Top

การสร้างนวัตกรรมในงานแสดงสินค้า

การสร้างนวัตกรรมในงานแสดงสินค้า

ดวงเด็ด ย้วยความดี

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานแสดงสินค้า

 

 

นวัตกรรมเป็นผลจากการนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาสู่การลงมือปฏิบัติจนเป็นรูปธรรม นวัตกรรมไม่ใช่เทคโนโลยีที่มีราคาแพงและทันสมัยเพียงอย่างเดียว นวัตกรรมเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่มีความเรียบง่ายแต่นำมาซึ่งความแตกต่างและความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจ องค์ประกอบที่สำคัญของนวัตกรรม   คือ ผู้นำ ทีม ความคิด และแผนงาน องค์กร ที่ผู้นำให้ความสนใจในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ และคอยตั้งคำถามกับทีมงานอยู่เสมอว่า “ทำไมเรายังคงทำสิ่งนี้  ทำไมเราไม่เลิกทำสิ่งนั้น” จะเป็นองค์กรที่มีค่านิยมแห่งการสร้างนวัตกรรม นำทีมมุ่งให้ความสำคัญต่อระบบคิด และการวางแผนในการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ จนการสร้างนวัตกรรมกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร คล้ายกับปรัชญา ของ KAIZEN ที่เน้นว่าการสร้างคุณภาพจนเป็นที่พึงพอใจแก่ลูกค้าโดยปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้ตรงใจลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยแรงผลักของพนักงานทุกคนในองค์กร

คุณวรรณณี สนั่นวัฒนานนท์ GPM คนแรกของงาน METALEX เชื่อว่าคุณภาพและความมีชื่อเสียงของงานแสดงสินค้าที่จะโดดเด่นอยู่ในระดับอาเซียนได้ จะต้องเกิดจากการตั้งคำถามของผู้นำและพนักงานในองค์กรอยู่ตลอดเวลาว่า “ปีนี้ลูกค้าต้องการอะไร และปีนี้มีจะมีอะไรใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า”  งานเมทัลเล็กซ์เป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าที่สำคัญของอาเซียนและเป็นตัวอย่างของ การสร้างนวัตกรรมงานแสดงสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการนำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่องานอุตสาหกรรมจากบริษัทชั้นนำทั้งในเอเชียและยุโรป มาแสดงประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ได้อย่างสอดประสานและกลมกลืนบนเวทีและบนชุดคำสั่งเดียวกัน โดยสลับกันแสดงเทคโนโลยีที่โดดเด่นของตนตามแต่ละจังหวะของคีย์เพลง บนพื้นฐานที่เอื้อประสานมิใช่เป็นแข่งขัน  ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลก สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ภายใต้การจัดการที่เป็นมืออาชีพของทีมงาน

นอกจากนี้ นวัตกรรม ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ปีนี้ เป็นตัวอย่างที่น่ายกย่องในการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมการแต่งกายของ พริตตี้ ซึ่งผู้จัดงานและผู้แสดงสินค้าได้สร้างความฮือฮาพลิกโฉมวงการ โดยร่วมใจกันเปลี่ยนสไตล์การจัดการแต่งกาย ของ พริตตี้  ที่เน้นความเซ็กซี่มาเป็นเน้นความงามอย่างมีคุณค่า ด้วยการแต่งกายเรียบ หรู ดูสงบ แฝงไปด้วยความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เข้ากับบริบทและบรรยากาศของประเทศ เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างความแปลกใหม่จนได้รับเสียงชื่นชม น่าจะถือได้ว่าเป็นผู้นำทางนวัตกรรมด้านพฤติกรรม ของงานแสดงสินค้าแห่งปีทีเดียว

แท้จริงแล้วการสร้างความเปลี่ยนแปลงในงานแสดงสินค้ายังมีพื้นที่ให้ทำได้อีกมาก อาทิ การตั้งคำถามที่ว่าจำเป็นหรือไม่ที่ผู้เข้าชมงานจะต้องลงทะเบียนก่อนเข้างาน ผู้จัดงานจะใช้ประโยชน์และเอื้อประโยชน์ได้อย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้แสดงสินค้าและผู้เข้าชมงาน   ที่หันมาใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าในยุคประเทศไทย 4.0 การเติบโตขององค์กรนอกจากการให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปอีกด้วย

 

รูปภาพ2

ในอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้า ISO 20121:2012, Event Sustainability Management Systems ถือเป็นมาตรฐานแรกและมาตรฐานเดียวในระดับนานาชาติ ที่ผู้จัดงานแสดงสินค้าทั่วโลกจะใช้เป็นมาตรฐาน ในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทย คุณนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ถือได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มรณรงค์ ส่งเสริมให้ผู้จัดงานในกลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จนทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่มีการรณรงค์ในการดูแลสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมไมซ์อย่างเป็นรูปธรรม การรณรงค์ใช้แก้วน้ำและการเติมน้ำดื่มแทนการแจกน้ำขวดพลาสติกในการจัดสัมมนา, การลดหน้ากว้างของพรมที่ใช้ปูบนทางเดินจากสามเมตรให้เหลือเพียงสองเมตร, การใช้บัตรกระดาษแทนบัตรพลาสติกเพื่อเข้าชมงาน, การใช้ iPAD สำหรับผู้เข้าชมงานเพื่อกรอกข้อมูลและแบบสอบถามแทนการกรอกลงบนกระดาษ, การสนับสนุนให้ผู้แสดงสินค้าทำแถบ QR Code บนผนังบูธ เพื่อให้ผู้เข้าชมงานสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดข้อมูลสินค้าได้บนเว็บไซต์ หรือ ดาวน์โหลด ไฟล์ มาเก็บไว้ในรูปแบบดิจิทัลแทนการพิมพ์เอกสารแจกจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นการจัดสร้างนวัตกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ ที่สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

MK25-2

 

นวัตกรรมนั้นมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเสมอ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องมีผู้นำและผู้ตาม ร่วมทำงานกันเป็นทีม โดยการรังสรรค์ความคิดและประสานคนในองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เน้นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สังคม และพฤติกรรมของผู้คน กำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว องค์กรที่สามารถสร้างนวัตกรรมในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที จะเป็นองค์กรที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ที่กล่าวไว้ว่า “หมดยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก เข้าสู่ยุคปลาเร็วกินปลาช้า”

mkteventmag
No Comments

Post a Comment