Simple Life : ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา
การจะมีความสุขจากคุณภาพชีวิตที่ดีงามได้นั้น ทั้งหมดทั้งมวลสามารถเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดและจิตใจตนเองทั้ง 4 ด้าน อันประกอบด้วย กาย ศีล จิต และปัญญา แต่เอาเข้าจริงหากเราเป็นคนธรรมดาสามัญในเมืองใหญ่ กระบวนการพัฒนาทั้ง 4 ด้านที่เราได้กล่าวไป ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก หากพิจาณาจากเงื่อนไขในการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความวูบวาบและสั่นไหว
ดังนั้นการเร้นกายไปหาสถานที่ภาวนาอันเงียบสงบซักแห่ง เพื่อฝึกจิตฝึกใจก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้กระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในโลกยุคปัจจุบันมีสถานที่ใช้ภาวนาที่น่าสนใจเกิดขึ้นในหลายทวีป และแต่ละแห่งล้วนมีบทเรียน กิจกรรมการเจริญสติ การภาวนา ที่น่าสนใจมากมาย สามารถน้อมจิตใจคนไปสู่การแสวงหาสัจธรรมของชีวิตธรรมดาที่เปี่ยมสุขได้อย่างยั่งยืน
MKT Event จึงอยากพาคุณออกเดินทางไปค้นหาสถานที่ภาวนาเหล่านั้น เราได้รวบรวมไว้จำนวน 8 แห่งอันเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่ได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลกในแง่ของคอร์สการอบรม ขั้นตอนการปฏิบัติภาวนา รวมถึงการสร้างสถานที่อันแสนเรียบง่าย แต่มากมายไปด้วยคุณค่าและความหมายเชิงจิตวิญญาณ ส่วนจะเป็นที่ใดบ้างนั้น ในบทความชิ้นนี้จะเล่าให้คุณฟัง
1. Spirit Rock Meditation Center’, California
บนพื้นที่ราบเชิงเขาเขียวขจีราวกับฉากของ Middle Earth ในภาพยนตร์ Lord of The Ring ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่นั่นคือ ‘Spirit Rock Meditation Center’ ที่มีอดีตเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพื้นเมืองอเมริกันใช้ประกอบพิธีทางจิตวิญญาณ จนวันนี้ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นศูนย์ภาวนาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ณ ที่นี้คุณสามารถเข้ารับการทำปฏิบัติภาวนาได้ตลอดทั้งปี ซึ่งการเข้าอบรมจะใช้ยะเวลาทั้งสิ้นสองเดือน หลากหลายเหตุผลที่ผู้คนเดินทางไปเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม บ้างก็เพื่อเยียวยาจิตใจด้วยการภาวนาอย่างเป็นระบบ บ้างก็เพื่อค้นหาคำตอบลึก ๆ ในจิตใจบางอย่างเมื่อชีวิตต้องเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญ
อีกสิ่งหนึ่งที่ดีงามของ Spirit Rock ที่นักภาวนาหลายคนชอบนั่นคือการเดินทำสมาธิท่ามกลางสภาวะแวดล้อมธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งความเงียบงันนั้นจะทำให้ได้ยินแม้กระทั่งลมหายใจที่มาจากความรู้สึกของตนเอง ชีวิต หรือถ้าจะโชคดีกว่านั้นการเจริญสติจากการทำสมาธิอาจช่วยให้ใบหน้าของคุณดูเด็กลงไปอีก 10 ปีก็ได้
2. Plum Village, France
