นาบัวและความหลังริมฝั่งคลอง
Writer/Photo : ศรัณย์ เสมาทอง
นาบัวและความหลังริมฝั่งคลอง
“ไปหาที่เขียว ๆ พักสายตากันไหม” เพื่อนถามมาตอนง่วง ๆ “ไปนาบัว ที่คลองมหาสวัสดิ์กัน” ผมตื่นเลย!!! ด้วยความชอบดอกบัวเป็นทุน ชอบกินอาหารที่ทำมาจากบัว ไม่ว่าจะเม็ดบัว สายบัว ไหลบัว รากบัว แม้แต่กลีบบัวก็ยังกินเลย รีบเก็บข้าวของออกเดินทางด่วน
ลมเย็น ๆ ปะทะผิวหน้า อากาศยังไม่ร้อนจัด แม้ว่าเราจะมาสายแล้วก็ตาม “พี่ลงเก็บบัวกันตั้งแต่เช้าแล้ว นี่ก็ใกล้เสร็จ ยังพอได้เห็นอยู่นะ” พี่อุษา เจ้าของนาบัวเอ่ยขึ้น เวลาเกือบ 10 โมงเช้านับว่าสายมากของผู้คนริมคลองมหาสวัสดิ์ ระหว่างทางจากท่าเรือวัดสุวรรณาราม จุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) ไม่มีบทสนทนามากมาย ทุกคนสนใจสายลมเย็น และบรรยากาศสงบ ๆ ริมคลองเสียมากกว่า
“วันก่อนพี่เห็นเขามาปั่นจักรยานกัน มาเป็นกลุ่มใหญ่เลยล่ะ แต่งตัวเหมือนจะไปแข่งซีเกมส์ (หัวเราะ) ถามดูถึงรู้ว่ามาเที่ยว” ไม่รู้เป็นแกงค์สองล้อเพื่อนผมหรือเปล่า เห็นมีถ่ายรูปอวดตามโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่บ้างเหมือนกัน พวกนั้นเขาเลือกแบกจักรยานขึ้นรถไฟที่หัวลำโพงมุ่งหน้าทิศใต้ปลายทางหัวหิน มาลงที่สถานีวัดสุวรรณ จ.นครปฐม ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง แล้วมาปั่นสูดอากาศสะอาด ๆ ริมคลอง
แต่วันนี้ผมเลือกมาทางเรือ เพราะเมื่อประมาณ 8 – 9 ปีก่อน ผมเคยมาเส้นทางนี้ เคยเจอพี่อุษามาแล้ว (นี่ยังไม่บอกพี่เขานะ) ช่วงนั้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกำลังเป็นที่สนใจ หลายพื้นที่เปิดไร่นา อ้าประตูสวน รับอาคันตุกะต่างถิ่นเข้าไปเยือน ผมเคยสนทนากับผู้คนริมคลองถึงการใช้ชีวิตแบบยั่งยืน การทำการเกษตรควรเป็นเรื่องหลักของโลก ไม่ได้ยึดติดว่าจะเรียก “พอเพียง” จะเอ่ยคำใดก็ได้ ที่หมายความถึงการอยู่แบบพอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ ใช้ทรัพยากรแบบรู้ว่าจะรักษาและฟื้นฟูอย่างไร ใจก็แอบห่วงว่านักเดินทางที่เข้ามามากขึ้น จะทำให้ไร่กลายเป็นร้านสะดวกซื้อไปหรือเปล่า นี่ล่ะ!! ที่ผมตื่นเต้นอยากมา อยากรู้ว่าทุกวันนี้เขาอยู่กันอย่างไร
เรือค่อย ๆ เลี้ยวเข้าคลองซอยเล็ก ๆ บ้านพี่อุษาที่คุ้นตาอยู่ไม่ไกล น้องหมาน่ารักเห่าทักทาย ราวกับคุ้นเคยกับนักเดินทางเป็นอย่างดี เดินผ่านดงไม้เล็ก ๆ ก็พบกับนาบัวกว้างใหญ่ ราว 20 ไร่ เห็นเรือลำใหญ่ลอยลำอยู่กลางดงบัว คนเก็บบัวลงเดินอยู่ในน้ำ ค่อย ๆ หักก้านบัวจนเต็มหอบใหญ่ จึงเดินมาใส่ที่ลำเรือสักหนหนึ่ง บัวที่เก็บวันนี้เป็น “บัวฉัตรชมพู” แบบเดียวกับที่เห็นตามวัดวาอารามนั่นล่ะ
