Thailand Inventors’ Day
60 ปี วช. จัดยิ่งใหญ่ งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562
ปิดฉากการจัดงาน งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 อย่างสมศักดิ์ศรี ภายใต้การจัดงานของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุร่วมการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานในระบบวิจัยและเครือข่ายพันธมิตร มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ปีนี้นำผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้งในประเทศและนานาชาติ มาร่วมจัดแสดงกว่า 1,500 ผลงาน
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า งานวันนักประดิษฐ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย”หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลก การจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 21 เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล และนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศ”
ปีนี้ได้รับเกียรติจากพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 และรางวัล 2018 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่นสร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัย ที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ และสร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดย วช. ได้มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2517 โดยมีนักวิจัยผู้มีความรู้ความสารมารถโดดเด่น รับรางวัลในสาขาต่างๆเป็นจำนวนมาก
ในปีนี้มีผลงานจากต้นกล้าด้านการประดิษฐ์คิดค้น ระดับเยาวชน ที่ได้รับรางวัล ประเภทต่าง ๆ ดังนี้ การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ในโครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่” ประจำปี 2562 แบ่งเป็น 3 ระดับ โดยมีผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ดังนี้ ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “ถ้วยเก็บน้ำผึ้งจากชันโรงแบบจำลอง” จากโรงเรียนวัดทรงธรรม จังหวัดสมุทรปราการ ผลงานเรื่อง “กังหันลมเทคโนโลยีไฮบริด” จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก ผลงานเรื่อง “บอร์ดฝึกเขียนสำหรับเด็กออทิสติก” จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี จังหวัดชลบุรี และผลงานเรื่อง “เครื่องเตรียมเส้นไหมพุ่งสำหรับทอผ้าพื้นเมือง” จากโรงเรียนจารย์วิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์ ระดับอาชีวศึกษา จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ปักดำต้นกล้าพอเพียง DTEC” จากวิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ผลงานเรื่อง “Clean Oyster : สร้างความมั่นคงให้ผู้ผลิต สร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้บริโภค” จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎรธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลงานเรื่อง “กระบองอเนกประสงค์สำหรับผู้รักษาความปลอดภัยเพื่อความมั่นคง” จากวิททยาลัยเทคนิคบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ผลงานเรื่อง “เครื่องฟอกย้อมไหมด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ” จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และผลงานเรื่อง “เครื่องช่วยประหยัดเชื้อเพลิง (รุ่นที่ 2)” จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และ ระดับอุดมศึกษา จำนวน รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารข้าวไทยเสริมโพรไบโอติก” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผลงานเรื่อง “วัสดุควบคุมคุณภาพการตรวจวัดปริมาณฮีโมโกลบินเอวันชี” จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก 6 ผลงานเรื่อง “การพัฒนาอุปกรณ์บีบไล่เลือดและของเสียภายหลังผ่าตัดทรวงอกแบบอัจฉริยะ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ผลงานเรื่อง “หมุนฉันสิ” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานเรื่อง “การผลิตไบโอดีเซลและแผ่นพลาสติกชีวภาพ จากพอลิเมอร์ชีวภาพที่สะสมในแบคทีเรียโดยใช้น้ำทิ้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา และผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณหมอกควัน” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ จังหวัดเชียงราย
การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ในโครงการ “Innovations for Street Food” แบ่งเป็นประเภท เครื่องมือประกอบอาหาร หรืออุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้กับธุรกิจ ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เตาถ่านพับได้” จากวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ผลงานเรื่อง “สรรพรถ” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ จำนวน 9 รางวัล โดยมีนักประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลจากประเทศต่างๆ ได้แก่ รางวัล The Best International Invention and Innovation of Social and Quality of Life Award จำนวน 1 รางวัล จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รางวัล The Best International Invention and Innovation of Industry Award จำนวน 1 รางวัล จากประเทศไต้หวัน รางวัล Young Inventor Award for the best International Invention and Innovation of Social and Quality of Life จำนวน 1 รางวัล จากสาธารณรัฐโปแลนด์ รางวัล Young Inventor Award for the best International Invention and Innovation of Industry จำนวน 1 รางวัล จากประเทศมาเลเซีย รางวัล ASEAN Outstanding Invention and Innovation Award จำนวน 1 รางวัล จากประเทศมาเลเซีย รางวัล The Outstanding International Invention and Innovation Award จำนวน 1 รางวัล สาธารณรัฐเกาหลี ฯลฯ
ต้นกล้าทางความคิด สู่การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ออกสู่สายตาของผู้มาชมงานในปีนี้ ยังคงสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมาก แน่นอนว่า 2 กุมภาพันธ์ 2563 จะเป็นสัญญาณแห่งการรอคอยที่คุ้มค่าของคนไทยทุกคนอย่างแน่นอน