Thailand…Thai Brands
หากคุณกำลังอ่านบทความชิ้นนี้อยู่ในเดือนพฤศจิกายน หรือบางคนอาจจะกำลังอ่านมันอยู่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม นั่นหมายความว่าอีกเพียงไม่กี่อึดใจรอ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก็จะถือกำเนิดเปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลอมรวมทุกประเทศในอาเซียนรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
นอกเหนือจากโอกาสทางการค้า การลงทุน การพัฒนาที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์จากการหลอมรวมครั้งนี้ที่ถูกซอยย่อยลงมาสู่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าในบ้านเรา ก็คือมุมมองทางการค้าการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่แตกต่างออกไป
ผลักดันให้เขาเหล่านั้นต้องสร้างวิสัยทัศน์ และกระบวนทัศน์การสร้างแบรนด์ใหม่ไม่จำกัดแค่ในประเทศ แต่เป็นการพาตัวเองไปสู่จุดของการเป็นแบรนด์ระดับโลก หรือที่เราเรียกว่า ‘Global Brand ’
แต่อย่างไรการจะไปสู่สถานะนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์เล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีทุนหนาหรือไม่ได้มีอำนาจวาสนายิ่งใหญ่ นั่นเป็นโจทย์หลักของยุคสมัยที่ใครหลายคนต่างแสวงหาวิธีการ สูตรลับความสำเร็จทุกรูปแบบเพื่อเดินหน้าแสวงหาความมั่งคั่งในโลกแห่งยุคโลกาภิวัฒน์
ทั้งหมดคือเหตุผลในการทำสกู๊ปหลักของ MKT Event ฉบับส่งท้ายปี ที่เรานำเรื่องของวิธีคิดในการพาแบรนด์สินค้าไทยพัฒนาไปสู่ความเป็น Global Brand มาเล่าและวิเคราะห์ให้คุณฟังบนความคิดระหว่างบรรทัดที่ได้รวบรวมมาจากข้อมูล จากสื่อ และจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ
เราหวังว่ามันจะช่วยเพิ่มความคิดใหม่แก่ผู้ประกอบการบ้านเรา ให้สามารถออกแบบวิสัยทัศน์ได้อย่างสอดคล้องลงตัวกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาขึ้นเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเกิดโลกยุค 2.0 เป็นไปตามเทรนด์ ‘Globalization’ บวกกับปัจจัยทางด้านการขนส่ง (Logistic) ที่มีศักยภาพความเร็วเพิ่มมากขึ้นตามยุคสมัย เกิดขึ้นเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านวิสัยทัศน์ทางการค้า การลงทุน ของผู้ผลิตสินค้า มุ่งเน้นไปยังตลาดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อแสวงหาความต้องการสินค้าจากคนกลุ่มใหญ่ในตลาดโลกมากขึ้นกว่าแค่การค้าขายภายในประเทศ (Localize)
นั่นเป็นคำตอบแห่งความเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้ก้าวขึ้นไปสู่ความเป็น ‘Global Brands’ ในระดับโลก ทั้งยังเป็นหนทางเยียวยาให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้แข็งแรงขึ้นจากอาการป่วยไข้ของวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่านั่นเอง ความเป็น Global Brands ดีอย่างไร? เรามีบทวิเคราะห์ของเว็บไซต์ chron.com สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้เสร็จสรรพ
- การทำ Global Branding จะทำให้สินค้าสามารถสร้างการสื่อสารให้สอดคล้องกับชิ้นงานโฆษณา ส่งต่อไปยังผู้บริโภคในประเทศที่คุณทำการค้าขายด้วย และเมื่อความสอดคล้องเกิด สินค้าก็สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สามารถลดความเสี่ยงในการพัฒนาแคมเปญระดับโลก รวมถึงกลยุทธ์การโฆษณา เพื่อให้คุณนำความสำเร็จที่เกิดขึ้นกลับมาใช้ในตลาดภายในประเทศอีกครั้ง
