Top

The Story along the Chao Phraya River

The Story along the Chao Phraya River

IMG_0782

The Story along the Chao Phraya River

             หากจะถามเอากับคนสมัยนี้ว่ามีบริบทของชีวิตส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรงบ้าง เชื่อเถอะว่าอย่างดีที่สุดหลายคนก็มองเพียงว่าแม่น้ำแห่งนี้เป็นเพียงเส้นทางที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง หรืออาจจะใช้แม่น้ำแห่งนี้เป็นเพียงสถานทีท่องเที่ยว และเป็นที่ทานอาหารในโอกาสพิเศษ ๆ เพียงเท่านั้น

แต่เอาเข้าจริง ๆ แม่น้ำเจ้าพระยามีฟังก์ชั่นการใช้งานที่จำกัดเพียงเท่านั้นหรือ นั่นเป็นคำถามที่หลายคนอาจจะมองข้ามมันไป นี่จึงเป็นโจทย์หลักของสกู๊ป Cover Story ฉบับนี้ของ MKT Event ที่เราอยากจะเชื้อเชิญผู้อ่านทุกท่านออกเดินทางล่องไปยังริมฝั่ง เพื่อค้นลึกถึงความเป็นไปของแม่น้ำเจ้าพระยาในมิติต่าง ๆ ที่เราจะเชื่อมโยงมาตั้งแต่อดีตเชิงประวัติศาสตร์ ทั้งด้านการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชน การค้าการขาย มายังภาพปัจจุบันที่พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้กำลังกลายเป็นพื้นที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจแห่งอนาคตของประเทศไทย

ที่สำคัญกว่านั้นเรายังจะพาท่านไปรับฟังวิสัยทัศน์ในการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลายเป็น World Destination จากการพูดคุยกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการสร้างไลฟ์สไตล์มอลล์ระดับยักษ์ริมแม่น้ำทั้ง 4 แห่ง เชื่อว่าเนื้อหาทั้งหมดน่าจะบอกเล่าถึงความสำคัญในวันนี้ของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างกระจ่างชัดทีเดียว

 

River of History1

1. 

The River of the History

          ภาพแรกที่เราอยากฉายให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยโบราณ แน่นอนคงหนีไม่พ้นเรื่องของการดำรงชีวิตและการตั้งถิ่นฐานของประชาชนที่กระจายอยู่สองฝั่งแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้

หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานในภาคกลาง ได้ชี้ให้เห็นว่าในสมัยโบราณบ้านเมืองเกิดขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตภาคกลางตอนล่างก่อน อีกทั้งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของภาคกลางตอนล่างก็ยังเป็นที่ที่อยู่ติดกับทะเลในอ่าวไทย แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลลงสู่ทะเลต่างก็มีบทบาทเป็นเส้นทางให้เรือเดินทะเลแล่นเข้ามายังบ้านเมืองภายในได้ อีกทั้งบริเวณนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าสำหรับการเพาะปลูก

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดเมืองท่าสำคัญหลายแห่งที่เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมมาแต่โบราณในช่วงระยะแรก ๆ ไม่ว่าเมืองนครปฐมโบราณ (นครชัยศรี) เมืองอู่ทอง เมืองคูบัว เมืองศรีมโหสถล้วนแต่เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่ติดต่อกับภายนอกได้ทั้งนั้น เพราะมีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนที่เคยตั้งชุมชนอยู่ตามที่ราบชายเขาทางด้านตะวันตกและตะวันออก ลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำของแม่น้ำลำคลอง จนเกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นในสมัยทวาราวดี คือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมา

ตัวอย่างของเมืองใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็ได้แก่ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, เมืองนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม, เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี, เมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี, เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี และเมืองพระรถ จังหวัดชลบุรี ซึ่งการก่อตั้งบ้านเรือนสมัยประวัติศาสตร์ในบริเวณที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่ามีการเริ่มสร้างบ้านเมืองขึ้นมาทันที

สันนิษฐานว่าบรรดาเมืองโบราณเหล่านี้มีรากฐานสืบเนื่องมาจากแหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น แหล่งชุมชนตามบริเวณลำน้ำจระเข้สามพันใกล้เมืองอู่ทอง แหล่งโคกพลับที่จังหวัดราชบุรี แหล่งบ้านท่าแค และเขาวงพระจันทร์ที่จังหวัดลพบุรี แหล่งโคกพนมดีที่จังหวัดชลบุรี

