อุทิศ เหมะมูล
ต้องยอมรับกันแบบตรงไปตรงมาว่าประหม่า และตื่นเต้นในความรู้สึกไม่น้อย เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลที่ตนเองชื่นชอบ แต่อย่างไรเขาก็มาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว ‘อุทิศ เหมะมูล’ นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2552 จากนวนิยายเรื่อง ‘ลับแล แก่งคอย’ ซึ่งตอนนี้เขามีผลงานล่าสุด ก็คืองานวรรณกรรมในชื่อ ‘จุติ’ ที่ถูกส่งเข้าสู่รอบ Final List ของรางวัลซีไรต์ปี 2558 อีกครั้ง
นอกจากอาชีพนักเขียนที่เขาทำมันอย่างหลงใหล โลกคู่ขนานในชีวิตอีกด้านหนึ่งคือเขารับทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารให้ ‘ไรท์เตอร์’ บุ๊คกาซีนแห่งโลกวรรณกรรมระดับขึ้นหิ้งเวอร์ชันล่าสุดจนเรียกได้ว่าในห้วงเวลานี้ของอุทิศเขาวนเวียนอยู่กับการอ่าน การรับฟัง และการเขียนตลอดเวลา ไม่เคยว่างเว้นจากการครุ่นคิดตั้งคำถามกับชีวิต รวมถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่รอบตัว
จนทำให้เราอยากรู้ว่าในฐานะนักเขียน นักอ่าน และนักสังเกตการณ์ วันนี้เขามองความเป็นไปของแวดวงวรรณกรรมและสังคมไทยอย่างไร
หลายคนรู้ว่าอาชีพนักเขียนก็คือเขียนในสิ่งที่คิดและเห็น ซึ่งมีความเป็นปัจเจกในเนื้องานค่อนข้างมาก แล้วกับบทบาทของการเป็นบรรณาธิการ (บ.ก.) ล่ะ มันมีความต่างจากการเป็นนักเขียนอย่างไร เราตั้งคำถามกับเขาในช่วงเริ่มต้นบทสนทนา “มันก็เหมือนจะคล้ายกันแต่ต่างกันชัดเจน นักเขียนต้องเขียน แต่ บ.ก. ต้องอ่าน ต้องรับฟังเยอะ อ่านเยอะ ทั้งเรื่องสั้น บทกวี บทความ ที่นักเขียนส่งมาให้พิจารณา เรียกว่าทำงานหนักในเรื่องของการอ่านเพื่อพิจารณาแล้วเอาลงพิมพ์ในนิตยสาร”
อันนี้รวมถึงหน้าที่วิจารณ์งานของนักเขียนที่ส่งเรื่องสั้นเข้ามาด้วยไหม เราถามเขาเพิ่มเติมในขอบข่ายหน้าที่ของ บ.ก. ไรทเตอร์
“นิดหน่อย โดยธรรมเนียมเวลานักเขียนส่งเรื่องสั้นมาให้นิตยสารพิจารณา ส่วนใหญ่สำนักพิมพ์ไม่ค่อยตอบกลับถ้าสามเดือนไม่ได้ลงนักเขียนจะรู้เองว่าไม่ผ่าน คนที่ผ่านก็แค่ไปเปิดดูตามนิตยสาร ผมเคยผ่านประสบการณ์นั้นมาก่อน ก็เลยอยากปรับเปลี่ยนธรรมเนียมนี้สักหน่อย”
อุทิศอธิบายถึงธรรมเนียมที่เขาได้ปรับเปลี่ยน ทุกคนที่ส่งงานเขียนเข้ามาจะได้รับการตอบกลับทั้งหมด ถ้าผ่านจะตอบกลับสองครั้ง ครั้งแรกคือการแจ้งให้ทราบว่างานชิ้นนั้นผ่าน ครั้งที่สองคือบอกว่าจะลงตีพิมพ์เมื่อไหร่ แต่สำหรับคนที่ไม่ผ่าน เขาก็จะตอบกลับไปด้วยถ้อยความจะอธิบายสั้น ๆ สักสองประโยคว่าที่ไม่ผ่านนี้เป็นเพราะอะไรเพื่อให้นักเขียนได้มีโอกาสปรับปรุง หรือบางครั้งอาจจะแนะนำให้ลองส่งไปในหนังสือหรือนิตยสารที่มีบุคลิกเหมาะกับงานเขียนแบบนั้น ๆ นี่คือการทำงานในฐานะบรรณาธิการของเขา
แล้วเรื่องประเภทไหนที่จะผ่านและได้รับการตีพิมพ์ในมุมมองและสายตาแบบอุทิศ ประเด็นนี้เขาตอบให้เราฟังอย่างกระจ่างด้วยรอยยิ้ม
