Top

“นิทานจักรวาล” จ.ร้อยเอ็ด

“นิทานจักรวาล” จ.ร้อยเอ็ด

 

ร้อยเอ็ด เพชรงามแห่งเมืองอีสาน

            เมืองร้อยเอ็จ หรือร้อยเอ็ด เป็นอีกหนึ่งจังหวัดเมืองรองการท่องเที่ยว ที่มีความงดงามและโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม ไม่แพ้หัวเมืองใหญ่ประจำภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียม วิถีชีวิต ตลอดจนมีเอกลักษณ์อย่างโบราณสถาน วัดวาอาราที่รายล้อมจำนวนมาก ไม่เพียงแค่ชื่อ “อัญมณีด้านวัฒนธรรมเม็ดงามแห่งเมืองอีสาน” จังหวัดร้อยเอ็ด ยังถูกขนานนามเป็นอีกหนึ่งเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งภาครัฐเองเร่งพัฒนาให้มีแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการเติบโต

 

          โดยล่าสุด สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด จัดทำนิทรรศการชุดใหม่ ในชื่อชุด “นิทานจักรวาล” ?  เป็นนิทรรศการดาราศาสตร์ฉบับไทย ๆ แห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศ ที่ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมและคติชนวิทยา เพื่อเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมประจำเมืองร้อยเอ็ด ที่ประชาชนไม่ควรพลาดมาเที่ยวชม

 

จากคติชนวิทยา สู่วิถีชาวไทยในปัจจุบัน

           “นิทานจักรวาล” เป็นนิทรรศการที่ผสมผสานความเชื่อกับวัฒนธรรมแบบไทย ซึ่งนำเสนอจักรวาลแบบไทย ๆ ที่สอดแทรกอยู่ในบทเรียน ได้แก่ “ไตรภูมิจักรวาล” เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้เข้าใจจักรวาลตามความเชื่อไทย ที่เห็นภาพได้ง่าย ชัดเจน เข้าใจมากยิ่งขึ้น และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคติชนวิทยาดังกล่าว ที่เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตแบบชาวไทยที่คนไทยยึดถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ โดยนิทรรศการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 6 โซนจัดแสดง ดังนี้ ?

 

 

?

  1. ประตูสู่จักรวาล

เมื่อก้าวเท้าเข้ามา จะพบกับอุโมงค์แบล็คไลท์ ซึ่งจะพาคุณดำดิ่งสู่การเรียนรู้ “ไตรภูมิจักรวาล” จักรวาลแบบไทย ๆ โดยผนังซ้ายและขวารอบตัวนำเสนอภาพกราฟิกบอกเล่าเรื่องราวการทำความดี ความชั่ว สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว “ไตรภูมิจักรวาล” เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด และได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่คนไทยเริ่มจำความได้ ⚛

 

 

?

  1. ดินแดนในนิทาน

ผ่านประตูจักรวาลเข้าไปยังด้านใน จะได้พบกับโซนไฮไลท์ชูโรงของนิทรรศการ ที่จะพาทุกคนไปเข้าใจกับไตรภูมิจักรวาลผ่านโมเดลไตรภูมิจักวาล ซึ่งจำลองแดนมนุษย์ แดนบุญหรือสวรรค์ และแดนบาปหรือนรก ชั้นต่าง ๆ พร้อมกลไกเคลื่อนไหว และโมชันกราฟิก ปรากฏการณ์ตามความเชื่อ อาทิ การเกิดกลางวันกลางคืนจากการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ราหูอมจันทร์ เป็นต้น โดยสามารถเรียนรู้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในแต่ละภพภูมิ อาทิ เทวดา สัตว์หิมพานต์ และอสูรกาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโมเดลจำลองทวีปทั้ง 4 ตามความเชื่อ และปุ่มกดไฟ LED นำเสนอขนาดของจักรวาลไตรภูมิ เปรียบเทียบกับมนุษย์ และโลกในปัจจุบัน ?‍♀

 

 

?

  1. สุดแดนมนุษย์

โซนจำลองภพคู่ขนานก่อนที่จะได้รับการตัดสินความดีความชั่ว ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากมนุษย์ เช่น เปรตไฟออกปาก เปรตก้อนเนื้อ ฯลฯ โดยจำลองตุ๊กตาอสูรกาย ให้สามารถหยิบเอาไปเล่นเรียนรู้กันได้ ?‍♀

 

 

?

  1. แดนบาป

หลังจากโซนตัดสินโทษทัณฑ์แล้ว จะเข้าสู่อบายภูมิ หรือ นรก ที่จะได้พบกับอสูรกาย และเรียนรู้การรับโทษทัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านเทคนิคการนำเสนอด้วยจอฟลิป ซึ่งหมุนเปลี่ยนเวียนภาพอสูรกายแบบต่าง ๆ นำเสนอโดยคำนึงถึงกลุ่มผู้เข้าชมอย่างเด็กและเยาวชน จึงมีการออกแบบให้ลดทอนภาพที่มีความรุนแรง ความน่ากลัว ภาพล่อแหลม ออกมาเป็นตัวการ์ตูนที่น่ารัก และเข้าใจได้ง่าย ?

 

 

?

  1. แดนบุญ

ออกจากแดนบาป จะมาถึง สุคติภูมิ หรือ สวรรค์ ในธีมสีสะอาดตา ที่จะพาไปเรียนรู้สวรรค์แต่ละชั้นของจักรวาลไตรภูมิ เด็ก ๆ สามารถเข้าไปนอนเรียนรู้ และลองทำตัวเป็นเหล่าเทวดา และนางฟ้าในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ได้อีกด้วย ?

 

 

?

  1. สวรรค์บนดิน

จากคติชนวิทยาสู่ศิลปวัฒนธรรมไทยในโซนการเรียนรู้ ที่สะท้อนความสัมพันธ์ที่ได้รับการประยุกต์เข้าสู่วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชาวไทย เช่น การออกแบบบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย โบราณสถาน ซึ่งต่างล้วนได้รับแนวคิดจักรวาลไตรภูมิ ที่ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ตราบทุกวันนี้

 

 

?

 

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “นิทานจักรวาล” ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกวันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด  จังหวัดร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 043-569-340 ตลอดจนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) หรือ facebook.com/museumsiamfan

 

? และนอกจากนิทรรศการดังกล่าวแล้ว ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด ยังมีนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์มากมายให้ทุกคนได้ไปค้นหาคำตอบ ตลอดจนมีท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน ที่พร้อมให้ทุกคนสนุกกับการเรียนรู้ดาราศาสตร์แบบไม่รู้จบ

mkteventmag
No Comments

Post a Comment