The Phenomenon in Digital Age
ในความจริงผมเชื่อว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในยุคดิจิตอลกันมาแบบเนิ่นนานแล้ว โดยที่เราไม่รู้ว่าเทคโนโลยีที่ว่านั้นมันอยู่ใกล้เรามากน้อยแค่ไหน
แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านเข้าสู่ยุค 90’ เข้าสู่ปี 2000 ในรอยต่อของห้วงเวลาที่ว่านี้ เป็นช่วงเวลาที่ระบบการสื่อสารอินเตอร์เน็ตซึ่งถูกคิดค้นมาตั้งแต่ปี 1969 ได้รับการพัฒนาจนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ทุกสิ่งที่สร้างและเขียนขึ้นโดยรหัสอัลกอริทึมเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น
จวบจนกระทั่งถึงวันที่ 9 มกราคม 2007 เมื่อชายหนุ่มสวมเสื้อคอเต่าสีดำ กางเกงยีนส์ลีวายส์ และรองเท้านิวบาลานซ์ที่ชื่อ ‘สตีฟจ๊อบส์’ ได้ทำการเปิดตัวโทรศัพท์ไอโฟนรุ่นแรก กลางงาน ‘Macworld Conference’
หลังจากคีย์โน้ตในพิธีกรรมนั้นจบลง โลกก็ถูกปฏิวัติด้วยสมาร์ทโฟนเครื่องนั้นให้เข้าสู่ยุคดิจิตอลส่วนบุคคลอย่างจริงจัง ชนิดที่ว่าเราสามารถเวียนว่ายตายเกิดกับมันได้แทบจะทุกชั่วโมงในหนึ่งวัน
แต่ถึงแม้ว่าชีวิตมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบันจะแนบสนิทชิดเชื้อกับโลกแห่งดิจิตอลแบบแทบจะเป็นหนึ่งเดียว แต่น้อยคนนักที่ล่วงรู้ถึงพลานุภาพในการสร้างปรากฏการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นกับทุกบริบทบนโลกใบนี้ซึ่งเป็นสิ่งน่าสนใจที่คุณเองก็ควรรู้
ดังนั้น Cover Story ของเราฉบับนี้จึงอยากพาท่านไปสำรวจยังพรมแดนต่าง ๆ ที่เทคโนโลยีดิจิตอลได้ไปสร้างปรากฏการณ์เอาไว้ ต่อยอดเป็นสิ่งใหม่เชิงนวัตกรรมที่น่าจับตา ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจเชิงมหภาค การตลาด วงการอีเว้นท์ รวมถึงวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของคนในโลกยุคใหม่ที่เราเรียกกันว่า Digital Lifestyle
Digital Economy
ในสังคมไทยขณะนี้ คำ ๆ หนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยมากในทุกครั้งที่มีการพูดถึงแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค นั่นก็คือคำว่า ‘Digital Economy’ แม้ว่าเราจะได้ยินมันบ่อยจนเคยชินไปแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจคอนเซปท์ของระบบเศรษฐกิจรูปแบบนี้กันอย่างชัดเจนเท่าที่ควร
Digital Economy ก็คือรูปแบบเศรษฐกิจที่มีการสร้างขึ้น เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ ซึ่งเอาเข้าจริง มันอาจถูกกำหนดนิยามด้วยคำอื่นได้อีกทั้ง Internet Economy, Web Economy และ New Economy
มีแกนกลางประกอบขึ้นจากปัจจัย 3 ส่วน นั่นก็คือหนึ่งโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิตอลอย่างอินเตอร์เน็ตเป็นอิฐปูน (Brick& Mortar) ก่อร่างสร้างฟอร์มให้แข็งแกร่ง สองก็คือ E-Business คือการดำเนินงานทุกกระบวนการ รวมถึงการจัดโครงสร้างการบริหารงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และสาม คือการค้าการขายในรูปแบบ E-commerceผ่านช่องทางออนไลน์รูปแบบที่หลากหลายหลอมรวมออกมาเป็นโครงสร้างของ Digital Economy
‘The Boston Consulting Group’ ได้เคยอธิบายเชิงวิเคราะห์ไว้ว่า Digital Economy คือคลื่นลูกที่สี่แห่งความเปลี่ยนแปลงของโลก มีพลังมหาศาลสามารถส่งพลังไปยังการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์และการค้าปลีกทุกรูปแบบดังเช่นที่ ‘Deloitte Touche Tohmatsu Limited’ บริษัทตรวจสอบด้านการเงินชื่อดังของโลกเคยออกมาจัดอันดับว่าในระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทุกสาขา บริษัทที่ติดอันดับ Top 6 ต่างใช้รูปแบบธุรกิจเช่นนี้มาสร้างเป็น ‘ชนวนสั้น’ จุดระเบิดให้เกิดปรากฏการณ์ ‘บิ๊กแบง’ เชิงนวัตกรรมทางการค้ากับแบรนด์ของตนเองทั้งสิ้น
