Top

กรณ์ จาติกวณิช : The Wisdom of Equality

กรณ์ จาติกวณิช : The Wisdom of Equality

Text: Boonake A.

Photo: Vriya L.

 

 

 

กรณ์ จาติกวณิช

The Wisdom of Equality

เป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้วที่สังคมการเมืองของประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ ‘สูญญากาศ’ อย่างเงียบงัน ทำให้อดีตนักการเมืองที่เคยมีบทบาทเข้มข้นในเวทีการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ต้องเข้าสู่สภาวะว่างงาน ซึ่งในช่วงเว้นวรรคอย่างนี้หลายคนเลือกที่จะไปดำเนินชีวิตตามที่ตนเองต้องการ หรือทำงานไซด์โปรเจกต์ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่มุมมองความคิดที่ตนเองมี

            ‘กรณ์ จาติกวณิช’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นกัน ที่เขาได้ใช้เวลานี้อย่างมีคุณค่าด้วยการพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ทโซน กระโดดไปทำงานต่าง ๆ อันหลากหลาย ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการฟินเทค สตาร์ทอัพ ในฐานะประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย และบทบาทของการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ปลุกปั้นข้าวแบรนด์ ‘อิ่ม’ ข้าวออร์แกนิคระดับพรีเมียม เพื่อยกระดับชาวนาตามแนวทางความคิดแบบ Social Enterprise ด้วยความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมประเทศไทยให้ปราศจากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส เกิดเป็นความเท่าเทียมตามวิถีทางประชาธิปไตยที่เขาเชื่อมั่น

ด้วยความมุ่งหวังและปณิธานอันแน่วแน่ตามที่เราได้กล่าวไป เป็นเหตุผลที่ตั้งต้นนำให้ MKT Event ต้องมานั่งแบบเจาะลึกคุยกับเขาว่า ทั้ง 2 โปรเจกต์ที่ว่านั้นจะสามารถยกระดับชีวิตของคนและสังคมของประเทศไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไรในอนาคต ซึ่งเราเชื่อว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยทำให้คุณมองเห็นตัวตน ความคิด จิตวิญญาณ และวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาของกรณ์ในวันนี้ได้อย่างชัดเจน

 

 

MKT Event  : หลักใหญ่ใจความของฟินเทคสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้อย่างไร

กรณ์ : ในประเทศไทยมีการประเมินว่าประมาณ 22% ของประชากรไม่สามารถเข้าถึงการบริการธนาคารได้ แล้วบัญชีหุ้นก็ยังมีอยู่เพียงแค่เป็นหลักแสนบัญชีเท่านั้นที่แอคทีฟมีการซื้อขายทุกเดือน ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนอีกจำนวนมากยังไม่ได้รับบริการทางการเงินในระดับที่ควร แต่ด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนซึ่งทุกคนมี ทำให้วันนี้คุณมีเงินออมเดือนละแค่หลักร้อย ก็สามารถที่จะพิจารณาช่องทางการลงทุนผ่านตลาดทุนรูปแบบต่าง ๆ ได้ หรือสามารถเข้าถึงการขอคำปรึกษาในเรื่องการบริหารภาษีของตัวเองได้ เพราะว่ามันมีค่าลดหย่อนภาษีด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เขาเปิดช่องไว้ให้ แต่เราอาจไม่รู้ หรือรู้แต่เลือกใช้บริการไม่ถูก ว่าจะเลือกช่องทางไหนที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเรา บริการและคำปรึกษาเหล่านี้นี่แหละที่คุณสามารถรับผ่านฟินเทคได้

 

MKT Event  : ในฐานะประธานชมรมฟินเทค คุณมองว่าความเข้มข้นของมันจะมีมากแค่ไหนในปี 2017

