่มคลุมอาคารทรงกลมตรงกลาง อันเป็นฝีมือการออกแบบของ Wolfgang Buttress
พาวิลเลี่ยนของเมืองน้ำหอมประเทศฝรั่งเศสถูกออกแบบโดย ‘XTU Architects Studio’ เตรียมนำเสนอผลิตผลทางการเกษตร การประมง วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อความยั่งยืนตามธีม ‘Feeding the Planet, Energy for Life’ ตัวพาวิลเลี่ยนได้แรงบันดาลใจมาจากตลาดสดในกรุงปารีสย่าน Les Halles โครงสร้างทั้งหมดทำด้วยไม้จากเทือกเขา Jura
พาวิลเลี่ยนของประเทศมหาอำนาจจากแดนมังกรถูกออกแบบให้โดดเด่นจากฝีมือของ ‘Daniel Libeskind’ สถาปนิกชื่อดังเชื้อสายโปลลิช-อเมริกัน ให้โครงสร้างภายนอกมีฟอร์มฉวัดเฉวียนน่าตื่นตา กรุด้วยกระเบื้องเคลือบโลหะที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ ได้แรงบันดาลใจมาจากโถงห้องอาหารในอาคารจีนโบราณ เป็นตัวแทนสเปซที่สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความเจริญรุ่ง สุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์
มาถึงในส่วนนี้หลังจากที่เราเล่าไกลออกไปยังขอบเขตภายนอกที่เป็นเรื่องของชาวโลกเกี่ยวกับงานเอ็กซ์โปครั้งนี้แล้ว เราขอพาคุณย้อนกลับมาเรื่องใกล้ตัวในรายละเอียดของประเทศไทยกับงานมหกรรมโลกครั้งนี้กันบ้าง
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมด้านอาหาร อีกทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ยังเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ในบริเวณจำกัดเพียง 10% ของโลก ทำให้เราได้รับการยกย่องให้เป็นฮับของโรงงานผลิตอาหารที่ใช้หล่อเลี้ยงคนทั้งโลกมาอย่างยาวนาน
บนแนวคิดที่ว่าจึงเป็นที่มาของการกำหนดเรื่องราวภายใน Thailand Pavilion ครั้งนี้ นั่นคือ ‘Nourishing and Delighting the World’ นั่นเอง ซึ่งหากจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือการควบรวมกันระหว่างการเป็นผู้ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงและเป็นผู้ให้ความสุขต่อโลก
นอกจากธีมดังกล่าวที่บอกเล่าถึงความเป็นไทยที่สอดคล้องกับมหกรรมโลกครั้งนี้แล้ว ตัวพาวิลเลี่ยนเองก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นที่ควรพูดถึง เพราะนี่คือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมอบหมายให้ ‘กิจการร่วมค้าเวิร์คไร้ท์’ เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อกำหนดนิยามใหม่ของศาลาไทยให้ออกมาบนรูปแบบร่วมสมัย หลุดกรอบจากสถาปัตยกรรมแบบวัด วัง ตามแบบเดิมที่คุ้นเคย
โดยครั้งนี้ทีมผู้สร้างได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก 3 ปัจจัยหลักนั่นคือ หนึ่ง ‘งอบ’ สัญลักษณ์แห่งวิถีเกษตรและภูมิปัญญาของชาวนาชาวไร่ของไทยในยุคบรรพกาล และสอง ‘พญานาค’ อันเป็นสัญลักษณ์ของน้ำซึ่งสามัญชนใช้ในพิธีกรรมทางการเกษตร และนาคยังเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ในวิถีเกษตรแห่งอุษาคเนย์ และสามแรงบันดาลใจจาก ‘ฐานเจดีย์’ สัญลักษณ์แห่งความศรัทธารูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบไทย
ทั้งสามส่วนหลอมรวมกันออกมาเป็นอาคารทรงงอบที่โดดเด่น อันสามารถสื่อความหมายให้ชาวโลกเข้าใจถึงความอุดมสมบูรณ์ และความยั่งยืนของไทยในเวทีอาหารโลกได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงแต่รูปทรงที่โดดเด่นของตัวอาคาร ภายในไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน ยังเต็มไปด้วยคอนเทนต์อันทรงคุณค่าบ่งบอกถึงวัฒนธรรมอาหารและการผลิตที่ทันสมัยในฐานะผู้ผลิตอาหารเลี้ยงดูโลก โดยแบ่งเป็น 5 ส่วนหลัก ประกอบด้วย