เมื่อแม่น้ำลำคลองเกิดตื้นเขิน ผู้คนก็โยกย้ายเมืองมาตั้งริมลำน้ำใหม่ที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ดีกว่า ดังจะเห็นได้ว่าในสมัยหลัง ๆ เกิดเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองสุพรรณบุรี เมืองแพรกศรีราชา เมืองอยุธยา เมืองเพชรบุรี และเมืองราชบุรี ขึ้นมาแทนที่เมืองเก่า ๆ เหล่านั้นที่มีมาแต่สมัยทวาราวดี

ทำให้ในสมัยต่อมา เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองอยุธยา ต่างก็เจริญขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะเมืองอยุธยานั้นได้กลายมาเป็นทั้งเมืองท่าและเมืองหลวงของราชอาณาจักรในเวลาเดียวกันเมื่อกรุงศรีอยุธยาโรยร้างไปเพราะการทำลายของพม่าข้าศึก ก็เกิดนครธนบุรีและกรุงเทพมหานครขึ้นมาแทนที่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง

  

2.

The River of the Future

          จากอดีตมาถึงยุคปัจจุบัน แม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังมีความสำคัญกับชีวิตคนไทยเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของเศรษฐกิจการค้าการลงทุน เมื่อพื้นที่ริมสองฝั่งน้ำกลายเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างสูง ทั้งในด้านการลงทุนจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่รูปแบบต่าง ๆ คอมมูนิตี้มอลล์ระดับยักษ์ที่น่าตื่นตา รวมถึงโรงแรมรีสอร์ทสุดฮิประดับ 5 ดาว

           จากการเปิดเผยของ ‘เดชา ตั้งสิน’ รองประธานกรรมการ ‘โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซา’ ในฐานะประธานฝ่ายต่างประเทศ สมาคมโรงแรมไทย ได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า ในปีนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเจริญกรุงและเจริญนครจะเติบโตได้ดีมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากปี 2558 ไปจนถึงปี 2561 ด้วยเม็ดเงินการลงทุนจากเอกชนกว่า 1.5 แสนล้านบาท

มากกว่านั้นเดชายังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจโรงแรมว่าจะเพิ่มมากขึ้นจากการรวมตัวกันของ ‘กลุ่มพันธมิตรการตลาดโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา (BRMP)’ ที่เป็นความร่วมมือจาก 8 โรงแรมใหญ่รุ่นใหม่ที่มีห้องพักรองรับนักท่องเที่ยวมากถึง 4,152 ห้องอันประกอบด้วย

  • โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล 393 ห้อง
  • โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซา 525 ห้อง
  • โรงแรมแชงกรีล่า 802 ห้อง
  • โรงแรมรอยัลออร์คิด เชอราตัน 726 ห้อง
  • โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ 407 ห้อง
  • โรงแรมเดอะเพนนินซูล่า 370 ห้อง
  • โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน 533 ห้อง
  • โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ 396 ห้อง

นอกจากนี้ทางกลุ่มดังกล่าว ยังมีเตรียมการที่จะใช้จุดแข็งของการมีห้องพักระดับ 5 ดาว ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ‘จัดงานประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ’ อีกหลายงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม MICE ของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในวันนี้และในอนาคต

          นั่นคือภาพที่สมาคมโรงแรมไทยได้สะท้อนให้เห็นว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจไทยแค่ไหนในการผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการประชุมสัมมนาจากการเดินทางของนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกซึ่งจะไม่ต่ำกว่าวันละ 60,000 คนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

 


River Side is the New World’s Famous Trend

เมื่อเมืองชั้นในมีการพัฒนาถึงขั้นสูงสุด นำมาซึ่งการกระจุกตัวของประชากรอย่างหนาแน่น ทำอย่างไรจึงจะกระจายการพัฒนาไปสู่รอบนอก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ขยายออกไป นั่นเป็นโจทย์ที่มหานครใหญ่หลายเมืองในโลกต้องคิดแก้ไข และน่าจะเป็นความโชคดีของเมืองที่มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านกลางเมือง ที่เขาสามารถนำพื้นที่ริมน้ำเหล่านั้นมารีโนเวทใหม่ด้วยโครงสร้าง สถาปัตยกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกแสนรื่นรมย์ จนกลายเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ดังเช่นที่ลอนดอนสร้างแผนการท่องเที่ยวเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ หรือเมืองเซี่ยงไฮ้ที่สร้างเขตผู่ตงและฝั่งตรงข้ามในเขตเว่ยทันให้กลายเป็นพื้นที่ริมน้ำที่สวยงามและทันสมัย รวมถึงที่ซิดนี่ย์สร้างพื้นที่ริมน้ำบริเวณ Darlington Harbour  ให้เป็นแหล่ง Hang Out ที่น่าตื่นตาของคนทั่วโลก

 

3.