หมู่บ้านพลัม – สถานที่ปฏิบัติธรรมชื่อดังของโลก ก่อตั้งโดยหลวงปู่ ‘ติช นัท ฮันห์’ ภิกษุชาวเวียดนามผู้สอนให้คนทั้งโลกรู้จักคำว่า ‘Right Here Right Now’ และการใช้ปัจจุบันและสติทุกช่วงอณูเพื่อปลูกฝังแสงสว่างภายในจิตใจ เชื่อมต่อจากตนเองแล้วขยายต่อไปยังคนหมู่มาก
“เมื่อท่านตระหนักถึงความสำคัญของบางสิ่ง ท่านก็จะจดจ่อกับสิ่งนั้น ซึ่งพลังของสมาธิแห่งการจดจ่อนั้นจะสามารถช่วยให้ท่านเห็นความจริงที่เชื่อมต่อไปยังความจริงของทุกสิ่งที่มีส่วนร่วมซึ่งกันและกันนั่นเอง”
ในหมู่บ้านพลัมแห่งนี้ก็เช่นกัน มีหลักธรรมและวิธีคิดเชิงปฏิบัติข้างต้นของหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ มาใช้สร้างกิจกรรมภาวนาเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ อันสอดคล้องลงตัวกับความต้องการในทุกกลุ่มคน นอกจากคอร์สภาวนาที่เพียบพร้อมแล้ว ภายในหมู่บ้านยังเต็มไปพระและแม่ชีกว่า 200 รูป ที่คอยให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติต่าง ๆ ด้วยไมตรีอีกด้วย
3. Dalai Lama’s Teachings, Dharamsala, India
ธรรมศาลา เมืองเอกทางตอนเหนือในรัฐหิมาจัลของประเทศอินเดีย เมืองอันหนาวเหน็บและแสนเงียบสงบที่เป็นเป้าหมายให้กับเหล่านักท่องเที่ยวสายศรัทธาธรรมเดินทางไป เพราะเป็นแหล่งพำนักลี้ภัยของท่าน ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตที่ถูกทางการจีนขับไล่ภายหลังการเข้ายึดครองประเทศทิเบต
จึงทำให้มวลหมู่ชนผู้ศรัทธาในหลักธรรมคำสอนขององค์ทะไล ลามะ ต้องไปที่นี่เพื่อชื่นชมพระบารมี และพระธรรมคำสอนของพระองค์ด้วยตนเองสักครั้งในชีวิต ซึ่งถ้าโชคดีก็อาจได้มีโอกาสเห็นพระองค์ในระยะประชิด หรือได้ฟังถ้อยธรรมในการเทศนาของท่านที่ส่งกระจายเสียงตามสายในตัวเมือง
นอกจากการได้นมัสการสักการะท่านทะไล ลามะแล้ว เมืองธรรมศาลาแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ลี้ภัยของชนชาวทิเบต รวมถึงพระศาสนาพุทธกลุ่มใหญ่ด้วย ที่นี่จึงเป็นแหล่งศึกษาชีวิตของชาวพุทธแท้แบบวัชรยานอันบริสุทธิ์ที่ยากยิ่งจะหาดูได้จากที่ไหน
4. The Buddhist Retreat Centre, KwaZulu-Natal, South Africa
ด้วยระยะเวลาพียง 90 นาที หากคุณขับรถออกจากเมือง Durban ประเทศแอฟริกาใต้ มุ่งตรงไปยังเมืองที่ชื่อว่า Ixopo คุณจะได้พบกับสถานปฏิบัติธรรม The Buddhist Retreat Centre ที่ถูกรายล้อมด้วยบรรยากาศแบบชนบทอันแสนสงบ
ในอดีต ประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลลา เคยให้รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมกับพื้นที่แห่งนี้ในฐานะมรดกทางธรรมชาติที่เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ และอาหารสำหรับช่วยป้องกันการสูญพันธุ์ของนกนางแอ่นสีน้ำเงิน
ดังนั้นนอกเหนือจากการทำสมาธิปฏิบัติธรรมเพื่อสงบจิต สงบใจ หรือเพื่อเยียวยาพิษบาดแผลแห่งความเครียดที่เกิดขึ้นจากสังคมยุคใหม่ ให้ผ่องใสแล้ว สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงทางด้านการเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในโลก และด้วยความที่พื้นที่ตั้งของสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้อยู่ใกล้กับถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าซูลู จึงมีกิจกรรมสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าให้คุณได้ร่วมทำด้วย