- ความเป็น Global Brand ที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก จะสามารถนำเนื้อหาความเป็นตัวตนของสินค้า มาผสมผสานแนวคิดแบบ Localized ได้ง่ายเพื่อออกแบบการรับรู้ให้เฉพาะเจาะลงไปในยังประเทศต่าง ๆ ได้ดี
- คุณสามารถนำภาพพจน์ของการเป็น Global Brand มาใช้เพื่ออ้างอิงถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้
- ดอกผลของการเป็น Global Brand ที่แข็งแกร่งทำให้คุณสามารถลดต้นทุนในการสร้างแคมเปญทางการตลาด
- รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของสื่อทำให้ง่ายต่อการพัฒนาแคมเปญระดับโลกในราคาไม่แพง เพราะแบรนด์คุณได้รับการยอมรับอยู่แล้ว
เหตุผลทั้ง 6 ข้อน่าจะพอให้คุณได้มองเห็นไอเดียบางอย่างได้อย่างกระชับ และเพิ่มความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าทำไมยุคนี้ใครก็อยากผลักดันสินค้าไปสู่สภาพความเป็น Global Brand กันจังเลย! ทั้งที่จะว่าไปแล้วมันมีราคาค่างวดที่แสนแพงในการพาตัวเองไปสู่จุดนั้น
ในหัวข้อแรกเราทำให้คุณได้เห็นแล้วว่าการเป็น Global Brand นั้นดีอย่างไร ทีนี้เราลองมาดูกันซิว่าสูตรการนำพาแบรนด์ใดซักแบรนด์หนึ่งไปประสบความสำเร็จในตลาดโลก ต้องมีวิธีการเชิงกลยุทธ์ในการผลักดันอย่างไรบ้าง
บทความของ เกวน โมแรน (Gwen Moran) หนึ่งในผู้ร่วมแต่งหนังสือธุรกิจโด่งดังชื่อ ‘The Complete Idiot’s Guide to Business Plans’ เขาได้เขียนถึงประเด็นนี้ไว้ในนิตยสาร Entrepreneur ซึ่งเธอเกริ่นไว้ได้อย่างน่าคิดตอนต้นบทความที่ว่า การจะเป็น Global Brand นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักติดกับความคิดของตนเองว่าแค่มีเว็บไซต์ แค่มีช่องทางการจ่ายเงินออนไลน์ เท่านั้นก็สามารถไปตลาดโลกได้แล้ว
นั่นเป็นความคิดที่ตื้นเขินมาก เพราะหากถ้าคุณฝันจะติดปีกไปเติบโตในดินแดนอื่นที่ไม่คุ้นเคย คุณจะต้องพบอุปสรรคมากมาย ทั้งอุปสรรคด้านภาษาและวัฒนธรรมอันแตกต่าง เป็นจุดลบใหญ่หลวงที่ทำให้หลายแบรนด์แป้กตั้งแต่เริ่มเปิดตัวกันเลยทีเดียว
นั่นจึงเป็นเหตุทีทำให้เธอต้องนำเสนอ 5 กลยุทธ์หลักเพื่อสร้างความเป็น Global Brand อย่างยั่งยืน
1. เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค : พึงสำนึกไว้ว่าสิ่งที่เรียนรู้จากวัฒนธรรมการซื้อในที่ใดที่หนึ่ง มิอาจใช้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติหลักได้ ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่งห้างสรรพสินค้า Walmart กระจายสาขาในประเทศจีน และเลือกที่ตั้งสาขาใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม ผลปรากฏว่ายอดขายตก เพราะคนจีนมีวัฒนธรรมการซื้อของในแหล่งซื้อใกล้บ้านมากกว่าใกล้ที่ทำงาน
2. กำหนดตำแหน่งทางการตลาดให้เหมาะสม : ข้อดีของการกำหนดตำแหน่งทางการตลาดได้อย่างเหมาะจะทำให้คุณทำความเข้าใจคู่แข่งในตลาดได้อย่างถ่องแท้ ทั้งยังสามารถทำให้คุณมองเห็นข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันของแบรนด์ตนเองได้อย่างชัดเจน