The Best Landmarks of the River

          ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยในยุคนี้นอกเหนือจากการสร้างอสังหาริมทรัพย์ระดับยักษ์แล้ว การสร้างไลฟ์สไตล์มอลล์ริมน้ำก็เป็นอีกสิ่งปลูกสร้างรูปแบบใหม่ที่นักธุรกิจชั้นนำของประเทศให้ความสนใจเช่นกัน ในรายละเอียดตรงนั้นชักพาเราให้ไปค้นหาคำตอบด้วยการนั่งคุยกับผู้บริหารโครงการไลฟ์สไตล์มอลล์ริมน้ำจำนวน 4 แห่ง ทั้ง เอเชียทีค (Asiatique), ไอคอนสยาม (ICON Siam), ยอดพิมาน (Yodpiman) รวมถึงไลฟ์สไตล์มอลล์เก๋ ๆ แห่งใหม่ อย่าง ‘ท่ามหาราช’ ว่ามีวิธีคิดในการสร้างพื้นที่ริมน้ำให้น่าสนใจได้อย่างไร เพื่อขับเน้นบริบทการเป็น World Destination ของแม่น้ำเจ้าพระยาในอนาคต

 

                      สูตรลับการปรุง Asiatique ให้เป็น World Destination

11

ณภัทร เจริญกุล : กรรมการผู้จัดการกลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด

“หลังจากที่เอเชียทีคประสบความสำเร็จในด้านการสร้างแลนด์มาร์คริมน้ำเจ้าพระยาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราจึงต่อยอดความสำเร็จนั้นออกมาเป็นเอเชียทีค เฟส 2 ซึ่งคอนเซปท์ที่เราวางเอาไว้ก็คือ อะไรที่ยังขาดในเฟสหนึ่ง เราจะนำไปเพิ่มไว้ในเฟสนี้ อย่างเช่นอันดับแรกคือ ร้านอาหารสำหรับครอบครัว เพราะ ณ วันนี้ในเฟสแรกเราออกแบบร้านให้อยู่ในลักษณะ ‘Bar & Restaurant’ ค่อนข้างเยอ

ะ ในขณะเดียวกันทุกวันนี้ทั้งคนต่างชาติและคนไทยจะพากันมาเป็นครอบครัว ซึ่งร้านลักษณะดังกล่าวก็อาจดูไม่ค่อยเหมาะ ฉะนั้นสิ่งที่เราอยากทำในเฟสนี้ก็คือร้านอาหารแบบครอบครัว”

“ส่วนที่สองที่เราอยากเพิ่มเข้าไปก็คือ Shopping Experience ที่นอกเหนือจากบรรยากาศแบบ Festival Market ก็คือร้านเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์รีเทลที่คนไทยและต่างชาตินิยมซื้อ เช่น Adidas, Nike, Uniqlo, H&M หรือแม้กระทั่งร้าน Outlet ของแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Shopping Experience ให้แก่ลูกค้าที่มา

“อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการลงทุนที่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของธุร

กิจ MICE ในเฟสนี้เราจึงมีแผนที่จะสร้างโรงแรมและคอนเวนชั่น ฮอลล์ ขนาดใหญ่เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ไว้ในพื้นที่เดียวกันกับส่วนของค้าปลีกและร้านอาหาร ให้คนที่มาประชุมสามารถออกมาแฮงค์เอาท์ริมน้ำได้หลังการประชุม”

“นอกเหนือจากเรื่องไลฟ์สไตล์แล้วเราก็ยังคงคาแรคเตอร์หลักอีกอย่างเอาไว้ นั่นคือการเป็น ‘Living Museum’ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์น่าภาคภูมิใจริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งประวัติศาสตร์ที่เราอยากจะนำมาเล่าก็หนีไม่พ้นในยุครัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 6 ซึ่งในเฟส 2 จะมีเรื่องของการค้าขายทางเรือที่เราแทบไม่ได้พูดถึงเลยในเฟสที่แล้ว นั่นก็คือเรื่องของเรือสำเภาโบราณที่ชื่อ ‘เรือทูลกระหม่อม’”

“เรื่องของเรือทูลกระหม่อม ผมขอเล่าสั้น ๆ แล้วกัน เรือลำนี้เป็นเรือฝึกทหารเรือของรัชกาลที่ 5 ที่มิสเตอร์