- LIVE EXHIBITION : พบกับการจำลองวิถีชีวิตริมน้ำของไทยที่มีมาแต่โบราณ คับคั่งไปด้วยเรือพายที่บรรจุด้วยสินค้านานาชนิด และการจัดแสดงนาข้าวสาธิตเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นข้าวไทยในระยะการเจริญเติบโตต่าง ๆ สลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละแปลง ตลอดระยะเวลาการจัดแสดง 6 เดือน รวมถึงการแสดงการเก็บเกี่ยวข้าวภายในแปลงนาอีกด้วย
- สุวรรณภูมิ (Golden land) : ในส่วนนี้ผู้ชมจะได้พบกับปฐมบทแห่งความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย ตั้งแต่ทิวเขา ทุ่งราบ จนถึงท้องทะเล พร้อมชมระบบนิเวศที่หลากหลายจนได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าว-อู่น้ำ” หรือฐานการผลิตอาหารที่มีคุณภาพที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สมชื่อ “สุวรรณภูมิ” ด้วยเทคนิคโฮโล
แกรม 3 มิติ ผสมผสานกับการฉายภาพรอบทิศทาง - ครัวไทยสู่ครัวโลก (Kitchen to the World) : พบกับเทคนิคการฉายภาพบนพื้นผิวรอบทิศทาง เปิดเผยทุกขั้นตอนของครัวไทยตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การปรุงรส การแปรรูป การเก็บรักษา การถนอมอาหาร และการบรรจุหีบห่อ ต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีอันทันสมัย กลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมาตรฐานระดับสากล ประกาศศักยภาพและความพร้อมในการเป็นครัวโลก
- กษัตริย์แห่งเกษตร (King of Agriculture) : รับชมวีดิทัศน์ในแอมปลิเธียร์เตอร์สุดทันสมัยในระบบภาพและเสียง เปิดเผยถึงสายพระเนตรอันกว้างไกลในด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นปราชญ์แห่งดินและน้ำ ทรงงานมากมายเพื่อพสกนิกรชาวไทยอย่างไม่เคยว่างเว้น กว่า 4,000 โครงการตลอด 60 ปี ที่ทรงครองราชย์ และยังทรงแนะแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ในการดำเนินชีวิตให้กับพสกนิกรชาวไทยจนทั่วโลกให้การยกย่อง
- Food for the Future : นำเสนอแนวคิด ‘ซูเปอร์มาร์เกตแห่งอนาคต’ พื้นที่ขายสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น Ready to eat : อาหารไทยแช่แข็งพร้อมรับประทาน, Ready to cook : เครื่องปรุงและส่วนประกอบอาหารไทย และ Ready to go : อาหารไทยแปรรูปพร้อมทาน นอกจากนี้ยังมี Interactive Supermarket ที่จะให้ข้อมูล Food Education ผ่านจอ LCD และ QR code รวมถึงดาวน์โหลดตำรับอาหารไทยชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย
“โจทย์ในงานเอ็กซ์โป 2015 ของเราในวันนี้ก็คือการไปย้ำความพร้อมกับศักยภาพในการผลิตอาหารของประเทศไทยในวันนี้ เพราะอย่างที่ทราบดีว่าเราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงโลก เลี้ยงมนุษย์ และเราคือครัวของโลก เพราะฉะนั้นเราต้องไปเพื่อสร้างความเชื่อ ความศรัทธา ความมั่นใจ ให้แก่ชาวโลกที่เป็นลูกค้าของเรานั่นเอง”
“สิ่งที่คณะทำงานทุกคนรวมถึงตัวผมและกระทรวงเกษตรในฐานะแม่งานตั้งใจทำก็คือ การสร้างแบรนด์อันแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมอาหารของไทยในวันนี้รวมถึงในอนาคต เราตั้งใจอยากจะนำอาหารเมนูขึ้นชื่อพร้อมเสิร์ฟไปให้ชาวโลกได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดในงานนี้ ผ่านรูปแบบที่เรียกว่า ‘Thai Fast Food’ อันเป็นอาหารพร้อมปรุง พร้อมทาน ที่ได้มาตรฐาน ถ้าอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำของโลกยังทำได้ อาหารที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมของเราก็น่าจะสร้างชื่อเช่นนั้นในเวทีโลกได้เช่นกัน”