“ผมขอใช้คำแบบคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี คือเรื่องต้องมีความเข้มข้นในสิ่งที่เล่า ไม่ว่าความเข้มข้นในเรื่องที่เล่าจะเป็นเรื่องอะไร เรื่องเบา ๆ หรือตลกโปกฮา เราเปิดกว้างไม่ว่าจะแนวทางไหน ต้องมีความเต็มที่ในงานเขียน เราดูที่เนื้องาน ไม่ได้ดูที่ตัวคนเขียนว่าเป็นใครมาจากไหน เรายึดจากศักดิ์ของงานเป็นหลัก”
แนวทางของเรื่องที่ส่งมาสะท้อนให้เห็นว่านักเขียนปัจจุบันนี้ครุ่นคิดกับเรื่องอะไรมากที่สุดใช่ไหม เขาตอบทันทีในประเด็นนี้ว่า
“เนื้อหาการเขียน มักจะพูดถึงสภาพชีวิตที่ดำรงในสังคม ไม่ว่าสังคมเมืองหรือสังคมชนบท เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเมือง มันมีผลต่อเรื่องราวและเงื่อนไขในการเล่ามากขึ้น ปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำที่เห็นชัดมากขึ้น ยิ่งในสังคมที่ตัวรัฐหรือผู้ปกครองพยายามที่จะทำให้เกิดเสียงเสียงเดียว งานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะงานเรื่องแต่ง จะเป็นเสียงที่ตรงกันข้าม เราจะวัดสภาพความไม่ปกติของสังคมได้จากงานวรรณกรรม เวลาที่เราพูดถึงคนทำงานศิลปะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ก็หมายถึงตรงนี้ เพราะมันคือภาพสะท้อนของสังคมในสิ่งที่ผู้มีอำนาจพยายามจะปิดหรือทำให้เห็นว่ามันไม่มี”
“จะว่าไปตอนนี้การแสดงออกด้านความคิดก็ไม่เชิงว่าทำได้เต็มที่ แต่เราก็เต็มที่ในส่วนที่คิดว่าจะนำเสนอได้ ยังเชื่อในสิทธิเสรีภาพของการสร้างสรรค์ อาจเพราะมันเป็นงานศิลปะ มันเลยไม่ค่อยถูกจับตามองมาก ข้อได้เปรียบของงานสร้างสรรค์ คือเราอยู่ในพื้นที่ เวทีของความสร้างสรรค์ ไม่ได้มีพลังหรืออำนาจมากพอที่จะส่งอิทธิพลให้มวลชนลุกฮือขึ้นมาได้”อุทิศให้ความเห็น
อีกเรื่องหนึ่งที่เราอยากซักถามจากเขาก็คือ ‘จุติ’ นวนิยายเล่มล่าสุด ที่ผ่านเข้ารอบ Final List ของรางวัลซีไรต์ปีนี้ ความคาดหวังในเรื่องรางวัลนี้มีมากน้อยแค่ไหน นักเขียนหนุ่มรีบตอบในประเด็นชัด ๆ ว่า ไม่คาดหวัง เพราะเขาเคยได้รับมันมาแล้ว และการได้รางวัลซ้ำเป็นครั้งที่สองก็เป็นเรื่องยาก อีกทั้งยังเป็นเรื่องของรสนิยมของกรรมการในแต่ละปีด้วย
ดังนั้นในมุมมองการส่งงานเข้าชิงรางวัลมันเหมือนการร่วมสนุกกับเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงวรรณกรรม ทั้งยังเป็นพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถทำหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย
“คิดในแง่ของการตลาด เราต้องหาลู่ทางเพื่อให้หนังสืออยู่ในร้านหนังสือได้ ไม่ใช่เข้าไปแล้วหายไปเลย เราต้องจัดสรรให้เรื่องแต่ง นวนิยายของเรามีอายุยาวนานขึ้น เรื่องรางวัลจะได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ” เขาตอบอย่างอารมณ์ดี
ผลงานการเขียนเกี่ยวพันกับพื้นที่ในอำเภอแก่งคอย ซึ่งมีความทรงจำอยู่ แต่ตอนนี้อยู่ในพื้นที่ใหม่ จะเติมวัตถุดิบในการเขียนได้อย่างไร