 

‘Hans Niles Andersen’ ผู้ก่อตั้งบริษัท East Asiatic นำมาจากเมืองโคเปนเฮเก้น ซึ่งเขาเป็นลูกเรือของเรือลำนั้น 8 ปี จนได้ขึ้นเป็นกัปตันเรือ หลังจากนั้นมิสเตอร์แอนเดอร์สันจึงขอลาราชการกับรัชกาลที่ 5 มาทำธุรกิจค้าขายที่ดิน ซึ่งเรือลำนี้ได้เข้าไปร่วมรบ รศ.112 กับฝรั่งเศส และเป็น 1 ใน 7 ลำของเราที่ถูกยิงเสียหาย หลังเหตุการณ์ดังกล่าวมิสเตอร์แอนเดอร์สันเลยขอรัชกาลที่ 5 ซื้อเรือลำนี้ เอาปืนใหญ่ออกแล้วตัดกาบสร้างเป็นเรือขนส่งในเวลาต่อมา”

“ส่วนที่ดินบริเวณเฟส 2 ตรงนี้มันเคยเป็นโรงเลื่อยไม้เก่า คือมิสเตอร์แอนเดอสันได้สัมปทานก็เอาไม้จากทางเหนือล่องแม่น้ำเจ้าพระยามาขึ้นที่นี่เพื่อแปรรูป แล้วเอาไม้สักนี้ขึ้นเรือทูลกระหม่อมไปขายที่ยุโรปเป็นลำแรกของเมืองไทย ซึ่งก็ได้กำไรมหาศาล เพราะฉะนั้นเรือทูลกระหม่อมลำนี้มีความทรงจำอยู่ที่นี่มาก เพราะเคยจอดที่ท่านี้มาก่อน อีกทั้งยังเป็นเรือใบ 3 เสาแบบสูงลำสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่ยุคเรือไอน้ำที่จอดอยู่ในจุดนี้”

Top View from ASIATIQUE SKY

“ผมจึงอยากนำเรื่องราวล้ำค่านั้นมาเล่า และจะต่อเรือทูลกระหม่อมขึ้นมาใหม่เพื่อนำมาจัดแสดงควบคู่ไปกับการแสดงแสงสีเสียง เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของท่าน้ำและเรือลำนี้ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นทุกคืน รวมถึงการเพิ่มท่าเรือขึ้นอีก 3 ท่า เป็นท่าเรือขนาดกลาง 2 ท่า และท่าเรือขนาดใหญ่อีกหนึ่งท่าเพื่อรับเรือลำนี้ รวมถึงรับเรือ ‘Dinner Cruise’ ที่จะเข้ามาจอดชมการแสดงดังกล่าว”

“ส่วนงานอีเว้นท์รูปแบบใหม่ เราก็ยังคงอิงกับการใช้ลานริมน้ำลานเดิม ไว้รองรับ 3 งานที่เป็น Iconic Events นั่นคืองานสงกรานต์ งานลอยกระทง และงานเคาท์ดาวน์ แต่ตอนนี้เราก็มีการนำอีเว้นท์รูปแบบใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นงานโชว์รถยนต์โบราณ รวมถึงอีกหนึ่งงานที่เป็นงานระดับไอโคนิคแต่ไม่ค่อยมีใครรู้ก็คืองานตรุษจีน คือเราทำการอัญเชิญองค์เจ้าพ่อกวนอูอายุกว่า 100 ปี ที่อยู่ชุมชนจีนออกมาให้นักท่องเที่ยวสักการะ ซึ่งเราอัญเชิญออกมาประดิษฐานที่นี่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ในวันตรุษจีนจึงมีคนจีนมารวมกันที่นี่อย่างเนืองแน่น”

“โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า การเกิดขึ้นของเอเชียทีค เฟส 2 จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมศักยภาพให้แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น World Destination เหมือนกับที่แม่น้ำเทมส์ของลอนดอน แต่ที่สำคัญคือหน่วยงานภาครัฐต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันตรงนี้ด้วย ในแง่ของการเชื่อมโยงโครงการต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่รวมกัน ผมยกตัวอย่างของอังกฤษ ที่เขาสามารถสร้างระบบการเดินทางพื้นฐานทั้งทางบกและทางเรือเชื่อมต่อกันไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกตั้งแต่ Big Ben, Westminster Parliament ข้ามไปตรงข้ามก็เป็น London Eye เชื่อมต่อไปยัง ทาวเวอร์ บริดจ์ ไปทาวเวอร์ออฟลอนดอน เพราะฉะนั้นหน่วยงานภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทและเอาจริงเอาจังที่จะทำตรงนี้ ซึ่งผมว่าแม่น้ำเจ้าพระยาของเรา รวมถึงถนนเจริญกรุงที่เราตั้งอยู่ ยังมีเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกเยอะ ถ้าทำตรงนี้ได้ ฝันในการผลักดันให้แม่น้ำเป็น World Destination ก็จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีนับต่อจากนี้แน่นอน”