3. ล่วงรู้ให้ได้ว่าความหมายของแบรนด์แปลว่าอะไรในภาษาอื่น : การตั้งชื่อแบรนด์เจ้าของควรศึกษาให้ชัดเจนว่าคำที่เลือกสามารถแปลเป็นคำเสื่อม ๆ ในภาษาอื่นได้หรือไม่ ต้องเช็คกันให้รอบคอบ ยกตัวอย่างเช่น ‘Kiri’ แบรนด์ชีสจากฝรั่งเศส คำนี้คล้ายกับคำว่า ‘Kibi’ ที่แปลว่า ‘เละ’ หรือ ‘เหม็นบูด’ ในภาษาฟาร์ซี นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเลือกสีแบรนด์ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม เช่น สีน้ำเงินและสีเขียวเป็นที่นิยมในอเมริกา แต่สีแดงและเหลือง เป็นสีที่ถูกใช้บ่อยกับแบรนด์สินค้าในภูมิภาคลาติน อะไรประมาณนี้
4. คิดให้กว้างขวาง : นอกจากต้องระวังชื่อที่สื่อความหมายเสื่อมในภาษาอื่น ๆ แล้ว หากจะก้าวไปในตลาดโลก คุณต้องกล้าเปลี่ยนให้ชื่อนั้นสื่อความหมายให้กว้างมากที่สุดเพื่อรองรับไลน์ธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่น แบรนด์ ‘Bostan Chicken’ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Boston Market’ เพื่อรองรับการขายสินค้าอื่น ๆ มากกว่าแค่การขายไก่ทอด
5. หาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่ดีให้เจอ : การก้าวไปสู่พรมแดนการขายใหม่คุณต้องหาพาร์ทเนอร์ที่ดีในด้านต่าง ๆ ให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นทนายฝีมือดีเพื่อจัดการเกี่ยวกับเรื่องจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ค้นหาผู้แทนการค้าที่ได้รับการแนะนำจากเพื่อนหรือสำนักงานส่งเสริมการค้าการลงทุนในประเทศของคุณ หาโรงงานผลิตที่เชื่อใจได้ ค้นหาคู่ค้าที่มีชื่อเสียงและเชื่อใจได้ในการสร้างดีลเพื่อกระจายสินค้า ก็จะยิ่งทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้ง 5 ข้อฟังดูอาจจะเป็นสูตรสำเร็จที่ดูง่าย แต่เอาเข้าจริงต้องนับว่ายากมากในเชิงปฏิบัติ เพราะคุณต้องเพียบไปด้วยเงินทุน ทีมงานคุณภาพ วิสัยทัศน์ที่นำสมัย และคอนเนคชั่นระดับทองฝังเพชรในต่างประเทศ นั่นจึงเป็นเหตุให้เราอยากบอกคุณตรง ๆ ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างไรก็ต้องไขว่คว้ากัน หากยังหวังถึงความมั่งคั่งอันยิ่งใหญ่
ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญว่า เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะนำแบรนด์ไทยให้ก้าวขึ้นไปแตะระดับความเป็น Global Brand ได้อย่างมั่นคง ดังเช่นที่ประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือเกาหลีได้ทำให้เห็น ซึ่งหากไม่นับเอาแบรนด์ใหญ่ทุนหนาอย่าง CP สิงห์ หรือช้าง ที่สามารถเดินไปสู่จุดนั้นได้แล้ว กับแบรนด์เล็ก ๆ จะสามารถทำได้หรือไม่? ต้องมีวิธีการอย่างไร? เพื่อนำพาไปสู่จุดนั้น
ด้วยความสงสัยในคำถามที่ต้องการคำตอบ ทำให้เราต้องนัดคุยกับ คุณจิรบูลย์ วิทยสิงห์ – เลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย ในประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ซึ่งเราได้ถอดคำพูดอันเป็นวิธีคิดในการสร้างแบรนด์ไทยไปสู่สากลแบบคำต่อคำมาให้คุณอ่าน
“สถานะของแบรนด์ไทยในตลาดโลก ถ้าเทียบกับประเทศชั้นนำ เรายังล้าหลังจากประเทศพัฒนาอยู่มาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ ลองเทียบกับประเทศจีน ผมเองไปเดินงานแฟร์ที่จีน ช่วงเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเขาไม่เข้าใจว่าการสร้างแบรนด์มันสำคัญอย่างไร แต่วันนี้เขาลงทุนเรื่องนี้อย่างมากด้วยการใช้เงินดึงผู้เชี่ยวชาญเจ๋ง ๆ ไปสอนผู้ประกอบการ จ้างมืออาชีพระดับโลกมาระดมสมอง สร้างสินค้า สร้าง R&D ในการผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเอง เพราะเขารู้แล้วว่าแค่ OEM มันไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืน”