“ผมไม่กังวลเรื่องพื้นที่ อยู่ที่เนื้อหา ประเด็น หรือความสนใจที่เรามีมากพอที่จะเอามาเขียนเป็นนิยายหรือเปล่า ตอนนี้เก็บรวบรวมสิ่งต่าง ๆ เพื่อเอาไปเขียนนิยายเรื่องใหม่อยู่เรื่อย ๆ กระบวนการในการเขียนหนังสือมันไม่ใช่ตัวเนื้อหาอย่างเดียวที่ขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องราว แต่มีเรื่องของรูปแบบด้วย เรื่องของการสร้างฟอร์ม โครงสร้างของตัววรรณกรรม ต้องใช้ประกอบกัน เราต้องเลือกภาชนะที่จะใส่เนื้อหาลงไป ตรงนี้เป็นเหมือนกลวิธีการสร้างสรรค์การทำงาน เราเปลี่ยนภาชนะใส่เรื่องเล่าของเราไปเรื่อย ๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่เราจะเล่า”
ภาชนะที่จะนำมาใส่เนื้อหาที่ว่าคืออะไร เขาเลือกมันจากความคิดใด เราขอให้อุทิศอธิบายในเห็นภาพชัด จนได้คำตอบที่น่าสนใจ
“ผมเลือกจากสังคมที่เป็นอยู่ ผมไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง มันเกิดมาจากประสบการณ์ กับการสังเกตการณ์ จากการอ่าน โดยเฉพาะการอ่านวรรณกรรมแปล วิวัฒนาการของการใช้ภาษา โครงสร้างต่าง ๆ มันพัฒนาไปยังไงบ้าง ลองดูงานทัศนศิลป์สมัยก่อนก็ได้ ครั้งหนึ่งเราเคยเขียนบนผนังถ้ำ ต่อมาเขียนบนแผ่นเฟรม ต่อมาดึงเฟรมออก สู่การจัดวางศิลปะ มีฟอร์ม อันนี้คือรูปแบบที่บอก คือภาชนะของมันก็เปลี่ยน วิวัฒน์ไปตามยุคสมัยของมัน อย่างอะไรคือความงาม ความงามคือสิ่งนี้ ยุคต่อไปก็ฆ่าความหมายของความงามแบบยุคเดิมแล้วบอกใหม่ว่าความงามแบบนั้นไม่ใช่แล้ว ต้องความงามแบบนี้”
“ตัวงานวรรณกรรมมันไม่ได้มีเนื้อหาอย่างเดียว มันประกอบด้วยเนื้อหาและคำ คำที่มีประวัติศาสตร์ของคำอีกด้วย บางทีเวลาที่เราอ่านเพื่อถอดรหัส สัญญะของคำของความในตัววรรณกรรม มันต้องแอดวานซ์มากขึ้น ต้องผ่านจุดที่อ่านเอาเรื่องไปแล้วเพื่อเข้าใจคำ ๆ นี้ ย้อนกลับไปได้ถึงประวัติศาสตร์ที่ไหนมาก่อน มันจะมีคติในการใช้คำด้วย คำบางคำ พูดขึ้นมาลอย ๆ มันมีทั้งประวัติศาสตร์ ความทรงจำ มีความหมายรู้ เช่น เขียนถึงโต๊ะ จินตภาพของโต๊ะก็เกิดขึ้นในจินตนาการ”
นอกเหนือจากเรื่องงานเขียนและการเป็นบรรณาธิการแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อุทิศทำมันอยู่เป็นประจำนั่นคือการอัพเดตสเตตัสบนเฟซบุ๊คส่วนตัวแทบจะทุกวัน อันเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปสามารถสัมผัสอิริยาบถสบาย ๆ ในอีกมิติหนึ่ง
“เฟซบุ๊คเพิ่งมาเปิดเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ผมเห็นว่าเป็นพื้นที่ใหม่ ผมไม่ได้ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับเฟซบุ๊ค พอมาถึงจุดนึงก็คิดว่ามีดีกว่า สนุกดี เราใช้พื้นที่ของมันส่วนนึงในแง่ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พูดถึงงานเรา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นของเราด้วย แบ่งปันข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ไปสู่เพื่อน ๆ หรือคนที่ติดตามเรา ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวก็จะตั้งสถานะเฉพาะเพื่อน ถ้าหล่อ ๆ มีประโยชน์ก็ต้องสาธารณะไว้ ถ้าอะไรรั่ว ๆ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องรู้”
ในฐานะที่เขาใช้ชีวิตเวียนว่ายอยู่ในสังคมออนไลน์อยู่เสมอ เราจึงถามถึงวิจารณญาณการใช้พื้นที่ตรงนี้ ว่าเขาใช้แนวคิดอะไรคัดกรองข้อมูลและสื่อสารออกมาอย่างสร้างสรรค์มากที่สุด