5. สวนโมกขพลาราม, อ.ไชยา, จ.สุราษฎ์ธานี, ประเทศไทย
สวนโมกขพลาราม คือพื้นที่แห่งการปฏิบัติธรรมที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยและทั่วโลกรู้จักกันดีในฐานะพื้นที่ทดลองการใช้ชีวิตตามแบบอย่างหลักธรรมของท่าน พุทธทาส ภิกขุ ที่ว่าด้วยการ “อยู่อย่างต่ำ กระทำอย่างสูง” ดังนั้นเมื่อคุณตกลงปลงใจเข้าสู่การปฏิบัติอบรมธรรมในสวนโมกข์แห่งนี้แล้ว สิ่งที่จะต้องทำอย่างเคร่งครัดนั่นก็คือในระหว่างนี้คุณไม่สามารถพูดอะไรได้เลย และต้องปิดอุปกรณ์สื่อสารที่ติดตัวมาทั้งหมดตลอดช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติ นั่นก็เพื่อให้คุณได้ใช้ความคิดพิจารณาความวูบไหวของจิต อันนำไปสู่การเข้าถึงสภาวะรู้ตัว รู้ตนได้ในที่สุด
นอกเหนือจากการสงบนิ่งเพื่อเรียนรู้การพิจารณาจิตแล้ว การดำรงชีวิตของคุณก็ต้องถูกปรับเข้าสู่โหมดแห่งความเรียบง่ายภายใต้คอนเซปท์แห่งการอยู่อย่างต่ำ กระทำอย่างสูงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการถูกปลุกด้วยระฆังตอนตี 4 เพื่อเข้าสู่การฝึกตนหลากรูปแบบตามที่ทางวัดได้จัดวางไว้ให้อย่างเคร่งครัด แม้กระทั่งเวลานอน ต้องนอนบนเสื่อฟาง หนุนหัวด้วยหมอนไม้ เป็นต้น
รูปแบบการปฏิบัติธรรมของสวนโมกข์นั้นถูกจริตชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เพราะมันสามารถบำบัดจิตใจ และทำให้พวกเขาได้พบกับสัจธรรมของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบ
6. Ala Kukui, Hawaii
ถ้าพูดถึงฮาวาย ภาพที่เกิดขึ้นในใจของคุณคงต้องเป็นท้องทะเล ตัดผืนฟ้าสีคราม แสงแดดเจิดจ้าส่องกระทบผืนทรายสีทอง รวมถึงภาพสาวฮูลาฮูล่าผิวคล้ำตาคม โยกย้ายส่ายสะโพกตามจังหวะเพลงไวกิกิสุดชิลใช่ไหม
แต่เอาเข้าจริง ฮาวายถือเป็นสถานที่อีกแห่งที่นับได้ว่าเป็นจุดหมายของนักแสวงหาสถานปฏิบัติธรรมบำบัด เพื่อชำระล้างจิตใจให้ผ่องแพ้ว ซึ่งสถานที่แห่งนั้นคือ Ala Kukui พื้นที่ขนาด 12 เอเคอร์ในสวนผลไม้ชนบท มีวิวทิวทัศน์ท่ามกลางทะเลแปซิฟิก และภูเขาไฟฮาลีกาลา
นอกจากภาพความสวยงามของวิวทิวทัศน์โดยรอบแล้ว สิ่งที่ Ala Kukui ถูกพูดถึงนั่นคือคอร์สภาวนาที่ถูกสร้างขึ้นในคอนเซปท์ ‘ทางเดินแห่งแสงสว่าง’ อาทิ การเจริญสติด้วยการทอผ้าฮูลา, การภาวนาด้วยโยคะสไตล์ท้องถิ่นของชาวฮาวาย, การเรียนรู้การทำอาหารท้องถิ่นแบบเรียบง่าย รวมถึงการเวิร์คชอปเจริญสติสู้โรค PTSD (ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ) ที่มักเกิดขึ้นกับทหารผ่านศึกและคนในสังคมยุคใหม่
7. Gampo Abbey, Nova Scotia, Canada