กรณ์ : ผมว่ามันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ก็ดูได้จากอันดับแรกตอนนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มตื่นตัว ทั้งยังมีการปรับมายด์เซตในการมองฟินเทคใหม่ แทนที่จะไปปฏิเสธ พยายามกีดกัน หรือต่อสู้ มาเป็นการมองว่าสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับนวัตกรรมนี้ได้ ซึ่งตัวธนาคารเองก็จะได้ประโยชน์จากการมีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ เพื่อดูแลกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในมือให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นเครื่องมือที่สามารถทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ ณ ปัจจุบันยังไม่เป็นลูกค้าของธนาคาร

 

MKT Event  :  Jamie Dimon ซีอีโอของเจพี มอร์แกน บอกว่า “วันนี้คู่แข่งของเจพี มอร์แกน ไม่ใช่ธนาคารด้วยกัน แต่เป็นฟินเทค สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้น” คุณมีความคิดเห็นอย่างไร

กรณ์ : คุณรู้ไหมว่าเจพี มอร์แกน มีการลงทุนทางด้านฟินเทคมากที่สุดนะ เขาลงทุนปีละหมื่นล้านดอลลาร์ในเทคโนโลยีนี้ คือตอนนี้ถ้าคุณไปเจพี มอร์แกน ที่สำนักงานในบรู๊คลิน คุณจะไม่รู้สึกเหมือนเข้าไปสถาบันการเงินเลยนะ บรรยากาศมันจะเหมือนบริษัทสตาร์ทอัพฟินเทคมากกว่า คือเขาทำงานเหมือนผู้ให้บริการฟินเทค เขามีพนักงานฟินเทคไว้คอยดูแลคุณ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันสะท้อนในประเด็นที่ผมเพิ่งพูดไปเมื่อสักครู่ ก็คือคุณเจมี่ ไดมอนด์เขาตระหนักว่าอนาคตคือเทคโนโลยี ความหมายของสิ่งที่เขาพูดคือถ้าไม่ทำอะไรเลย  เจพี มอร์แกน ก็จะถูกคนอื่นมาแข่งขัน รวมถึงการถูกท้าทายด้วยปัจจัยทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ดังนั้นเขาจึงต้องทำตัวให้เสมือนกับเป็นฟินเทคสตาร์ทอัพก่อน เพื่อที่จะเป็นผู้ได้ประโยชน์ แทนที่จะเป็นผู้เสียประโยชน์

 

MKT Event  : แล้วฟินเทคสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจเชิงมหภาคและจุลภาคของไทยได้อย่างไร

กรณ์ : ล่าสุดมีผลสำรวจจากต่างประเทศที่ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้เป็นอันดับที่ 3 ในโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย โดยที่สถิติชี้ให้เห็นว่าคนไทยที่รวยที่สุด1% เป็นเจ้าของทรัพย์สินเกือบ 60% ของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเกลียดมาก และความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นเกิดจากการขาดโอกาส มันหมายถึงโอกาสการได้รับการศึกษาที่ดี ถ้าคุณไม่ได้โอกาสในการได้รับการศึกษาที่ดี โอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จในชีวิตเกือบจะไม่มี และอีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องของโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน ต่อให้เก่งแค่ไหน คุณไม่มีทุน คุณก็ทำอะไรไมได้ ซึ่งประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของโอกาสการเข้าถึงทุนที่สูงมาก สองประเด็นนี้คือประเด็นที่ผมมองว่าทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำ อันนี้ยังไม่นับรวมถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องของนโยบายภาครัฐอื่น ๆ อีกนะ ทั้งนโยบายที่เราพูดกันถึงเรื่องการปฏิรูปภาษี ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักทีแม้แต่รัฐบาลนี้ พูดถึงภาษีที่ดิน เอาเข้าจริงก็ล้มไป ซึ่งตรงนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนที่มีก็เพิ่มความได้เปรียบไปเรื่อย ๆ กฎหมายเรื่องของการควบคุมให้มีการแข่งขันก็ดูเหมือนว่าไม่ส่งผลเพราะไม่เคยมีการบังคับใช้ ทำให้ทุนใหญ่ได้เปรียบทุนเล็กต่อไป เมื่อระบบการบริหารจัดการมันเป็นอย่างนั้น ผลมันก็ต้องออกมาแบบนี้

