Top

เป้าหมาย…หรือเป้าหาย

เป้าหมาย…หรือเป้าหาย

“เป้าหมาย…หรือเป้าหาย… มาตรวจเช็คสุขภาพชีวิตกันเหอะ…”

 

สวัสดีต้อนรับปี 2559 ครับ สำหรับสมาชิกทุกท่านที่ติดตามนิตยสาร MKT Event และคอยเป็นกำลังใจให้แก่กันมาโดยตลอด ในส่วนของเนื้อหาของผมในปีนี้ก็จะเน้นในเรื่องของการบริหารงานบุคคลในองค์กรและวิธีบริหารผลงานขององค์กรเป็นหลักครับ ก็จะมีเคล็ด (ไม่) ลับต่าง ๆ ในการทำงานเพื่อเพิ่มค่าความสามารถด้านการทำงานของพนักงานทุกระดับในองค์กร คอยติดตามกันนะครับผม

เริ่มต้นปีในแต่ละปี เรามักจะได้ยินคำว่า “เป้าหมาย” กันอยู่ตลอดใช่ไหมครับ? จนหลายคนเริ่มเบื่อกับการตั้งค่าเป้าหมายเพราะหันไปทางไหนก็จะได้ยินคำพูดที่คุ้นหูอยู่เนือง ๆ อาทิเช่น

– ปีหน้าเราจะเป็นคนดี

– ปีหน้าเราจะเป็นหัวหน้าที่ดี / จะเป็นลูกน้องที่ดีไม่งอแงกับหัวหน้า

– ปีหน้าจะเริ่มออมเงินแล้วนะ / จะมีบ้านแล้วนะ / จะมีหนี้แล้วนะ 555

– ปีหน้าตรูรรรรรรรรรรจะผอมแล้วนะ

และอีกหลากหลายคำมั่นสัญญากับตัวเองหรือการตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง แต่เท่าที่ผมเห็นคือพอผ่านปีใหม่ไปไม่พ้นเดือน คำสัญญาที่เคยกล่าวกันอย่างจริงจังตอนเคาท์ดาวน์กลับเหลือแต่ความว่างเปล่า มองไปทางไหนก็จับต้องไม่ได้จริง ๆ แล้วที่มันเป็นเช่นนี้เพราะตัวเราเองไม่ค่อยได้ “เช็คสุขสภาพชีวิต” ของตัวเราเท่าไหร่นัก อย่าเพิ่งไปมองเป้าหมายเลยเพราะเท่าที่เห็นอยู่มันน่าจะเป็นเป้าหายเสียมากกว่า

ดังนั้นต้น ๆ ปีแบบนี้เราน่าจะหาเวลา “ตรวจเช็คสุขภาพชีวิต” กันบ้างนะครับว่ามีอะไรเสื่อมสภาพหรือมีสนิมไปบ้างหรือเปล่า

– มีไหมที่การงานของเรากำลังเข้าสู่ภาวะทางตัน ตำแหน่งไม่ขึ้น เงินเดือนไม่ไปไหน เพื่อนร่วมงานไม่ปลื้ม หัวหน้างานไม่มองหน้า

– มีไหมที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเริ่มสึกหรอ เข้าบ้านแต่ละครั้งมีแต่บรรยากาศมาคุแทนที่จะได้เห็นรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะ

– มีไหมสุขภาพของเราเริ่มเดินถอยหลังเจ็บออด ๆ แอด ๆ ไม่แข็งแรง อยู่ในสภาวะที่ควรจะเป็นหาหมอมากกว่าไปเที่ยว

ถ้าตัวเรายังไม่รู้จะตั้งเป้าหมายอะไรให้ตัวเองในปีนี้…สิ่งง่าย ๆ เลยผมว่าคุณผู้อ่านควรลองเริ่มมาตรวจเช็คสุขภาพชีวิตกันดูก่อนดีไหมครับ ว่าการเดินทางของชีวิตที่ล่วงเลยมาจนอายุปัจจุบันมีส่วนไหนที่เริ่มสึกหรอหรือเริ่มสึกกร่อนกันไปบ้าง เพื่อที่ตัวเราจะได้เริ่มซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเริ่มบำรุงรักษา เราจะได้สามารถยกเครื่องชีวิตได้ทันการ มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราไม่ควรมองข้ามเพื่อที่เราจะมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีในการดำเนินชีวิตต่อไป

“เพราะความสุขของการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้คือการที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งจะสามารถสรรสร้างคุณค่าต่อผู้คน ต่อสัตว์ และต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการให้และการรับ มันไม่มีอะไรมากไปกว่าและน้อยไปกว่านั้น”

Admin
No Comments

Post a Comment