Gampo Abbey คืออีกหนึ่งสถานที่ปฏิบัติธรรมรูปแบบอาศรมสงฆ์ที่มุ่งพาชีวิตเข้าสู่ชัมบาลา (สังคมธรรมตามอุดมคติของชาวพุทธนิกายวัชรยาน) อาศรมแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยพระชาวทิเบตนาม ‘Chögyam Trungpa’ ที่นี่จึงเป็นที่อยู่ของพระและแม่ชีจำนวนมากที่สุดในพื้นที่อเมริกาเหนือ ทั้งยังเป็นเสมือนศูนย์กลางของการเผยแพร่ศาสนาพุทธสายวัชรยานในภูมิภาคนี้อีกด้วย
ที่นี่จึงเปิดกว้างให้คนที่ต้องการแสวงหาสัจธรรมของชีวิต รวมถึงผู้ที่ต้องการหาความสงบด้วยการเจริญสติ มาปฏิบัติภาวนากันได้เป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์อย่างเข้มข้น ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดในการปฏิบัติถูกคิดค้นและสร้างขึ้นโดยภิกษุณีชาวตะวันตกชื่อดังที่ชื่อ Pema Chödrön ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ของอาศรมสงฆ์แห่งนี้นั่นเอง
8. Kripalu, Massachusetts
สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองเบิร์กเชียร์ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นด้วยหลักสูตรโยคะแบบกฤปาลูโยคะ (โยคะแบบเคลื่อนไหวที่เน้นสมาธิ คล้ายกับการปฏิบัติอาสนะ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านร่างกายหรือผู้ที่สนใจการทำสมาธิ เรียนรู้ และทำสมาธิจากร่างกายของตัวเอง)
นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งการวิ่งแบบเจริญสติและการนวดแบบคู่รัก และในช่วงวันหยุดของเด็ก ทางศูนย์ยังมีการจัดคอร์สโยคะระดับเริ่มต้นที่ชื่อว่า Circus Yoga ให้เด็กได้ฝึกสมาธิกันแบบเพลิน ๆ รวมถึงบริการนวดหน้า ทำสปา และให้คำปรึกษาด้านการรักษาสุขภาพแบบอายุรเวทอีกด้วย
ทั้งยังสะดวกสบายด้วยห้องพักรูปแบบต่าง ๆ ทั้งแบบเดี่ยวและแบบห้องรวม เพียบพร้อมด้วยบริการมากมาย ทั้งไวไฟ คอฟฟี่ชอป อาหารมังสวิรัติ ฯลฯ ทำให้ที่นี่เป็นสถานปฏิบัติภาวนาที่สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการได้อย่างครบถ้วน
สำหรับใครที่อาจไม่มีเวลามากพอจะหลีกลี้หนีหน้าที่การงานที่ต้องทำ หรือไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะไปยังสถานที่ที่เราได้แนะนำไป ต้องขอบอกตรงนี้เลยว่าการปฏิบัติธรรม การภาวนา การเจริญสติ หรืออะไรก็แล้วแต่นั้นไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับคนเมืองในยุคนี้ เพราะคุณเพียงมายังสถานที่ที่ชื่อว่า ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’ คุณก็จะพบกับสิ่งที่คุณต้องการ
สวนโมกข์กรุงเทพนั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมมีคุณค่ามากมายให้คุณได้ทำ ซึ่งทั้งหมดถูกคิดสร้างและออกแบบขึ้นภายใต้คอนเซปท์แห่งการ ‘ภาวนาวิถีมือง’ ที่สอดคล้องกับการสร้างสติ สร้างสมาธิ บนเงื่อนไขของเวลาอันจำกัด และวิถีชีวิตของคนเมืองยุคใหม่ กิจกรรมที่น่าสนใจเหล่านั้นมีอะไรกันบ้าง เราได้นำมารวบไว้ให้คุณได้อ่านแล้ว
1. กิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรม
กิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรม เป็นพื้นที่ใหม่ให้บุคคลที่สนใจศึกษาแก่นธรรมผ่านภาพยนตร์ ได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน พูดคุย หลังจากที่ได้ดูหนังที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับชีวิตและมิติของจิตใจ
วันเวลาและสถานที่ : ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์แรกเดือนคู่ เวลา 14.00 – 17.00 น. โดยประมาณ
2. ตุ๊กตาล้มแล้วลุกเพื่อผู้ป่วย
การประดิษฐ์ตุ๊กตาล้มลุก ต้องใช้วิธีเย็บผ้าด้วยมือซึ่งเป็นการฝึกสติและสมาธิให้อยู่กับกิจกรรมตรงหน้าเพื่อให้บรรลุแต่ละขั้นตอนของการเย็บผ้า การประกอบตัวและหัวตุ๊กตาให้แข็งแรงมั่นคงเพื่อคงคุณสมบัติเอนเอียงและกลับตั้งตรงได้ ทำให้กิจกรรมนี้สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้และจินตนาการอย่างเป็นขั้นตอน ตลอดจนสร้างความเข้าใจเจตนาของการประดิษฐ์อย่างมีสติให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม
วันเวลาและสถานที่ : ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือนคู่ เวลา 13.00 -17.00 น. ณ โถงกิจกรรม ชั้น 1
3. พัดธรรมคลายใจเพื่อผู้ป่วย
ร่วมส่งกำลังใจและความปรารถนาดีให้แก่ผู้ป่วย ด้วยข้อความให้กำลังใจ ธรรมะ ข้อคิด พร้อมวาดภาพสวย ๆ ด้วยสีอะครีลิค ลงบนพัดสปริง เพื่อกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วย เครือข่ายชีวิตสิกขา และเพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ป่วย ในขณะเดียวกันผู้ร่วมทำจะฝึกภาวนาเจริญสติ สมาธิ สร้างเมตตา กรุณา ผ่านการทำงานศิลปะงานฝีมือ พิจารณาเห็น รู้ทัน ในอาการเคลื่อนไหวของกายและใจ
วันเวลาและสถานที่ : ทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่สี่ของเดือนคี่ เวลา 10.00 – 13.00. น. โถงกิจกรรม ชั้น 1
4. ดอกไม้ภาวนา
กิจกรรมที่ใช้การจัดดอกไม้มาเป็นกระบวนการศึกษาธรรมะ นำจิตของผู้เข้าร่วมให้เรียนรู้กิเลสของคนกับการจัดดอกไม้ตามที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ในเรื่อง “ดอกไม้จัดคน” กระบวนการจะทำให้เกิดการมองด้านในและจะเริ่มเห็นตัวเองอย่างที่เป็น โดยผ่านบทภาวนาและบทกลอนของท่านพุทธทาส เพื่อนำไปสู่การละความยึดมั่นและปล่อยวาง
วันเวลาและสถานที่ : ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สองของเดือนคู่ เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 3
5. สีน้ำภาวนา
กิจกรรมนี้ไม่ได้เน้นสอนเทคนิคการวาดภาพสีน้ำ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลงานว่าต้องเหมือนหรือต้องสวย หากแต่ใช้การวาดพู่กันระบายสีน้ำนี้เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้สภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ทั้งในเรื่องของสมาธิ การรับรู้ ความรู้สึก ความผ่อนคลาย ความสนุก ความกังวล หรือความคิดต่าง ๆ นานา อีกทั้งให้เห็นความสัมพันธ์ในการทำงานของร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดการสร้างผลงานออกมาในลักษณะที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