 

MKT Event  :  หมายความว่าฟินเทคจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในวันนี้

กรณ์ : ได้บ้างครับ เทคโนโลยีฟินเทคที่เกิดขึ้นในสังคมเรา ณ วันนี้ อาจจะเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตอาจจะมีส่วนสำคัญในการที่จะตอบโจทย์ปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงิน อาจทำให้ SME, ผู้ประกอบการขนาดเล็ก, ประชาชน ที่ไม่มีหลักประกันสามารถเข้าถึงแหล่งเงินแหล่งทุนได้โดยสะดวกขึ้น ซึ่งตรงนี้คือความเปลี่ยนแปลงในส่วนของปัญหาสังคมที่อาจถูกแก้ไขได้ด้วยนวัตกรรมนี้ในอนาคต

 

MKT Event  : เท่าที่ฟังคุณพูดมา แนวคิดของฟินเทค มันคล้ายกับกระบวนการทางประชาธิปไตยที่เน้นเพื่อให้อำนาจประชาชน ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อเข้าถึงโอกาสทางสังคมใช่ไหม

กรณ์ : ใช่ คำนี้ถูกต้องเลย ผมมองว่าฟินเทคคือกระบวนการ Democratization ของ Financial System คือการทำให้ระบบการเงินมีความเป็นประชาธิปไตย คือมีความแฟร์ มีการเข้าถึง มีความโปร่งใส ทั้งหมดนี้คือฟินเทค ซึ่งสิ่งที่เป็นผลตามมามันจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เขากุมระบบ กุมความได้เปรียบอยู่ ณ ปัจจุบัน ข้อมูลเหล่านี้มันเป็นแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับรายใหญ่ แต่ในท้ายที่สุดผลรวมต่อประชาชน ต่อสังคมโดยรวม ถือว่าเป็นผลทางบวกทั้งสิ้น

 

MKT Event  : เมื่อฟินเทคเป็นเสมือนกระบวนการประชาธิปไตย แต่ทำไมนวัตกรรมนี้ถึงเจริญเติบโตได้ดีในประเทศสังคมนิยมอย่างประเทศจีนล่ะ

กรณ์ : ในเคสของประเทศจีนผมว่าน่าสนใจที่สุด อย่างแรกคุณต้องไม่ลืมนะว่าจีน สภาพเศรษฐกิจ สังคม เขาพัฒนามาจากจุดไหน เปรียบเทียบกับไทยที่ระบบธนาคารพาณิชย์บวกกับธนาคารของรัฐครอบคลุมและมีการฝังรากลึกลงไปในระบบเศรษฐกิจของเรามายาวนาน แต่ที่จีนไม่เป็นอย่างนั้น เขากระโดดมาจากระบบคอมมิวนิสต์ข้ามขั้นตอนจากแบงค์สู่ฟินเทคเลย แล้วอยู่ดี ๆ คนจีนทุกคนมีสมาร์ทโฟนที่สามารถเข้าถึงบริการทางด้านอินเตอร์เน็ตได้ ในขณะที่รัฐบาลจีนเองก็มีนโยบายส่งเสริม ปกป้อง และส่งเสริมสตาร์ทอัพ, อีคอมเมิร์ช และฟินเทค ของเขาเองด้วย ก็ทำให้เขาสามารถที่จะกำกับดูแลไม่ให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามายึดหัวหาดเขาได้ ก็คือพูดง่าย ๆ เปิดตลาดให้กับผู้ประกอบการจีนในการสร้างกิจการของตนขึ้นมา ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจว่าฟินเทคระดับต้น ๆ ในโลกตอนนี้ จึงไปอยู่ที่จีน นั่นก็เพราะเขานิยมใช้ ซึ่งคนจีนไม่ต้องเลือกระหว่างจะใช้บริการธนาคารหรือใช้บริการฟินเทค เพราะเขาไม่เคยมีธนาคารให้ใช้บริการอยู่แล้ว การยอมรับ ความคุ้นเคย และการเปลี่ยนผ่านจึงมีความเป็นธรรมชาติกว่าประเทศที่มีระบบธนาคาร

