Top

เจาะกลยุทธ์สื่อสารการตลาดด้วย 4G

เจาะกลยุทธ์สื่อสารการตลาดด้วย 4G

Brands comm#19 P14-15-3

เจาะกลยุทธ์สื่อสารการตลาดด้วย 4G

ของ True และ Jas Mobile

ในแวดวงธุรกิจช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมาคงไม่มีประเด็นใดจะยิ่งใหญ่ได้เท่ากับการประมูลคลื่น 4G ทั้งสองรอบที่ทุบสถิติการประมูลคลื่นความถี่ของทั่วโลกไปได้อย่างราบคาบ เมื่อเป็นประเด็นใหญ่ขนาดนี้ Brand Communication จึงขอพูดถึงกันเสียหน่อยในเชิงการใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี 4G มาสร้างเป็นกลยุทธ์เชิงสื่อสารการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยธุรกิจ

โดยเราจะจำกัดวงพูดถึง 2 ผู้ชนะตัวจริงทั้ง True และ Jas Mobile เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นว่าทั้งสองแบรนด์จะมีวิธีการอย่างไรในการสร้างกลยุทธ์นี้ให้สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความต่างให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการสื่อสารในปี 2559 ที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่นี้

เริ่มต้นบนแง่ความสัมพันธ์เชิงการตลาดที่มีผลต่อการสร้างแบรนด์ ต้องบอกเลยว่า True คือผู้ชนะตัวจริงในการศึกครั้งนี้ หลังจากที่ทุ่มทุกสรรพกำลังหมดหน้าตักจนสามารถคว้าทั้งคลื่น 1800 MHZ และคลื่น 900 MHZ มาครองจากทั้งสองรอบการประมูล

ชนะทั้งในแง่ภาพลักษณ์ที่บอกให้ทุกแบรนด์ในอุตสาหกรรมนี้รู้ว่า True มีอาวุธยุทโธปกรณ์ทางด้านกำลังทรัพย์มากขนาดไหน และชนะในเรื่องการสะสมคลื่นความถี่ที่ถืออยู่ในมือ นั่นเป็นสัญญาณแรง ๆ ที่บ่งบอกว่าวันนี้ทรูพร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจโทรคมนาคมยุคใหม่ หลังจากต้องเป็นเพียงแค่ผู้เล่นเบอร์ 3 มานานนับกว่าทศวรรษหลังการจากไปของ Orange

เราลองมาทบทวนกันดูให้เห็นชัด ๆ ว่า ตอนนี้คลื่นความถี่ที่ทรูถืออยู่ประกอบด้วยคลื่น 850 MHZ, 900 MHZ, 1800 MHZ และ 2100 MHZ จนเรียกได้ว่า “จองแทบทุกย่านคลื่นที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศของประเทศนี้” ซึ่งจะพูดแบบนั้นก็คงเหมาะสมที่สุดนั่นแหละ

การมีคลื่นสะสมมากที่สุดนี้ นักวิเคราะห์วงการสื่อสารต่างเห็นพ้องต้องกันว่านี่เป็น ‘Pin Point’ สำคัญติดปีกเครือข่ายการสื่อสารทั้ง 3G และ 4G กระจายออกได้แทบจะครอบคลุมทุกพื้นที่ ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นเครือข่ายที่หนึ่ง ซึ่งครอบคลุมได้เกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตรงนี้แหละที่เป็นพลังใหม่ที่สร้างให้แบรนด์ทรูแข็งแกร่งในใจผู้บริโภคจนต้องเปลี่ยนจากค่ายเดิมมาสู่ค่ายใหม่นี้ได้ไม่ยาก

เท่ากับว่าทรูได้ปลดสลักพันธนาการไปได้เปราะหนึ่งหลังจากข้อสงสัยและข้อครหาถึงสัญญาณโทรศัพท์ที่ไม่ค่อยจะแข็งแรง และไม่กระจายไปในทุกพื้นที่ดังที่ AIS ทำได้

ไม่เพียงแต่เรื่องของเครือข่ายกว้างขวางทุกย่านกระจายไปทุกพื้นที่ทั่วไทยเท่านั้น การได้คลื่นมาสะสมไว้จำนวนมาก ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวกระโดดใหญ่ที่จะทำฝันของทรูให้เป็นจริง ในประเด็นของการสร้างการตลาดแบบ ‘Convergent’ หรือการหลอมรวมเอาทุกพลังในธุรกิจเครือข่ายใต้ร่มเงาแบรนด์ เข้ามาเสริมศักยภาพธุรกิจโมบายล์อินเตอร์เน็ต ให้เติมเต็มไลฟ์สไตล์อันทันสมัยอย่างครบวงจร ครอบคลุมชีวิตในทุกมิติของคนเจนใหม่ในยุคดิจิทัล

การได้จำนวน Bandwidth ในการส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ตโมบายล์ 4G ได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้กระบวนการหลอมรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบรับการบริการเชิงดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่ทรูได้เคยเปิดตัวเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้นั่นคือ ‘True Smart Life Smart City’ อันประกอบด้วย