“การยื่นมือเข้ามาช่วยของภาครัฐฯ ในบ้านเราจึงมีความสำคัญมาก อย่างตอนนี้หน่วยงานหลักสำคัญที่ช่วยในเรื่องนี้ได้มากก็คือ ‘สถาบันส่งเสริมการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการค้า’ ของ ‘ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างปัญญาเหล่านี้ให้เกิดขึ้น เพราะเขาเอา Best Practice จากแบรนด์ไทยในตลาดโลกมาเผยแพร่ให้ทุกคนได้เข้าถึง รวมถึงดึงเอาคนที่ประสบความสำเร็จแล้วมาเป็นกองหนุนช่วยปั้นผู้ประกอบการรุ่นต่อไป”
“ตอนนี้ต้องบอกเลยเราได้วางตำแหน่งสินค้าไทยในตลาดโลกได้ดีมาก สิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักแบรนด์สินค้าเราก็คือมีความเป็น Country Brand ที่คนทั่วโลกพูดถึงสินค้าเราในแง่ของ Design, Quality และ Commitment ซึ่ง Commitment เป็นสิ่งสำคัญมาก ก็คือถ้าคุณสั่งของจากไทย คุณจะได้สินค้าที่ออกแบบดี คุณภาพดี มีการจัดส่งตรงเวลา ไม่ผิดสเปค นี่คือชื่อเสียงของสินค้าไทย แล้วถ้าเรามีกระบวนวิธีคิดในการสร้างแบรนด์เข้าไปผนวกด้วยก็จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่”
“การสร้างแบรนด์ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก คุณต้องคิดให้ครบวงจร Identity ของแบรนด์ต้องชัดเจนอยู่เป็นเวลานาน ไม่ใช่ว่าใครทักอะไรที ก็เปลี่ยนที”
“กับคำถามที่ว่าทำไมคนไทยถึงไม่สามารถสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้ ผมมองว่าผู้ประกอบการของเราส่วนใหญ่ไม่มีปณิธานอันแรงกล้า ประกอบกับความอดทนต่ำ ใจไม่แข็งพอในการต้องหอบหิ้วความเป็นแบรนด์นี้ไปอย่างน้อยอีก 7-8 ปี คุณอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมกูเกิ้ลถึงสามารถเปลี่ยนหน้าตาได้บ่อย ๆ ซึ่งตรงนี้คุณต้องเข้าใจว่าที่กูเกิ้ลทำได้เพราะความเป็นไอคอนของกูเกิ้ล การเป็นที่ถูกจดจำได้แล้วของกูเกิ้ล ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องวางโรดแมพเรื่องนี้ให้ชัดเจน มีหลักการที่อ้างอิงได้ อย่าใช้หลักกูคิดเอง เออเอง”
“ผู้ประกอบการเองก็เช่นกัน ส่วนใหญ่เริ่มต้นว่าจะทำอะไร แล้วค่อยมาหาตลาดทีหลัง ถ้าเราเป็นนักการตลาด เราต้องหาก่อนว่าตลาดต้องการอะไร เราถึงจะทำมันออกมาเพื่อเสิร์ฟความต้องการของตลาด ผู้ประกอบการเราเริ่มผิดด้วยการคิดแบบนิมิตรเห็นว่า อยากจะทำอันนี้เพราะเทรนด์กำลังมา ถ้าคิดในมุมของคนทั่วไปก็ถูก แต่มันไม่ถูกในมุมของการตลาด เพราะนักการตลาดก่อนลงมือต้องทำ Marketing Research ก่อน ว่ามันมีตลาดหรือไม่ มีช่องทางอย่างไร วงจรชีวิตของสินค้าเป็นอย่างไร หรือสินค้าตอนนี้อยู่ในช่วงไหน มันมีหลักการของมันอยู่”
“และอีกส่วนที่สำคัญมากก็คือการสร้างองค์ความรู้สาธารณะ เพราะทุกวันนี้ทฤษฎีการสร้างแบรนด์มีหลายตำรามากไป จนผู้ประกอบการสับสน ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีนักคิดสร้างทฤษฎีที่ง่าย ๆ ทำให้เป็นทฤษฎีหลักตรงกลาง เพื่อง่ายต่อการหยิบใช้ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องถามด้วยว่าปลายทางของตัวเองจะไปไหน คิดแบรนด์มาจะทำสปา สีของแบรนด์จะเป็นอะไร ปลายทางของมันที่คุณวางอยู่ที่ไหน เพราะแบรนด์ต้องวางตำแหน่งให้ตัวเอง 20 -30 ปี มันไม่ใช่ทฤษฎีทางการตลาดที่วางไว้ได้แค่ประมาณ 3-5 ปี เป็นเรื่องที่ผมฝากเอาไว้ให้ขบคิด ”