 

       ICON Siam แลนด์มาร์คระดับ Epic  ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

สุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล : กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด11

“หากจะพูดถึงความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี แล้วก็มารัตนโกสินทร์ จะสังเกตว่าการที่แต่ละสมัยของการตั้งกรุงราชธานีหรือสิ่งสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองก็จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งนั้น จะเห็นได้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีความสำคัญมาก เป็นสายเลือดหลักของประชาชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน เป็นที่ซึ่งให้ความอุดมสมบูรณ์รวมถึงความเจริญทางการค้าระหว่างประเทศในสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีความสำคัญมากเช่นนั้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนาบางสิ่งบางอย่างของเราให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อตอกย้ำถึงความภาคภูมิใจในอดีตว่าประเทศไทยมีความเจริญมาอย่างไร และเพื่อเผยแพร่ความเจริญรุ่งเรืองนั้นออกมาให้คนไทยและคนต่างชาติได้ชื่นชมความภาคภูมิใจและความดีงามของเรา ดังนั้นเราจึงคิดที่จะสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง”

“ไอคอนสยามจึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยพื้นที่ของไอคอนสยามนั้นอยู่ฝั่งธนบุรีบนถนนเจริญนคร ตรงข้ามสถานทูตโปรตุเกส ซึ่งเป็นสถานทูตแห่งแรกที่เข้ามาประเทศไทย  ถ้าเลยออกไปทางเหนือก็จะพบศาสนสถานที่สำคัญของศาสนาต่าง ๆ และชุมชนเก่าแก่ริมฝั่งเจ้าพระยา อาทิเช่น วัดอรุณฯ  วัดกัลยาณมิตรฯ  โบสถ์ ซางตาครู้ส ศาลเจ้าแม่เทียนอันกวน (ศาลเจ้าเก่าในพื้นที่ชุมชนกุฏีจีน) และอื่น ๆ อีกมากมายเหล่านี้เป็นความภูมิใจที่สื่อให้เห็นถึงความต่างที่สอดประสานทางอารยะธรรมร่วมกันอย่างลงตัว เกิดเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวสยาม ทั้งยังเป็นมรดกอันล้ำค่าให้แก่คนรุ่นหลังจากนี้ไปอีก 10 ปี 20 ปี 30 ปี ดังนั้นตำแหน่งที่ตั้งของไอคอนสยาม จึงเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญและเราตั้งใจที่จะสร้างให้เป็นหมุดหมายใหม่ของกรุงเทพมหานคร”

“ดังนั้นในทุกองค์ประกอบของไอคอนสยาม จึงจะนำเอาเรื่องราวเหล่านี้สอดแทรกไปในทุกรายละเอียดของโครงการ ผูกเรื่องสร้างเป็นประสบการณ์ และการช้อปปิ้งรูปแบบใหม่ขึ้นมา ทำให้ไอคอนสยามไม่เหมือนที่อื่นด้วยคีย์เวิร์ดที่ว่า ‘Icons-within-an-Icon’ จะกลายเป็นคาแรคเตอร์ระดับโลกที่เราอยากนำเสนอมาไว้ในโครงการนี้ เมื่อไอคอนสยามสามารถสร้างคาแรคเตอร์ระดับโลกเหล่านี้ขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับไปที่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้แม่น้ำสายนี้กลายเป็น World Destination ซึ่งจะไม่แพ้แม่น้ำใหญ่ในมหานครอื่นของโลก”