“สำหรับงานเอ็กซ์โปครั้งนี้ถามว่าเกษตรกรได้อะไร แน่นอนว่าสิ่งที่เกษตรกรจะได้คือการรับรู้ว่ารัฐเองกำลังสร้างอนาคตให้แก่พวกเขาด้วยความเชื่อเรื่องศักยภาพ ซึ่งเมื่อตลาดต่างประเทศมีความเชื่อในเกษตรกรไทย มีความเชื่อในศักยภาพของประเทศไทยแล้ว ยอดการสั่งซื้อก็จะมีจำนวนมากขึ้น เมื่อยอดการสั่งซื้อมากขึ้นอาชีพเกษตรกรก็จะยกระดับตามไปด้วย รวมถึงการมีรายได้ที่มั่นคงขึ้นในอนาคต นั่นก็คือภาระหน้าที่ของเรา ขออย่างเดียวว่าพี่น้องเกษตรกรอย่าทิ้งอาชีพของตนก็พอ เพราะงานเอ็กซ์โปครั้งนี้จะเป็นสะพานที่เชื่อมไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในธุรกิจอาหารของเราในอนาคต เราจะสร้างอนาคตให้พวกท่านอย่างดีที่สุด”
“โจทย์ที่เราได้รับในการสร้างอาคารครั้งนี้ ก็คือการที่กระทรวงเกษตรฯ อยากออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่มันแตกต่างจากทุกครั้งที่เคยทำ เราจึงต้องทำการคัดเลือกสถาปนิกที่จะมาออกแบบกันอย่างเข้มงวด เพราะไม่มีที่ไหนที่สถาปนิกดัง ๆ จากทั้งโลกจะเอางานมากองรวมไว้ในที่เดียวกัน เหมือนที่เกิดขึ้นในงานเวิลด์เอ็กซ์โป มันเป็นเหมือนเวทีประชันคอนเซปท์ของประเทศ วิทยาการ นวัตกรรม และถือเป็นเวทีประชันฝีมือของสถาปนิกทั่วโลก”
“เราตั้งธงไว้เลยว่าการออกแบบจะมี Icon Building เดียวแต่ให้สะท้อนความเป็นเกษตรกรรมออกมาให้ได้ ทั้งทีมก็ไป
รีเสิร์ชเรื่องเกษตรกรอย่างละเอียด ก็มาสะดุดอยู่ที่ ‘งอบ’ ซึ่งตัวงอบนี้ในภาษาสถาปนิกเขาว่ากันว่ามันคือสถาปัตยกรรมที่คนสวมใส่ได้ เพราะว่างอบมันมีคาแรคเตอร์ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวมากในเส้นสายของความเป็นไทย มันสามารถระบายความร้อนได้ ก็เลยเอาตัวนี้มาขยายเป็นไอคอนใหญ่ของสถาปัตยกรรม พอได้ตรงนี้เราก็เลยขยายมาเป็นเรื่องของ
โลโก้ ขยายมาเรื่องคอนเทนต์ที่อยู่ข้างใน ชูให้มันเด่นและก็พูดไปทิศทางเดียวกัน”
“อุปสรรคในการก่อสร้างน่าจะอยู่ที่การติดต่อประสานงานกับคนของเขา เพราะเราต้องจ้างบริษัทในอิตาลีทำทั้งหมด ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าคนอิตาลีนี่เขาทำงานกันช้า คุยยาก ติดต่อประสานงานกันยาก เราก็เผื่อเวลาตรงนี้ไว้พอสมควร แต่ก็ยังติดขั้นตอนเรื่องการขอเข้าไซต์ทำงานอยู่ดี ซึ่งเราต้องใช้พลังและความอดทนอย่างมากในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของเขา เพราะขั้นตอนเยอะมาก แต่ที่เหลือเมื่อถึงขั้นตอนการก่อสร้างก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว เพราะด้วยอุปนิสัยยืดหยุ่นของคนไทยช่วยให้การทำงานไหลลื่น จนทั้งเราและเขาเกิดความสบายใจ งานก่อสร้างของเราจึงเดินหน้าไปอย่างดี”
“เราได้เห็นเลยว่าทีมงานชาวอิตาลีเวลาเขาทำงานสถาปัตยกรรม เขาใส่ใจในรายละเอียดมากแค่ไหน ยกตัวอย่างง่าย ๆ แบบที่เราส่งไปให้กับบริษัท CMC ผู้รับเหมาดู เวลาลงมือสร้างจริงเขาขึ้นแบบได้ละเอียดมาก เขาใส่ใจตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นที่ เหมือนจะให้อาคารนี้สามารถอยู่ได้เป็น 20 ปี ไม้ที่ใช้ทำครีบของงอบทุกชิ้นมีเรียงนัมเบอร์ตามขนาดอย่างเป็นหมวดหมู่ เขาสร้างมันได้เหมือนแบบที่วางเอาไว้เป๊ะ เสาทุกเสาถูกเจาะรูให้สามารถสอดเหล็กเข้าไปได้พอดี เนี๊ยบมาก จนคุณสมิตรผู้ออกแบบคุยกับผมเล่น ๆ ว่านี่มันฝีมือระดับลา ลีกา ในขณะที่พวกเราทำงานระดับไทยแลนด์ลีก มันเป็นมุกขำ ๆ ซึ่งสถาปนิกของเรายอมรับว่านี่เป็นงานก่อสร้างที่ดีที่สุดที่เขาเคยเห็นมาในชีวิตการเป็นสถาปนิกเลย”