10 Famous Thai Brands in the World
หลังจากที่เราได้นำเสนอแนวคิดและมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแบรนด์ไทยให้ประสบความสำเร็จในตลาดโลกแล้ว คราวนี้ก็มาถึงส่วนที่เราจะทำการแนะนำแบรนด์ไทยทางเลือกที่ประสบความสำเร็จในระดับนั้นให้คุณรู้จัก
ต้องบอกเลยว่าประโยชน์ชัดเจนของการทำสกู๊ปใหญ่ชิ้นนี้ ก็คือทำให้ผมรู้ว่ามีแบรนด์สินค้าของไทยเป็นจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในตลาดโลก บางแบรนด์ประสบความสำเร็จมากทั้งในแง่ของการชนะการออกแบบ ยอดการขาย รวมถึงขั้นตอนการพัฒนาวิจัยอันทันสมัย สร้างเป็นสินค้าระดับเลิศที่ใครก็มิอาจปฏิเสธ
ในจำนวนอันมากมาย เราเลือกนำมาบอกเล่าให้คุณรู้จักจำนวน 10 แบรนด์ใหญ่ ที่นับได้ว่าเป็นหัวหอกสำคัญในการนำแบรนด์ไทยไปสู่สากล ส่วนจะมีใครกันบ้างนั้น บรรทัดต่อไปมีคำตอบ
Qualy : แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าตกแต่งบ้านและรายการของขวัญ ออกแบบสร้างโดยทีมงานนักออกแบบที่สร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมภายใต้แนวคิด “ชีวิตที่มีรูปแบบ” และไม่ได้มีเพียงแค่จุดเด่นที่การออกแบบเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนถูกใจผู้ใช้ทั้งในและต่างประเทศส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศกว่า 50 ประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, ลักซ์เซมเบิร์ก, อิตาลี, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อเมริกา, แคนาดา, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ฮ่องกง ,สิงคโปร์ และเกาหลี
Yothaka : แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อก้องโลก สร้างชื่อเสียงและรายได้เข้าประเทศไทยจำนวนมาก ทุกชิ้นงานของโยธกาถูกสร้างขึ้นจากวิธีคิดในการออกแบบสมัยใหม่ ผนวกเอาภูมิปัญญาตามอย่างวิถีไทยด้วยการใช้วัตถุดิบที่ผลิตขึ้นจากผักตบชวา ย่านลิเภา และใยสับปะรดสอดแทรกลงไปในรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์ ทำให้โยธกาสามารถสร้างความต่างด้วยความเป็นไทยในแบบที่ชาวโลกต้องหันมามอง นำมาซึ่งการส่งออกไปเปิดตลาดทั่วโลกกว่า 48 ประเทศแล้วในวันนี้
Bathroom Design : แบรนด์สุขภัณฑ์ไทยระดับชั้นนำที่แสดงตัวตนให้โลกเห็นว่าสุขภัณฑ์ของไทยมีนวัตกรรมที่นำสมัย และการออกแบบสวยงามอันโดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก พร่างพราวไปด้วยรางวัลการออกแบบระดับโลก อาทิ รางวัล IF Product Design Award ในปี 2007 จากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทแรกในเอเชียที่ได้รับรางวัลนี้ รวมถึงรางวัล Reddot Design Award Winner จากประเทศเยอรมนี, รางวัล GMARK จากประเทศญี่ปุ่น และรางวัล DEmark Design Award
Panpuri : ผลิตภัณฑ์สปาแบรนด์ไทยที่ผสมผสานระหว่างปรัชญาและความเชื่อทางตะวันออกเข้ากับวิถีธรรมชาติและความเป็นออร์แกนิก เกิดเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิว รวมถึง ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมตกแต่งบ้านชนิดต่าง ๆ หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2003 ชื่อของปัญญ์ปุริจึงเป็นที่จดจำของผู้คนทั่วโลก ปัจจุบันส่งออกไปกว่า 27 ประเทศ นั่นคือเครื่องยืนยันความสำเร็จของปัญญ์ปุริได้เป็นอย่างดี
