RoboKind : หุ่นยนต์มีหัวใจ
แทนการคิดค้นหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนมนุษย์ได้ทุกอย่าง บริษัทผลิตหุ่นยนต์ระดับแนวหน้าของสหรัฐอเมริกา “Robokind” กลับมุ่งเน้นพัฒนาการแสดงสีหน้าของหุ่นยนต์เพื่อให้หุ่นยนต์ดูมีชีวิตจิตใจมากที่สุด
พันธกิจของทีม Robokind คือการออกแบบและสร้างสรรค์หุ่นยนต์ที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับหุ่นยนต์อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น หุ่นยนต์ของ Robokind สร้างมาจากพื้นฐานและเป้าหมายสำคัญคือ การช่วยให้ผู้คนเรียนรู้และเติบโต
“ไมโล” คือหุ่นยนต์ชื่อดังของ Robokind ซึ่งมีความสูงเพียงสองฟุตหรือประมาณหกสิบเซนติเมตร ผมสีน้ำตาลช็อกโกแลต ใบหน้ายิ้มแย้มและเป็นมิตร สวมชุดอวกาศสีเทาและรองเท้าส้นตึก อยู่ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “Robots4Autism”
ไมโลได้รับการออกแบบและตั้งโปรแกรมให้พูดช้ากว่ามนุษย์ ภารกิจสำคัญของไมโล คือการช่วยสอนและพูดคุยกับเด็ก ๆ ที่เป็นโรคออทิสซึมหรือผู้ป่วยออทิสติกให้ได้เรียนรู้และมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารและการเข้าสังคม เหตุผลที่หุ่นยนต์อย่างไมโลเหมาะแก่การพูดคุยและสอนเด็ก ๆ กลุ่มนี้เพราะไมโลอดทนเป็นเยี่ยม หากต้องพูดประโยคเดิมซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่มีอาการหัวเสีย ใบหน้ายิ้มแย้ม น้ำเสียงที่ผ่อนคลาย ช่วยให้ความบกพร่องในการเรียนรู้และการสื่อสารของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้รับการเยียวยาทั้งในโรงเรียนและในชีวิตประจำวัน
Robots4Autism ได้รับการออกแบบและมีแบบฝึกหัดช่วยสอน เพื่อบำบัดอารมณ์ของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ให้มั่นคงและดีขึ้น รู้จักการแสดงออกอย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น กระตุ้นการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุระหว่าง 5-17 ปี ที่ต้องการทักษะพื้นฐานในการเข้าสังคม
โดยไมโลได้รับการออกแบบให้สามารถพูดคุยและสอนเด็ก ๆ ได้เป็นระยะเวลาสามปี โปรแกรมง่ายต่อการใช้งาน ไมโลไม่ได้ถูกจำหน่ายให้แก่ผู้ปกครองโดยตรง แต่จำหน่ายแก่โรงเรียนหรือชุมชนที่ต้องการหุ่นยนต์ไว้สำหรับบำบัดเด็กกลุ่มออทิสติก
ไมโลจะสอนพูด และจะมีภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ ปรากฏบนจอตรงหน้าอก ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจได้ดีขึ้นว่าพวกเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไรตลอดบทเรียน ไมโลจะชักชวนให้เด็ก ๆ ดูวิดีโอความยาวประมาณ 4-5 วินาที ซึ่งวิดีโอเหล่านี้จะแสดงทักษะ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ระหว่างบทเรียน เด็กทุกคนจะได้รับคำถามให้ตอบว่า ดีหรือไม่ดี เพื่อระบุว่าพฤติกรรมในวิดีโอนั้นเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งระหว่างการเรียนรู้กับไมโลควรมีครูหรือนักบำบัดดูผู้ป่วยออทิสติกไปด้วย โดยเฉลี่ยแล้วควรเรียนครั้งละประมาณ 30-60 นาที อย่างน้อยสามครั้งต่อสัปดาห์
ในเมืองไทยเราเองนั้น ผู้ป่วยออทิสติกได้รับการช่วยเหลือและบำบัดจากชุมชมหรือสังคมค่อนข้างน้อย ทั้งที่จริง ๆ แล้วผู้ป่วยกลุ่มนี้หากได้รับการเยียวยาหรือดูแลอย่างใกล้ชิด พวกเขาสามารถมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และการแสดงออกที่ดีขึ้นได้ ไม่รู้ว่าจะมีบริษัทหุ่นยนต์ในเมืองไทยพัฒนาหุ่นยนต์ให้หันมาพูดคุยและสอนเด็กออทิสติกไทยกันบ้างไหม