 

MKT Event  : แล้วประเทศไทยที่ฟินเทคดูเหมือนกำลังเริ่มต้น สามารถนำโมเดลและการสร้างนวัตกรรมด้านนี้จากจีนมาประยุกต์ใช้ได้หรือไม่

กรณ์ : ผมว่าเรามองทางด้านนโยบายดีกว่า เรายังไม่ต้องเทียบกับจีน เพราะจีนมีลักษณะที่ไม่เหมือนใคร อิทธิพลของรัฐเหนือตลาดก็มีสูง ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ก็เอาแค่เพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็พอ แค่นี้ก็เห็นความแตกต่างแล้วครับ มาเลเซียกระทรวงการคลังมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เขาเรียกว่า MaGIC (Malaysia Global Innovation & Creativity Centre) ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมฟินเทค หรืออย่างสิงคโปร์ที่ลงเงิน 200 กว่าล้านดอลลาร์ในการตั้งหน่วยงานชื่อ Bash(Build Amazing Startups Here) ไว้เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพฟินเทคโดยตรง รวมถึงแบงค์ชาติของเขาออกมากึ่งบังคับธนาคารเลยว่าต้องเปิดระบบ API ของตัวเองให้กับฟินเทคเชื่อมต่อได้ เพื่อที่จะเข้าถึงและให้บริการลูกค้าของแบงค์ได้

 

MKT Event  : แล้วการพัฒนาในการสร้างนิเวศวิทยาของฟินเทคบ้านเราเป็นอย่างไรในปีที่ผ่านมา

กรณ์ : ก็ดีขึ้น แต่ว่าไม่ได้ดีขึ้นในสปีดที่ควร คือผมคิดว่าถ้าเรามียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและมีการบริหารจัดการที่มีเอกภาพมากกว่านี้ เราจะไปได้ไกล และเร็วกว่านี้อีกเยอะ

 

MKT Event  : สปีดที่ช้าจะทำให้ประเทศไทยตกรถทางเทคโนโลยีเหมือนเรื่อง 4G หรือเรื่องทีวีดิจิทัล เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาไหม

กรณ์ : คงไม่ถึงขนาดนั้นครับ เพียงแต่สปีดในการพัฒนาของเราจริง ๆ ควรเร็วกว่านี้ได้ เพราะติดปัญหาตรงที่การทำงานของหน่วยงานด้านนี้ของเรายังไม่มีความเป็นเอกภาพเท่าที่ควร นั่นคือสาเหตุที่ฝ่ายผู้ประกอบการถึงได้คุยกันว่าเราควรจะจัดตั้งรวมตัวกันเป็นสมาคม อย่างน้อยก็ยังมีเสียงที่ชัดเจน แล้วพอมีสมาคมขึ้นมาก็ต้องยอมรับว่าระยะเวลามันก็แค่ 4 เดือนเอง แต่เราก็สามารถทำอะไรได้เยอะ อย่างน้อยในส่วนของฝ่ายกำกับฝ่ายภาครัฐเองเขามีความรู้สึกว่ามันมีตัวตนที่เขาจะคุยได้ด้วย ก่อนหน้านี้เขาไม่รู้คุยกับใคร

 

MKT Event  : ในฐานะประธานชมรมฟินเทค ปี 2017 คุณวางนโยบายในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมไว้อย่างไร