วันเวลาและสถานที่ : ทุกวันอาทิตย์ที่สี่ของเดือนคี่ เวลา 9.00 – 12.30 น. ชั้น 2 บริเวณลานไม้หอม
6. เพนท์ถุงผ้าหาแก่นธรรม
ร่วมเรียนรู้ธรรมะและพัฒนาสมาธิด้วยการเจริญสติภาวนา ผ่านการเพนท์ถุงผ้าใส่ขวดน้ำให้น้อง เพื่อเปิดโอกาสให้จิตอาสาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ สร้างงานศิลปะด้วยการวาดภาพบนถุงผ้า ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านใช้สอย และสร้างกำลังใจให้แก่เด็กด้อยโอกาส ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ก็สามารถร่วมกิจกรรมได้
วันเวลาและสถานที่ : ทุกวันพุธสัปดาห์แรกของเดือนคู่ เวลา 13.00 – 16.00 น. โถงกิจกรรม ชั้น 1
7. ถักรักปันอุ่นแด่พี่น้องบนดอย, ถักรักเติมใจแด่ผู้ป่วยมะเร็ง
กลุ่มจิตอาสาในเครือข่ายชีวิตสิกขา กลุ่ม ‘สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก’ ได้จัดให้มีกิจกรรมเล็ก ๆ ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ยุ่งยากและสามารถแบ่งปันถ่ายทอดสู่จิตอาสารุ่นใหม่ ๆ ที่มีใจรักงานจิตอาสา พร้อมสร้างความเข้าใจเรื่องการสละเวลาและลงแรงมาร่วมทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ฝึกภาวนาเจริญสติ สมาธิ ผ่านการทำงานศิลปะ งานฝีมือ พิจารณาเห็น รู้ทัน ในอาการเคลื่อนไหวของกายและใจในขณะปัจจุบันของการทำงานถักหมวก ไหมพรม ผ้าพันคอ สำหรับผู้คนบนดอย และผู้ป่วยมะเร็ง
วันเวลาและสถานที่ : ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สี่ของเดือนคู่ เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ โถงกิจกรรมชั้น 1
8. โยคะภาวนา
ฝึกภาวนาในขณะฝึกโยคะ ด้วยความเสถียร สุข อยู่กับตัวเองด้วยความพยายามแต่เพียงน้อยและปล่อยวาง กิจกรรมนี้นำท่าอาสนะต่าง ๆ มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เน้นการคัดเลือกท่าที่ไม่ยากเกินไป เพื่อให้ทุกคนสามารถทำได้ นอกจากการฝึกท่าแล้วเป็นการพัฒนาจิต ช่วยบริหารร่างกาย ปรับสมดุล ระบบต่าง ๆ ของร่างกายให้สมดุล
วันเวลาและสถานที่ : ทุกวันเสาร์สัปดาห์แรกของเดือน เวลา 9.00 – 12.00 น. ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น 2
9. ถักไม้กวาดภาวนา
ร่วมเรียนรู้การถักไม่กวาด อุปกรณ์ที่ช่วยทำให้พื้นบ้านชานเรือนของเราสะอาดหมดจด เรียนรู้ทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการเลือกดอกหญ้าอันเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ไปจนกระทั่งการถักทอเป็นแผง การตัดขอบให้ริมดอกหญ้าเท่ากันเพื่อการใช้งาน ล้วนเป็นขั้นตอนที่ต้องการความละเมียด และความใส่ใจในรายละเอียด ตรงนี้เองทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมต้องใช้สมาธิ และความเงียบ จดจ่ออยู่กับขั้นตอนเหล่านี้อย่างสันโดษ เมื่อผลิตเสร็จยังได้ทำบุญต่อด้วยการนำไม้กวาดเหล่านี้บริจาคให้กับวัดและสถานสาธารณะได้นำไปใช้ต่อ
วันเวลาและสถานที่ : ทุกวันเสาร์สัปดาห์แรกของเดือน เวลา 9.00 – 17.00 น. ณ สวนพุทธธรรม