“การสร้างเนื้อหาภายในงานครั้งนี้ มันเป็นการสร้าง Thailand Brand รูปแบบหนึ่งเลยนะ แต่เป็นการทำแบรนดิ้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารของชาติให้ชาวโลกได้มาซื้ออาหารอร่อย คุณภาพสูง ที่ทำด้วยจิตใจจากเกษตรกรมืออาชีพ เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรื่องราวเหล่านี้สร้างขึ้นมาจากการทำนา ปลูกสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ จนเกิดเป็นประเพณีในการดำรงชีวิตมากมาย แล้วที่สำคัญได้รู้เรื่องพระมหากษัตริย์ ซึ่งน่าจะเป็นพระมหากษัตริย์องค์เดียวในโลกที่มีอัจฉริยภาพด้านการเกษตร พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเดินไปสู่วิถีแห่งความยั่งยืนไม่ใช่แบบอุตสาหกรรมทางการเกษตร ที่ปลูก ๆ ๆ ดินพังทำต่อไม่ได้ เรื่องพวกนี้มันถูกเอามาเล่าใหม่ในไทยพาวิลเลี่ยนให้ชาวโลกได้รู้
“เราคิดว่าระหว่างรอนอกจากจะมีตลาดน้ำให้ดู มีทางเดินของนาค มีรูปนาคให้ถ่ายรูป มีทุ่งนาให้ดู เรายังมีจอให้ดูศิลปวัฒนธรรม นอกเหนือจากนั้นเรายังทำโชว์วันนึงก็จะมี 4 รอบให้คนที่มารอคอยได้สนุกสนานกับมัน โชว์ที่เราเอามาแสดงเป็นสิ่งที่ฝรั่งอยากดู ซึ่งทั้งหมดผ่านการวิจัยจากทีมงานของเวิร์คพอยท์อย่างละเอียด สิ่งที่เขาอยากดูก็เช่น มวยไทย,เปิงมางคอก คือการประชันกลอง, การประชันระนาด, กลองยาวผีตาโขน และการตำส้มตำ เมื่อได้ข้อมูลนี้มา ทีมงานจึงคิดต่อยอดสร้างออกมาเป็นโชว์ในแบบคอนเทมโพลารี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราถนัดอยู่แล้ว”
“มันเป็นสัญชาตญาณของผู้กำกับทำโชว์ เหมือนเราแต่งเพลงเราก็ตอบยากว่าเพลงนี้มันจะเพราะอย่างไร แต่เราก็มีสูตรอยู่อย่างเช่น แต่งเพลงท่อนที่ 1 ปู ท่อนที่ 2 เข้าเรื่องท่อนที่ 3 ฮุค แล้วมันจะเพราะมาก เข้าโซโล่นิดหนึ่ง แล้วก็จบโชว์ ลำดับมันก็จะอย่างนี้ สมมุติมวยอาจจะยกตัวอย่างง่ายหน่อยก็เหยาะแหยะ ๆ แตะไปแตะมา แล้วเริ่มออกลูกไม้ ออกแม่ไม้ แล้วก็เล่นลูกหนักหนักด้วยการน็อค พวกนี้ฝรั่งเขาคุ้นเคยนะ เพียงแต่ว่าเราเอาสตอรี่แบบไทยใส่เข้าไป ฝรั่งชาวยุโรปจึงสามารถทำความคุ้นเคยกับเนื้อหาได้ไม่ยาก”
“ในแต่ละวันภายในไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน คนที่เข้าชมจะสามารถสนุกกับโชว์ประจำวันของเราได้ อาทิ มวยไทย การประชันเปิงมาง หรือการแสดงส้มตำเพอคัสชั่น แต่ไม่เพียงเท่านั้นในวันสำคัญต่าง ๆ เรายังจัดกิจกรรมเฉพาะไว้อีกมากมาย เช่น วันแม่ วันลอยกระทง ตรงนี้เราจัดเตรียมไว้หมด แต่ถ้าจะให้พิเศษน่าจะเป็นวันชาติไทย ซึ่งก็คือวันที่ 24 สิงหาคมนี้ เราจะมีการแสดงมิวสิคเคิลโชว์ชุดนาค 3 ฤดู เพื่อต้อนรับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะทรงเสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันชาติไทย รวมถึงแขกผู้ใหญ่ระดับวีไอพีจากทั่วโลก และที่เด็ดที่สุดก็คือการโชว์มวยไทยจาก บัวชาว บัญชาเมฆ นักมวยไทยชื่อดังที่ชาวยุโรปคลั่งไคล้ เพียงเท่านี้โชว์ของเราก็น่าจะสามารถสร้างภาพความประทับใจให้แก่ผู้ร่วมชมงานได้อย่างมากแน่นอน”
เรื่อง : Boonake A.
ภาพ : Wiriya L.