กรณ์ : ก็คงทำงานตามเป้าหมาย 4 ข้อที่ประกาศไว้ คือ เพิ่มการเข้าถึง, ลดต้นทุนการใช้บริการ, ส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่โปร่งใส และส่งเสริมให้ฟินเทคไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ส่วนในสเต๊บต่อไปที่มีความสำคัญคือการจัดตั้งทั้ง Sand Box กับทางแบงค์ชาติ และ กลต.เป็นโครงสร้างฟินเทคที่ให้บริการทั้งการเงินและการลงทุน สามารถฟูมฟักและพัฒนาทดสอบการดูแลลูกค้าด้านการเงินในนี้ได้ นอกจากนั้นก็มีการคุยกับทางกระทรวงการคลังที่จะตั้ง National Sand Box ขึ้นมา ซึ่งกระทรวงการคลังก็สนับสนุนเต็มที่ แต่วิธีการสนับสนุนของกระทรวงการคลังก็คือจะสนับสนุนผ่านธนาคารของรัฐก็คือ SFIs (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ซึ่งมีธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตร, ธนาคาร SME เป็นแกน เหล่านี้เขาก็เห็นประโยชน์ว่าฟินเทคช่วยเขาได้เยอะ ผมเชื่ออย่างนั้นว่า National Sand Box นี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยส่งเสริมฟินเทคโดยตรง ตรงนี้จะมีผลมากในการหาคำตอบว่าปี 2017 นวัตกรรมฟินเทคของเราจะไปได้ถึงไหน

 

MKT Event  : ในส่วนธนาคารรัฐฯ ฟินเทคจะไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้เขาได้ในรูปแบบไหน

กรณ์ : ในส่วนของผู้ใช้บริการธนาคารของรัฐ ต้องบอกเลยว่าความเจ็บปวดเยอะมาก ฉะนั้นแนวโน้มโอกาสที่ฟินเทคจะมาเสริมเติมให้เต็มมีมากกว่าแบงค์พาณิชย์อีก ผมก็ให้ความคิดเห็นว่าในการทำงานของเขาทั้ง Back Office, Front Office เขาเห็นความด้อยประสิทธิภาพหรือ Pain Point ของทั้งตัวเขาเองในฐานะพนักงานหรือ Pain Point ในมุมมองของประชาชนที่มาใช้บริการตรงไหนบ้าง? ซึ่งเขาก็เห็นและลิสต์ออกมาเป็นข้อ ๆ  ตั้งแต่คิวยาวเกินไป ไล่ไปจนถึงวิธีตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า ผมก็เสนอเลยว่าไอ้ปัญหาที่คุณเห็น ฟินเทคสามารถเข้ามาช่วยได้ คุณก็เอา Pain Point โยนลงมาใน Sand Box แล้วเดี๋ยวจะมีคนมาหาทางแก้ให้ ซึ่งอาจจะเป็นพวกคุณเองคิดกัน ปัญหานี้ความจริงมันแก้ได้ยังไง ลองมาทดสอบกัน ตั้งระบบการแก้ปัญหานั้นขึ้นมาใน Sand Box นี้ พอแก้ได้อนาคตอาจสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นธุรกิจในตัวของมันเองก็ได้

 

MKT Event  : อันนี้รวมถึงกลุ่มฟินเทคสตาร์ตอัพที่จะมาร่วมกันแก้ไขให้เขาด้วยใช่ไหม

กรณ์ : ใช่ครับ ฟินเทคสตาร์ทอัพ จะสามารถเข้ามาใน Sand Box เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเปิดกว้าง อย่างกลุ่มฟินเทคสตาร์ทอัพที่เราเพาะบ่มไว้ในโครงการ ก็พร้อมที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่

 

MKT Event  : ทีนี้เรามาพูดถึงข้าว ‘อิ่ม’ โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

กรณ์ : ปรัชญาของข้าว ‘อิ่ม’ ก็คือทำอย่างไรให้ได้ข้าวดี ๆ เป็นที่ยอมรับ สามารถขายได้ราคาสูงขึ้น คือข้าวหอมมะลิไทยเพิ่งได้รางวัลอันดับหนึ่งข้าวดีที่สุดในโลก แต่ทำไมผู้ผลิตข้าวที่ดีที่สุดในโลกต้องกลายเป็นคนจนที่สุดในโลก ผมเชื่อเลยว่าคนที่ผลิตไวน์ที่ดีที่สุดในโลก ผลิตกาแฟ ผลิตซิการ์ที่ดีที่สุด เขาต้องรวยกันหมดถูกไหม จะมีก็แต่ผู้ผลิตข้าวที่ดีที่สุดในโลกเท่านั้นที่ยังจนอยู่ ความคิดนี้ต่อยอดให้ผมได้เข้าไปคุยกับชาวบ้านที่บ้านหนองหิน จังหวัดมหาสารคาม ว่าเราจะพยายามขายข้าวของเขาที่เป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลกให้เป็นสินค้าพรีเมียมให้ได้