“ในโครงการไอคอนสยาม บนที่ดินกว่า 50 ไร่ พื้นที่โครงการ 750,000 ตารางเมตร จะประกอบไปด้วย 3  องค์ประกอบใหญ่ ๆ คือ ศูนย์การค้าระดับ World class  2 โครงการคอนโดมิเนียมระดับหรูหรา และ ‘7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งไอคอนสยาม’ ในส่วนของศูนย์การค้านั้นก็จะประกอบด้วยอภิมหาอาณาจักร 2 ศูนย์การค้า โดยอาคารที่ติดกับถนนเจริญนครจะเป็นอาคาร  Main Retail & Entertainment และอาคารที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยานี้จะเป็น Luxury Building ของแบรนด์เนมต่าง ๆ จากทั่วโลก  โดยเราตั้งใจที่จะใช้คอนเซปท์ที่ว่า ‘The Best of Thailand meets the Best of the World’ ดังนั้นการออกแบบในแต่ละอาคารของแบรนด์นั้น ๆ จะต้องทำหน้าที่ในการบอกเล่าประวัติและเรื่องราวว่าเขามีเฮอริเทจที่น่าสนใจอย่างไร คนที่เข้ามาก็จะมีความสุขไปกับความรู้และประสบการณ์เหล่านั้น ทั้งยังสามารถซึมซับวัฒนธรรมของไทยในมิติต่าง ๆ ที่จะถูกนำเสนอหลากหลายรูปแบบในอาคารของเรา สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในไอคอนสยามทั้งหมด”

“นอกเหนือจากเรื่องของการช้อปปิ้งแล้ว เรายังจะสร้าง 7 สิ่งมหัศจรรย์ระดับโลก อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์ซึ่งจะรวบรวมสมบัติของชาติมาไว้เพื่อแสดงให้คนไทยและคนต่างชาติได้ชื่นชมความสวยงามของประเทศชาติ อีกทั้งจะมีระบำน้ำพุ พร้อมแสง สี เสียง และมัลติมีเดีย ที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง The River Park ลานคนเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ซึ่งเราจะสามารถจัดงานในช่วงเทศกาลงานประเพณีต่าง ๆ อาทิเช่น วันลอยกระทง วันสงกรานต์ วันปีใหม่ วันตรุษจีน เหล่านี้ได้ทั้งหมด เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าไปใช้ชีวิตและสนุกสนานบนพื้นที่ริมน้ำได้อย่างมีความสุข”

“ในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าเราจะคาดหวังผลกำไรเชิงพาณิชย์จากการลงทุนพัฒนาโครงการยิ่งใหญ่ระดับโลกแล้ว แต่สิ่งที่เราคาดหวังจริง ๆ นอกเหนือจากเรื่องของกำไร นั่นคือการมอบสิ่งดี ๆ กลับสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและสังคมโดยรวม เราอยากสร้างให้แม่น้ำสายนี้เป็นหน้าตาอันสง่างามของประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติสามารถมาเที่ยวได้ตลอดเวลา ประชาชนคนไทยสามารถเข้ามาซึมซับบรรยากาศของชีวิตริมน้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงการคืนสิ่งดี ๆ สู่ชุมชนต่อไป”

 

 

         ภารกิจฟื้นฟูอดีตอันรุ่งโรจน์ริมน้ำของตลาดยอดพิมาน11

  เฉลียว ปรีกราน ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ตลาดยอดพิมาน จำกัด

“ก่อนอื่นผมต้องขอเล่าเท้าความถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ก่อน ตลาดยอดพิมานเป็นตลาดที่มีชื่อเสียงมากว่า 60 ปี ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 ซึ่งหลังจากที่เราได้สัมปทานปากคลองตลาดในนามขององค์การการตลาดมาแล้ว เราก็มาสำรวจดูตลาดที่เป็นคู่แข่งปากคลองตลาดก็คือตลาดยอดพิมาน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีการเจรจากับตลาดยอดพิมานซึ่งหม่อมราชวงศ์สุนิดา กิติยากร ท่านก็ใจดี ผมคิดว่าตอนแรกจะขอเช่าท่าน 30 ปี เพื่อจะเอามาพัฒนาร่วมกัน ท่านก็ถามเราว่าเราจะเอาไปทำอะไร เราก็บอกเอาไปทำตลาดนี่แหละแต่ที่จะทำในลักษณะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ท่านก็บอกต้องสัญญากับท่านนะว่าต้องเก็บตลาดดอกไม้เอาไว้ เพราะความเป็นเอกลักษณ์ของปากคลองตลาดคือตลาดดอกไม้อันนี้ เรารับปากกับท่านเลยว่ายังไงเราก็ต้องเก็บเอาไว้ เพราะนี่เป็นตลาดดอกไม้ซึ่งทั่วโลกรู้จัก ท่านก็ตกลงให้เราเช่า”