หลักใหญ่ ๆ แล้วบัวจะแยกเป็นสองแบบ ถ้าใครเคยสังเกตก็น่าจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง แรกสุดเลยคือตระกูลบัวหลวง เช่น ฉัตรชมพู หรือ สัตตบงกช ที่พี่ ๆ เขาเก็บกันอยู่ในนาบัวนี้ล่ะ ก้านเขาจะแข็งชูทั้งดอก และใบให้โผล่พ้นน้ำ ดอกจะใหญ่ กลีบใหญ่ ที่เห็นคนนำมาพับกลีบออกมาสวยงาม อันนั้นล่ะ เมืองนอกเมืองนาเขาเรียกว่า โลตัส (Lotus)
อีกพวกเป็น บัวสาย หรือ วอเตอร์ลิลลี่ (Water Lily) แบบนี้จะมีใบกับดอกที่ปริ่มน้ำ ยิ่งดูที่ใบนี่ชัดเจนเลยจะแนบกายลงผิวน้ำที่กระเพื่อมไหว ใครที่ชอบวาดรูปกบกระโดดไปมาบนใบบัว มักเป็นบัวสาย และสายบัว ไหลบัวที่นำมาแกงหรือต้มกะทิ ก็มาจากบัวจำพวกนี้ ส่วนคนที่ชอบกินรากบัว และเม็ดบัว คงต้องย้อนกลับมาคบหาบัวหลวงเสียแล้วล่ะ
บัวที่คลองมหาสวัสดิ์ มีบานไม่มากนัก เพราะเขาจะเก็บดอกตูมขาย จึงปล่อยเหลือบานไม่มาก ใครที่จินตนาการถึงหนองบัวแดง ที่อุดรธานี ที่สีสดเป็นทะเลบัว ต้องปรับอารมณ์ใหม่ ที่นี่แตกต่าง หนองบัวแดงเป็นบัวสาย ใบจะปริ่มน้ำ ดอกจึงชูอวดสีสวยได้ชัดเจน ถ้ามานาบัวมหาสวัสดิ์ ใบบัวจะอวดโฉมเป็นพระเอก สีเขียวสวยล้อกับฟ้าสีฟ้า ดอกบัวบานหลายดอกแอบซ่อนอยู่ในดงใบบัว ถ้าลงเรือพายเข้าใกล้จึงจะเห็นได้ชัดตา
พี่อุษาเอื้อมมือคว้าดอกบัวใกล้มือ หักก้านติดมือมาง่ายดาย ผมไม่คิดจะลอง เพราะเมื่อคราวก่อนลองแล้วไม่ได้หักง่ายอย่างที่เห็น พี่อุษาพาเราชมไปพลางพับดอกบัวให้เราดู การพับบัวทำได้หลายแบบ เน้นให้กลีบด้านนอกเผยตัวให้เห็นความงามที่ซ่อนอยู่ด้านใน…เอ่อ…อันนี้ ก็ได้ลองพยายามแล้วเช่นกัน
แมลงปอตัวใหญ่บินไปมา ลงเกาะดอกบัวดอกแล้วดอกเล่ายั่วยวนสายตา ฝูงปลาในน้ำแอบว่ายตามราวจะฉวยโอกาสฮุบเหยื่อตัวใหญ่ อากาศเริ่มร้อนแดดเริ่มแรง เรือเก็บบัวเริ่มคืนสู่ฝั่ง
เมื่อเขาเก็บบัวครบตามจำนวนที่มีคนสั่ง (ซึ่งบางทีเป็นพันดอก) เขาก็นำมามัดรวมเป็นกำ ๆ นำใบบัวมาห่อ เหมือนที่เห็นตามร้านขายดอกไม้ หรือปากคลองตลาด ก่อนที่จะกระจายตัวไปอยู่ตามวัดวาอาราม หรือศาลต่าง ๆ ที่เราไปสักการะ
ลงเรือล่องคลองเตรียมไปชมสวน ยิ่งอยู่นาน ยิ่งรู้สึกถึงความสงบ และบรรยากาศริมคลองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อเกือบสิบปีก่อน นับว่าเขาดูแลกันได้ดีทีเดียว
หลายคนอาจยังไม่รู้ ว่าคลองมหาสวัสดิ์ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน นอกจากจะทำให้การสัญจรไปมาระหว่างเมืองกรุงกับพระปฐมเจดีย์สะดวกขึ้น คลองสายสำคัญสายนี้ยังเอื้อประโยชน์ทางการเกษตร พื้นที่ริมคลองมีเรือกสวนไร่นาที่ส่งผลผลิตเลี้ยงคนไปทั่ว แถมยังเป็นทางระบายน้ำในวันที่น้ำจากทางเหนือไหลบ่ามาที่เจ้าพระยา จนมาถึงประโยชน์ปลายทาง คือการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และพี่เขาทำได้ดีจนถึงได้รางวัล Thailand Tourism Awards 2007 ด้านแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อปี พ.ศ.2550