 

MKT Event  : คำว่า “ข้าวพรีเมียม” ของข้าว ‘อิ่ม’ มีหลักเกณฑ์อย่างไร

กรณ์ : คำว่าดีขึ้นอีกในที่นี้หมายความว่า ตัวชี้วัดความดีของอาหาร นอกจากรสชาติแล้ว ส่วนหนึ่งคือเรื่องความปลอดภัย เพราะฉะนั้นเลิกใช้สารเคมี เลิกใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดที่หาได้ ทุกขั้นตอนต้องถือว่าพรีเมียม และอีกส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการจะสร้างความพรีเมียม ก็คือการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต ซึ่งจะเชื่อมโยงกันได้ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ส่วนหนึ่งของความไว้เนื้อเชื่อใจก็คือความมั่นใจในส่วนผู้บริโภคว่าสินค้าพรีเมียมที่เขากำลังซื้ออยู่นี้เป็นสินค้าที่ผ่านการผลิตโดยเกษตรกรจริงทุกขั้นตอน แม้แต่ผ้าที่เราใช้ห่อถุงข้าวก็คือผ้าที่เขาทอเอง เชือกที่ร้อยรัดถุงเขาก็ผลิตเอง ทุกขั้นตอนมาจากมือชาวนาทั้งสิ้น สตอรี่เหล่านี้ทำให้ผู้ซื้อมีความรู้สึกโอเค แพงหน่อยแต่ฉันกล้าจ่าย ซึ่งคำว่าแพงหน่อยก็คือแพงกว่าข้าวธรรมดาตามชนชั้นกลางส่วนใหญ่ทุกคนสามารถจ่ายได้ 120 บาทต่อกิโล เพื่อซื้อข้าวกินได้ เหมือนกับชนชั้นกลางสามารถซื้อกาแฟกินถ้วยละร้อยกว่าบาทได้ทุกวัน

 

MKT Event  : แต่มันก็ยากที่จะทำให้คนเปลี่ยนความคิดได้อย่างนั้น

กรณ์ : ใช่ มันเป็นเรื่องของมายด์เซ็ตครับที่เปลี่ยนยาก แต่ผมเชื่อว่าเปลี่ยนได้ ถ้าไม่เปลี่ยน ชาวนาไทยก็ไม่มีทางจะหายจน ถามว่าด้วยสิ่งที่เราทำอยู่ชาวนาในโครงการเราได้อะไร แน่นอนเขาขายข้าวเปลือกได้เกวียนละเฉลี่ยประมาณ 23,000 บาท ปีนี้ที่บอกว่ามีปัญหากัน ข้าวหอมมะลิซื้อขายที่ 6-7 พันบาท นี่เขาไม่ได้สะทกสะท้านหรือมีผลกระทบอะไรเลย เพราะมีผู้บริโภคยอมรับราคาปลีกอยู่แล้วที่ 120 บาทต่อกิโล ไม่ว่าราคาข้าวในท้องตลาดราคาเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ชาวนาในโครงการเราขายได้แน่นอน 23,000 บาท ด้วยราคานั้นเขาอยู่ได้ มีศักดิ์ศรีแน่นอน แต่คำถามที่สำคัญก็คือวิธีการที่ผมทำกับข้าว ‘อิ่ม’ สามารถขยายผลให้กับเกษตรกรทั่วประเทศได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าได้ ซึ่งถ้าจะทำรัฐต้องมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการผลักดัน

 

MKT Event  : การสร้างสินค้าเกษตรพรีเมียม คือโซลูชั่นในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรในความคิดคุณ

กรณ์ : ใช่ครับ แนวทางเรื่องของการยกระดับสินค้าให้เป็นสินค้าพรีเมียม ผมคิดว่าควรเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ แล้วก็ไม่ใช่เพียงแค่ข้าว เราทำได้กับหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ สินค้าเกษตรหลาย ๆ ประเภท เราสามารถสร้างให้พรีเมียมได้ ดูตัวอย่างดีที่สุดก็ญี่ปุ่น เขาสามารถที่จะสร้างค่านิยมให้กับสินค้าพื้นเมืองของเขาได้ยังไง มีการประกวดรายการโทรทัศน์ มีการส่งเสริมโดยท้องถิ่น มีการดูแลกระบวนการผลิตให้เป็นกระบวนการที่มีคุณภาพ ทุกอย่าง ๆ มีส่วนทำให้เรามีความรู้สึกว่าของญี่ปุ่นของดีของพรีเมียม แตงลูกหนึ่งซื้อเป็นหมื่น เป็นแสน มีคนซื้อไหม มี และพร้อมจ่ายทันทีถ้าพรีเมียมจริง

 

MKT Event  : สมมุติว่าคุณเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ จะสร้างยุทธศาสตร์ยังไงให้สินค้าเกษตรให้เป็นพรีเมียม

กรณ์ : ผมมองว่าต้องเปลี่ยนทัศนคติของทุกคนที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ  ด้วยคำถามที่ว่าเรากำลังทำอะไร เรากำลังผลิตสินค้าเกษตร ใช่ แต่สุดท้ายแล้วผมคิดว่าเราต้องเน้นประเด็นข้อเท็จจริงว่าเรากำลังผลิตอาหาร จริง ๆ มันคือกระทรวงอาหารนะ พอเราตอบโจทย์ว่ากระทรวงอาหาร ไม่ใช่เพื่อผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งไม่ได้จบแค่ปลูกข้าวและยกไปขายให้โรงสี จากนั้นแล้วไงต่อ มันคือต้องไปจากนาสู่จาน แล้วถ้าเรามองอย่างนั้น เราก็จะมีคำถามที่ตามมาว่าแล้วจะเป็นอาหารระดับไหน อาหารให้ใครกิน ลูกค้าเราเป็นใคร เขาต้องการอะไร คือมี Customer Conscious  มากขึ้น เมื่อเราเริ่มคิดถึงตัวลูกค้าปลายทาง มันก็จะนำมาสู่การปรับปรุงการพัฒนากระบวนการขั้นตอนและผลผลิต

 

MKT Event  : แบรนด์ข้าว ‘อิ่ม’ สามารถสร้างสิ่งใดให้เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้

กรณ์ : มันก็ทำให้คนตื่นตัวเรื่องการให้ความสำคัญ และสถานภาพความมีศักดิ์ศรีของชาวนามากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือมันเป็นส่วนหนึ่งของการปรับทัศนคติและค่านิยมต่อผลผลิตทางการเกษตรของเรา คือเรื่องข้าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถามว่าเราอยากได้ข้าวที่มีราคาแพงเหมือนญี่ปุ่นไหม ก็ไม่นะ เพราะว่ามันก็ยังเป็นอาหารพื้นฐานสำหรับคนยากคนจนที่ยังต้องซื้อข้าวกิน จริงอยู่ข้าวราคาแพงขึ้น ชาวนาได้ประโยชน์แต่ผู้มีรายได้น้อยที่มีจำนวนไม่น้อยกว่าชาวนา เขาก็เดือดร้อน มันก็เลยเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เป็นคำตอบว่าทำไมรัฐบาลถึงยังต้องใช้เงินภาษีในการชดเชยเสริมรายได้ให้กับชาวนา ดังนั้นวิธีการช่วยชาวนาจริง ๆ ที่อาจจะดีกว่าการทำให้ข้าวราคาแพง ก็คือการเอาเงินภาษีมาช่วยทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะทำอย่างนั้นมันไม่ได้ไปกระทบกับราคาข้าวที่คนยากคนจนเขายังต้องซื้อกิน เพราะมันคืออาหารหลัก คือความละเอียดอ่อน มันไม่ได้ง่าย ๆ แบบที่เราจะบอกว่าหาวิธีปั่นราคาข้าวขึ้นมาเพื่อช่วยชาวนา ดังนั้นโครงการ ‘อิ่ม’ เราถึงได้มุ่งเน้นไปที่ข้าวที่มีคุณภาพเป็นพรีเมียม อย่างข้าวหอมมะลิเราสามารถที่จะส่งเสริมให้เป็นสินค้าพรีเมียมได้โดยไม่ได้ไปกระทบกับคนยากคนจนที่จะต้องซื้อข้าวกิน และนั่นคือสิ่งที่ควรจะทำ มันต้องคิดนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาผมบอกว่าเราควรจะปฏิรูประบบการค้าข้าว จุดเริ่มต้นที่ผมคิดจะทำคือการยกระดับข้าวหอมมะลิ ให้เป็นสินค้าพรีเมียมของประเทศไทยให้ได้