Zequenz : จากธุรกิจส่งออกกระดาษที่จัดจำหน่ายไปยังสหรัฐฯ และทวีปยุโรป เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างแบรนด์Zequenz ผู้ผลิตสมุดและเครื่องเขียนที่มีจุดเด่น คือ การออกแบบที่เป็นสากลและผลิตด้วยทักษะฝีมือคนไทย รองรับไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว ทำให้ Zequenz มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ สามารถนำผลงานการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ของผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนไปโชว์ตัวที่งาน Maison & Objet หรือเทศกาลกระดาษ Paperworld ได้อย่างสมเกียรติ
Propaganda : อีกหนึ่งแบรนด์ระดับตำนานที่ถือได้ว่าเป็นหัวหอกสำคัญรายแรกในการก้าวเข้าสู่การเป็น World Brand ด้านการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ของสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทย ส่วนเอกลักษณ์หลักที่คนมักจะนึกออกทันทีหากพูดถึงความเป็น Propaganda ก็คือตัว ‘Mr.P’ ออกแบบโดย ‘ชัยยุทธ พลายเพ็ชร์’ ซึ่งมาสคอตระดับไอคอนนี้ถูกหยิบจับมาสร้างเป็นสินค้ามากมายภายใต้คอนเซปท์ ‘Fun Follow Function’ ทำให้ทุกรายละเอียดของสินค้ามีทั้งความสนุก น่ารัก กวน และชาญฉลาดในการใช้งาน
Patra : ผลิตภัณฑ์เซรามิคพอร์ซเลน ที่สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2535 และเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในกลุ่มผู้ใช้ ทั้งในส่วนร้านอาหาร, โรงแรม, สายการบิน, โครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศ ตลอดจนโรงแรมระดับ 6 ดาวอย่าง MGM Grand ที่ Las Vegas ก็เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากภัทราพอร์ซเลนเช่นกัน
Carpet Maker : ผู้ผลิตและจำหน่ายพรมในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งมีประสบการณ์มานานกว่า 25 ปี ในด้านการผลิตพรมทอมือและทอเครื่องที่มีคุณภาพสูง ได้รับมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล ผลิตพรมให้กับลูกค้าในกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่พักอาศัย, โรงแรมขนาดใหญ่ และบริษัทชั้นนำทั่วโลกมากมาย
HawiiThai : ผู้นำธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์สานและถักทอรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ยืนหยัดเป็นหัวหอกสำคัญของวงการเฟอร์นิเจอร์ไทยบุกเบิกตลาดส่งออกไปทั่วโลก โดยปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จมาจากการพัฒนาเปลี่ยนวัสดุเส้นหวายธรรมชาติมาเป็นเส้นใยพลาสติกเสมือนจริง ถือเป็นรายแรกในวงการ ผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยได้รับการยอมรับอย่างสูงในตลาดโลก
Benjametha Ceramic : อีกหนึ่งแบรนด์เซรามิคชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ที่ต้นกำเนิดมาจากดินแดนด้ามขวานในจังหวัดปัตตานี ผู้ออกแบบอย่าง ‘คุณเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา’ เจ้าของแบรนด์จึงได้นำเอาปรัชญาศิลปะแบบมุสลิมผนวกเข้าไปเป็นหลักในการออกแบบชิ้นงาน จนเกิดเป็นเครื่องใช้เซรามิคที่มีความโดดเด่น ทั้งยังมีความสวยงามบวกกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เบญจาเมธาสามารถชนะใจผู้ใช้ในตลาดโลกจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวมุสลิมทั่วโลก
เรื่อง : Boonake A.
ภาพ : วิริยะ หลวง