เราเปลี่ยนการเดินทางจากเรือมาเป็นรถอีแต๊ก จริง ๆ แล้วคือรถไถนาแบบที่คนต้องเดินตามนั่นล่ะ เขานำที่นั่งคล้ายรถเข็นมาพ่วงท้าย กลายเป็นรถที่ขนสัมภาระและเครื่องมือการเกษตรทั้งหลายในวันทำงานปกติ แต่ในวันที่มีผู้มาเยือน รถอีแต๊กจะสวมบทบาทเป็นรถเปิดประทุนพาคนเมืองผู้โหยหาสีเขียวและสายลมเย็น ไปชมผลงานน้ำพักน้ำแรงของผู้ขับนั่นเอง
การปลูกพืชตามแบบที่ควรเป็น คือไม่ปลูกเพียงชนิดเดียวทั้งพื้นที่ ควรมีความหลากหลาย เท่าที่เห็นก็มีส้มโอ (แน่ล่ะ แถวนี้เขาดัง) มะม่วง ขนุน กล้วย ต้นหมาก และผักพื้นบ้านอีกหลายชนิด ช่วยสร้างสมดุลเหมือนในธรรมชาติ แมลงที่มีในพื้นที่ก็จะหลากหลาย และเป็นแมลงที่ควบคุมปริมาณกันเองได้ จะได้เลิกใช้สารเคมีอันตราย ส่วนนาข้าวอาหารหลักของไทยคงยังต้องมีอยู่ เน้นวิถีออร์แกนิกส์
อีแต๊กขาซิ่งวิ่งแรงไม่มีแวะ พาเราทะลุสวนมาจอดให้เดินที่ทุ่งนาเป็นที่แรก แม้แดดยามนี้จะเริ่มแรง แต่ฝูงนกยางที่บินอยู่เหนือต้นกล้าเขียว ๆ พาเราเพลินจนลืมแดดกันไปเลยล่ะ
ศูนย์เรียนรู้เกษตรพอพียงนี้ ไม่เพียงแต่พาดูทุ่งนา ชมสวนผลไม้ เก็บกินได้ถ้าเป็นช่วงที่สุกพอดี ยังมีกิจกรรมสนุกด้วย ถ้ามาเป็นกลุ่ม พี่ ๆ จะพาเราทำขนมพื้นบ้าน หรือจัดหนักไปถึงทำข้าวห่อใบบัวกันเลยล่ะ แอบจดไว้ในใจแล้ว คราวหน้าต้องหาพลพรรคมาเรียนทำข้าวห่อใบบัวกับเขาบ้างดีกว่า แบกจักรยานขึ้นรถไฟ ปั่นไปเก็บใบบัว แล้วมาเรียนทำข้าวห่อใบบัว เสร็จแล้วก็กินฝีมือตัวเอง…แล้วอะไรต่อดี…
“ไปดูข้าวตังกันไหมคะ เขากำลังจะทอดพอดี” …นั่นไง ของฝากเพื่อน ๆ ไง
กลุ่มแม่บ้านเขาทำข้าวตังขาย มีทั้งแบบใช้ข้าวหอมมะลิและไรซ์เบอรรี่ หุงแล้วทำเป็นแผ่นตากแห้ง เมื่อจะกินก็นำไปทอดให้แผ่นข้าวตังฟูขึ้นมาเหมือนข้าวเกรียบ จะกินแบบเปล่า ๆ หรือทำแบบหน้าน้ำพริกเผา หน้าหมูหยองก็ได้ หรือง่ายกว่านั้น อุดหนุนเขาเลยละกัน
ก่อนจบวันพี่อุษาไปส่งเราที่สวนกล้วยไม้ วางใจให้เย็นลงชมดอกไม้สวย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ที่ส่งจำหน่ายดอก อาจจะคุ้นตา แต่ก็ถือเป็นการพักผ่อนที่ครบรสในวันเดียว
วิถีพอเพียงไม่รู้จะเพียงพอไปได้อีกนานเพียงใด เพราะถัดไปไม่ไกลจากนาผืนที่เราได้ไปเยือน หมู่บ้านจัดสรรเข้าไปประชิดก่อนที่เราจะมา ถึงที่สุดคงห้ามความเจริญของโลกไม่ได้ “ความยั่งยืน” ไม่ได้หมายความว่าต้องดั้งเดิมหรือไม่ทันสมัย เราจะเอ่ยคำใดก็ได้ ที่หมายความถึงการอยู่แบบพอดี รู้ตัวว่าใช้ทรัพยาการอย่างไร รู้ว่าต้องช่วยกันรักษาอย่างไร แต่มองแววตาแล้วยังเชื่อใจคนสองฝั่งคลองว่าคงจะรักษาบรรยากาศดี ๆ ให้เราได้มาสัมผัสกันได้แน่ ๆ
“ไปเก็บบัวกันไหม” ถ้าใครชวนด้วยประโยคนี้…รู้แล้วใช่ไหมว่า.. อย่าลังเล
ติดต่อ
ศูนย์บริการการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โทร. 034 297 152
นาบัวคุณอุษา โทร. 034 297 091