“ต้องให้รู้ว่าตัวเราเองยืนอยู่จุดไหน อย่างในช่วงที่เกิดระเบิดที่ราชประสงค์ ด้วยความที่เกิดโศกนาฏกรรม ความอยากรู้ของคนก็ทำให้เกิดการแสดงทรรศนะ การคาดเดา แต่สิ่งเหล่านั้นมันอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง แล้วอันตรายมันก็เกิดขึ้นมา แพร่สะพัด สร้างผลกระทบให้คนบางคนเสียหาย คือเรารับผิดชอบกับโลกที่มันไหลไปไวอย่างนี้ได้ไหม สมมติมันเกิดความโกรธแค้นแพร่กระจายไปคล้าย ๆ จะตัดสินว่าใครคือคนผิด คุณรับผิดชอบได้ไหมเพราะคุณแชร์สิ่งเหล่านี้ไป มันง่ายมากกับการที่เราจะทำให้เกิดความรุนแรงโดยไม่ได้ตั้งใจ ผ่านการกระพืออารมณ์ด้วยการแชร์ไป ผมคิดว่าความเร็วที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊คหรือโซเชียลมีเดีย คนใช้ต้องมีสติ บุคคลสาธารณะที่คอยให้ข้อมูลข้อเท็จจริงอยู่ก็มี แต่คนที่ใช้อารมณ์มาก ๆ มันก็มีเยอะ แต่ละคนจะต้องหนักแน่น ถอยห่างออกมาหน่อย เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของความตื่นตระหนก เครื่องมือของความเกลียดชัง การทำให้เกิดอาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว”
การพูดคุยดำเนินไปอย่างออกรสออกชาติมาก จนน่าเสียดายที่มันต้องเดินทางถึงคำถามสุดท้าย เราถามเขาตรง ๆ ว่านักเขียนมีหน้าที่ต้องทำสิ่งใดให้สังคมบ้าง เขานิ่งคิดไปชั่วครู่เพื่อครุ่นคิดก่อนตอบอย่างสงบนิ่ง ท่ามกลางกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น
“นักเขียนก็มีหน้าที่เขียน ต้องมีความครุ่นคิด ระมัดระวัง พินิจพิเคราะห์ คือจริง ๆ มันควรอยู่ในตัวของคนทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียน แน่นอนนักเขียนถูกวางไว้ว่าเป็นคนที่มีสติสตังมากที่สุด แต่ก็มีหลายครั้งที่นักเขียนบางประเภทก็ไม่มีสติสตังมากที่สุด แสดงออกไปตามอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ผมคิดว่าการเรียกร้องให้นักเขียนทุกคนรู้จักคิด แยกแยะ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ยากเกินไปจัง แต่อย่างไรก็ตามเป็นสิ่งที่ต้องกำกับเอาไว้ เพราะโดยธรรมชาติของการเขียน ไม่ต้องเป็นนักเขียนหรอก มันต้องใช้เวลาในการคิดมากกว่าการพูด เหมือนอย่างการเขียนสเตตัสลงเฟซบุ๊ค เราต้องเรียบเรียงอยู่ในหัวก่อน ตรงนี้แหละคือการพิจารณา การครุ่นคิด ขอให้ใช้คุณสมบัติพื้นฐานเดิมที่มีอยู่แล้วของการเขียนมาปรับปรุง มาใช้ในชีวิตประจำวัน เราเป็นทั้งผู้เสพและผู้ใช้ ต้องแยกแยะให้ได้”
นั่นคือถ้อยคำน่าคิดที่อุทิศฝากเอาไว้ก่อนที่บทสนทนาจะจบลง
Quote “แต่ละคนจะต้องหนักแน่น ถอยห่างออกมาหน่อย เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของความตื่นตระหนก เครื่องมือของความเกลียดชัง การทำให้เกิดอาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว”
ขอขอบคุณสถานที่ : BAR STORIA del Caffe
Eight Thonglor Building 88/36 Sukhumvit 55 (Thonglor) Klongton Nua, Wattana, Bangkok
Text :ฝนธรรม ผลภาค
Photo :Wiriya L.