True Smart City สร้างเมืองสุดสมาร์ทที่กล้อง CCTV จะมีบทบาทมากขึ้น กับโซลูชั่นการทำงานรูปแบบใหม่ที่สามารถวิเคราะห์ แจ้งเตือน และส่งรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องได้ในเวลาไม่กี่วินาที และที่สำคัญคุณยังจะได้เห็นโดรนขนาดใหญ่ที่พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีกรณีได้รับอุบัติเหตุ

True Smart Business นิยามใหม่ของโลกธุรกิจที่มากกว่าคำว่า ‘ธุรกิจ’ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในธุรกิจด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคตผนวกกับโซลูชั่นการทำงานหลาย ๆ อย่างที่ตอบโจทย์การทำงานของ Knowledge Worker เจนใหม่

Brands comm#19 P14-15-2

True Smart Life เติมเต็มทุกศักยภาพชีวิตด้วยความรวดเร็วของสัญญาณอินเตอร์เน็ต 4G ที่เร็วแรง ทำงานสอดประสานกับ Wearable Device ยุคใหม่ได้หลากหลาย

True Smart Building อาคารอัจฉริยะเพียบด้วยโซลูชั่นจาก True Smart Building ตัวช่วยให้นิติบุคคลไม่ต้องทำอะไรมากมายนัก ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจสอบผู้เข้าออกอาคารโดยอัตโนมัติ ระบบบันทึกข้อมูลผู้เข้าออกอาคารด้วยการใช้ OCR Reader และระบบกล้องวงจรปิดภายในอาคารที่เชื่อมต่อถึงกันหมดด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

และสุดท้าย True Smart Home บ้านอัจฉริยะ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถควบคุมทุกสิ่งอย่างภายในบ้านได้ด้วยสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ไม่ว่าจะเป็นควบคุมระบบปรับอากาศ หลอดไฟ ระบบโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผ้าม่าน เตาไมโครเวฟ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด

นั่นคือภาพลักษณ์อัพเกรดของการหลอมรวมภายใต้คีย์เวิร์ด ‘Convergent’ ของทรู ซึ่งเราเชื่อว่าน่าจะนำมาใช้ในการสื่อสารแบรนด์อย่างเข้มข้นอีกครั้งในปีนี้

ทีนี้เรามาพูดถึงผู้ชนะรายเล็กกันบ้าง นั่นก็คือ ‘Jas Mobile Broadband’ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘แจส โมบายล์’ ที่สามารถชนะการประมูลคลื่น 4G ความถี่ย่าน 900 MHZ ในการประมูลรอบล่าสุด ท่ามกลางการต่อสู้แย่งชิงกันอย่างดุเดือด แม้จะได้มาเพียงแค่ย่านเล็ก ๆ ย่านเดียว แต่ก็นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ ‘New Comer’ รายเล็กที่ต้องฟาดฟันกับทั้ง AIS และ Dtac

การได้มาต้องถือว่าเป็นคุณกับแจสโมบายล์อย่างมาก เพราะนั่นเท่ากับเป็นการต่อยอดธุรกิจใหม่ในฐานะโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการโมบายล์อินเตอร์เน็ต เพิ่มเติมจากการดำเนินธุรกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์แบบ ‘Home Use’ ของ ‘3BB’

โดยการเปิดเผยแผนธุรกิจที่นำโดย ‘พิชญ์ โพธารามิก’ ประธานเจ้าหน้าบริหารของ Jasmine International ระบุถึงโมเดลของแจสโมบายล์ว่า ในเบื้องต้นจะดำเนินธุรกิจในลักษณะคล้ายกับ Day1 ตามแบบของผู้ให้บริการทั่วไป นั่นคือการสร้าง Infrastructure เพื่อให้บริการ รวมถึงการสร้างโปรโมชั่นและการส่งเสริมการขาย รวมถึงศูนย์บริการที่ดีเพื่อดึงดูดใจผู้ใช้เดิมของ 3BB ก่อนเป็นอันดับแรก

อีกทั้งยังประกาศชัดเจนว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างรวดเร็วทันทีในปี 2559 โดยจะทุ่มโปรโมชั่นที่ตรงใจรวมถึงสร้างกระบวนการสื่อสารเชิงการตลาด สร้างความรับรู้เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เข้าถึงให้มากที่สุด โดยตั้งเป้าระยะสั้นไว้ชัดเจนที่จำนวนผู้ใช้ประมาณ 2 ล้านราย และวางเป้าระยะกลางให้มีผู้ใช้ 5 ล้านรายภายในอีก 3 ปีข้างหน้านับจากนี้

ส่วนจะทำได้อย่างที่ตั้งใจหรือไม่ เราเชื่อว่าเวลาในอนาคตน่าจะมีคำตอบ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยในวันนี้ก็คือธุรกิจสื่อสารจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่โตไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งยังมีอนาคตและความหอมหวานที่ดึงดูดใจให้ผู้เล่นรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ตลอด และในปี 2561 คลื่น 850 MHZ และ 1800 MHZ ที่ถือครองโดย Dtac จะหมดอายุสัญญา วันนั้นเราคงจะได้เห็นการต่อสู้แย่งชิงกันอย่างดุเดือดอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยที่น่าจับตา

Text : Ritnarong A.               
 
mktevent
No Comments

Post a Comment