 

MKT Event  : ข้าว ‘อิ่ม’ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม และสามารถสร้างจิตวิญญาณในความเป็น Social Enterprise ได้ใช่ไหม

กรณ์ : จริง ๆ แล้วผมลงพื้นที่คลุกคลีกับชาวนามาเป็น 10 ปีแล้วนะครับ การลงพื้นที่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางความคิดที่ทำให้ผมตัดสินใจทิ้งงานภาคเอกชนมาทำงานเพื่อสังคมในฐานะนักการเมือง พอเป็นนักการเมือง เราก็ปรับมุมมองปรับวิธีคิด พยายามหาแนวทางในการที่จะช่วยประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งผมถือว่าทักษะที่ผมมีก็คือเรื่องของการทำธุรกิจ แล้วผมก็ยังเป็นคนที่เชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือช่วยผ่านกลไกตลาด ช่วยผ่านทักษะการทำธุรกิจ สอนให้เขาทำมาหากินได้ แข่งขันได้ในสภาพบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม คือผมมองว่าทักษะในการทำธุรกิจมันเอามาประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างมากในการบริหารและแก้ปัญหาบ้านเมือง ปัญหาสังคม ซึ่ง Social Enterprise มันก็คือศัพท์สมัยใหม่ที่มีความหมายเดียวกันกับสิ่งที่ผมคิดมาโดยตลอด

 

MKT Event  : ในช่วงเวลาเกือบ 3 ปีที่เว้นว่างจากเรื่องการเมือง วันหนึ่งในอนาคตหากได้กลับไปสู่การเมืองอีกครั้ง คุณจะเอาสิ่งที่ได้จากการทำตรงนี้ไปประยุกต์ใช้สร้างนโยบายทางสังคมอย่างไร

กรณ์ : จริง ๆ มันก็ไม่ว่างนะครับ เพราะมีโครงการที่จะทำเยอะ เพราะตัดสินใจแต่แรกว่าจะพยายามใช้เวลาที่มีอยู่นี้ให้คุ้มค่า ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ก็บอกตัวเองว่า 3 ปีนี้จะเป็นช่วง 3 ปีที่จะได้ทดสอบความคิด ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ทำความรู้จักกับคนกลุ่มใหม่ ๆ ซึ่งก็โชคดีที่ได้มีโอกาสทำเช่นนั้น เพราะฉะนั้นตะกอนความคิดที่ตกผลึกออกมาในตัวผมมันจึงไม่เหมือนเดิม รวมถึงมุมมองทางการเมือง มุมมองต่อปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาประเทศในหลาย ๆ เรื่องก็เปลี่ยนไป ตามบริบทประเทศที่เปลี่ยนไปด้วย แต่จะเปลี่ยนไปในทางไหน ผมจะนำมันไปใช้ประโยชน์อย่างไร อยากทุกคนคอยดูกัน!

mkteventmag
No Comments

Post a Comment