“ในส่วนที่เป็นยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค แรงบันดาลใจในการสร้างนอกจากเป็นตลาดที่เคียงข้างกับปากคลองตลาดแล้ว ก็คือความสำคัญของโลเคชั่นตรงข้ามที่ประกอบขึ้นจาก 5 แลนด์มาร์คหลัก แลนด์มาร์คที่หนึ่งก็คือสะพานพุทธ แลนด์มาร์กที่สองคือวัดประยุรวงศาวาสอันเป็นวัดที่เป็นต้นตระกูลของบุนนาค แลนด์มาร์คที่สามคือโบสถ์ซานตาครูสซึ่งเป็นโบสถ์ซึ่งมีสถาปัตยกรรมร่วมสมัยกับพระที่นั่งอนันตสมาคม แลนด์มาร์คที่สี่คือวัดกัลยาณมิตร ตามประวัติก็คือเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้ที่วางการค้าให้ไทยกับจีนเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดก็คือเจ้าสัวโต หลังจากที่เจ้าสัวโตสิ้นชีวิตไปแล้ว รัชกาลที่ 3 ได้ดำริให้สร้างวัดนี้ขึ้นมาให้ชื่อวัดกัลยาณมิตรซึ่งหมายถึงเป็นพระสหายที่ดีของท่าน แล้วก็เป็นวัดของต้นตระกูลกัลยาณมิตร และแลนด์มาร์คสุดท้ายมีอายุมากกว่า 300 ปีก็คือวัดอรุณฯ ซึ่งวัดอรุณฯ นี้รู้จักไปทั่วโลก เพราะสมัยกรุงศรีอยุธยาชาวตะวันตกที่เข้ามาประเทศสยาม จะยังไม่รู้ว่าถึงประเทศสยาม จนกว่าจะเห็นเจดีย์อันนี้ ด้วยแลนด์มาร์คที่สำคัญที่บรรพบุรุษเราสร้างมา ผ่านมา 50 กว่าปีเราไม่เคยเห็นภาพแบบนี้ในบรรยากาศเหล่านี้ เราจึงมีความตั้งใจที่อยากให้คนไทยหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้”

“สิ่งที่สำคัญที่สุดของยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค นั้นเป็นพื้นที่ริมน้ำอยู่ในโค้งแม่น้ำ สามารถมองเห็นวิวแลนด์มาร์คเหล่านี้ได้ชัดเจน  เพราะฉะนั้นตึกที่เรานั่งนี้เป็นตึกที่วิวสวยในกรุงเทพเลย สวยขนาดที่ว่าร้าน Mango Tree ร้านอาหารระดับโลกต้องมาเปิดที่นี่เป็นสาขาที่ 77 ของโลก ซึ่งสาขานี้เป็นสาขาที่มีวิวดีที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นเรามั่นใจเลยว่ากว่าจะได้ร้านนี้มาเราคุยกันหลายรอบ จนเขามั่นใจว่ายอดพิมานฯ มีจุดเด่น เขาจึงมาเปิดที่เรา สาขานี้จึงเป็นร้านที่ไม่ใช่คนไทยพาฝรั่งมาร้านอาหารไทย แต่เป็นร้านอาหารไทยที่ฝรั่งพาคนไทยมาทานอาหารไทยนั่นเอง”

yodpiman daylight 13-08-2556

“ขณะนี้เราได้รับความร่วมมือจากบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา เพื่อนำเรือมาจอดที่นี่ทุกลำแล้ว ทำให้ต่อจากนี้ยอดพิมานฯ จะกลายเป็นฮับของการท่องเที่ยวทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะมีท่าเรือเกิดขึ้นมากมายเพื่อเชื่อมต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวริมแม่น้ำลำคลองสาขา แต่ก็ไม่มีท่าน้ำไหนที่จะเรียกได้ว่าเป็นฮับของการท่องเที่ยวทางน้ำแบบที่เราเป็น นี่คือจุดแข็งของเรา ซึ่งต่อไปในอนาคตหากมีโครงการใหญ่อื่น ๆ เกิดขึ้นริมน้ำอีก ก็จะยิ่งทำให้ความเป็นฮับทางการท่องเที่ยวของเราโดดเด่นมากขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางน้ำที่จะบูมมากขึ้นนั่นเองครับ”

 

 

                สัมผัสรสชาติสุดชิคริมมหานทีที่ ‘ท่ามหาราช’11

  ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม : กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุภัทราเรียลเอสเตท จำกัด

“ที่ตรงนี้เดิมเป็นลานจอดรถ มีร้านอาหารอยู่ประมาณ 2 ร้าน แล้วก็เป็นออฟฟิศของบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา พอถึงเวลาต้องปรับปรุงเราก็มองว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอะไรได้บ้าง ซึ่งจากการเบรนสตรอมของดิฉันและทีมงาน ก็สรุปกันได้ว่าที่ตรงนี้ยังไม่มีที่ทางให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือว่านักท่องเที่ยวมารวมตัวกัน จึงเกิดเป็นความคิดในการสร้างไลฟ์สไตล์มอลล์ ซึ่งก็เป็นที่มาของโปรเจค ‘ท่ามหาราช’ ค่ะ”

“การสร้างท่ามหาราชขึ้นมา จริง ๆ เราอยากตอบโจทย์คนกรุงที่อาจจะเบื่อเดินห้าง อยากมาอยู่ริมน้ำ ซึ่งตรงนี้เรามีพื้นที่สีเขียวเยอะ เราไม่ได้เน้นขายพื้นที่ทุกตารางเมตรที่เรามี แต่เราอยากเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครก็สามารถเข้ามาสัมผัสชีวิตริมน้ำได้โดยที่ไม่ต้องมาจับจ่ายซื้อของก็มานั่งเล่นมาชมวิวกันได้”

“จริง ๆ แล้วนอกจากการมานั่งเล่นริมน้ำ ท่ามหาราชตอบโจทย์หลายอย่าง อย่างแรกเราสามารถรองรับผู้โดยสารที่มาทางเรือ เพราะตรงนี้มาได้ทั้งเรือข้ามฝาก เรือท่องเที่ยว หรือว่าเป็นเรือส่วนตัว ฉะนั้นการเที่ยวแม่น้ำหรือเที่ยวคลองก็สามารถมาขึ้นตรงที่เราก็ได้ ข้อดีอีกอย่างคือร้านในโครงการส่วนใหญ่ก็เป็นร้านอาหารกว่า 70% ช่วยเป็นทางเลือกในชีวิตของคนที่กลับบ้านฝั่งธนฯ ก่อนขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้าก็สามารถมาแวะทานอาหาร นั่งเล่น มาหย่อนใจริมน้ำ หรือว่าคนที่ปั่นจักรยานเราก็ถือโอกาสนี้เป็นศูนย์รวมของคนที่รักการปั่น รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ เพราะฉะนั้นกลุ่มลูกค้าของเรามีหลายกลุ่มมาก”

“เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่เราอยากสร้างไลฟ์สไตล์มอลล์แห่งนี้ เชื่อมโยง Identity กับความเป็นท่าพระจันทร์ นั่นก็คือการเป็นตลาดพระ เราจึงเชิญนายกสมาคมตลาดพระท่าพระจันทร์ชื่อดังมาอยู่กับเราในโครงการนี้ ซึ่งคนบางคนก็อาจไม่รู้จัก ไม่คุ้นว่าตลาดพระเป็นอย่างไร ไม่รู้จะเดินยังไงมันงง ๆ มันมืดไปหมด ตรงนี้เราก็ทำให้ทันสมัยติดแอร์ มาอยู่ในบรรยากาศที่สวยงามติดแม่น้ำ ทุกคนก็แฮปปี้ยินดีที่มาอยู่ในโครงการเรา”

“อีเว้นท์ในการสร้างความโดดเด่นให้แก่ท่ามหาราช เราเตรียมไว้หลายอย่างมาก อาทิ โชว์ศิลปะมวยไทยโดยนักมวยไทยมืออาชีพ ณ เวทีริมน้ำ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ Vote ว่าใครคือผู้ชนะ ในส่วนอื่นก็เป็นอีเว้นท์บนแนวคิดเรื่อง ‘Sustainable Life’ อย่างการเปิด Organic Market หรือ Flower Market ริมน้ำ รวมถึงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สร้าง Art Gallery แสดงงานศิลปะของนักศึกษา ทั้งหมดเป็นโครงการที่เราวางเอาไว้เพื่อให้คนที่มาสามารถสัมผัสคำว่า ‘Taste of The River Life’ ให้มากที่สุด”

 

 

Bangkok’s Big Project

โครงการพัฒนาพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คือโครงการคืนพื้นที่สาธารณะริมน้ำเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์ในการพักผ่อน การออกกำลังกาย และการสันทนาการรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทาง กทม.ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลเมื่อเดือน ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา รูปแบบการพัฒนาดังกล่าวก็คือการพัฒนาถนนคนเดิน หรือการนำพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ โดยมีแนวคิดจะดำเนินการสร้างจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ระยะทางสองฝั่งเจ้าพระยารวม 14 กิโลเมตร คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2560 ที่จะถึงนี้

 

 

เรื่อง : Boonake A.

ภาพ : วิริยะ หลวงสนาม

mktevent
No Comments

Post a Comment