ตัวอย่างการใช้เศรษฐกิจดิจิตอลสร้างชาติก็มีให้เห็นกันอย่างมากมาย ทั้งการสร้างนวัตกรรมของเหล่าสตาร์ทอัพทั้งในซิลิคอนวัลเลย์และในยุโรป แต่ที่โดดเด่นและเป็นกรณีศึกษาแสนคลาสสิคที่ใครก็มักจะกล่าวถึงคงต้องยกให้กับ ประเทศ ‘เกาหลีใต้’ ที่ใช้รูปแบบเศรษฐกิจดังกล่าวสร้างชาติให้มั่งคั่งจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997
โดยประธานาธิบดี ‘ปาร์คกึน เฮ’ ได้ให้กำเนิดกระทรวงเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อให้การสนับสนุนสินค้าทางวัฒนธรรมในกระแสธารที่เราเรียกกันว่า ‘Korean Wave’ รวมถึงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมความเร็วสูงทั่วประเทศเกิดเป็นโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 100 เมกะบิต
เพียงไม่นานหลังจากที่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงกระจายไปทั่วประเทศ สามารถดึงคนให้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ถึง ร้อยละ 78 ของจำนวนประชากร เป็นแรงผลักสำคัญให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงไปยังเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจนั้นความเจริญก้าวหน้าทางดิจิตอลมีนัยยะสำคัญทางการพัฒนาอย่างมากกับแบรนด์สินค้าชื่อดังอย่าง Samsung, LG ที่ต่างก็ใช้ความก้าวหน้านี้สร้างสรรค์นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ
มากกว่านั้นพัฒนาการดังกล่าวยังเปิดพื้นที่ให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมส์ออนไลน์ที่เกาหลีใต้ใช้ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อปี พาประเทศเกาหลีสู่ความมั่งคั่งจากวิกฤติในระยะเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษเท่านั้น
ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันภาครัฐได้มีนโยบายในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอลกันอย่างเต็มกำลัง ดังการปาฐกถาของหม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีในงาน ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’ ที่กล่าวถึง ‘5 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศไทย’ อันประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลให้ครอบคลุมทั่วประเทศลงไปถึงในระดับหมู่บ้าน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่น ในการทำธุรกรรมดิจิตอล โดยเร่งปรับปรุงยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลทุกฉบับ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการให้บริการ โดยเร่งยกระดับการให้บริการ ‘E-Government’
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมและสนับสนุนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจ โดยรัฐจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้าง ‘ระบบนิเวศ’ ขึ้นอย่างครบวงจร เพื่อที่จะนำไปสู่การแข่งขันเชิงสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างสังคมดิจิตอลเพื่อสังคม และทรัพยากรความรู้ โดยการพัฒนาข้อมูลข่าวสารและบริการที่เป็นของรัฐในส่วนต่าง ๆ ให้สามารถที่จะ ‘เอื้ออำนวยต่อคนทุกระดับ’ ได้อย่างทั่วถึง
นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ที่พูดไป อดีตรองนายกฯ ยังได้มีการพูดถึงการจัดทำแผนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาออกแบบโครงข่ายบรอดแบรนด์แห่งชาติ รวมถึงการสร้างศูนย์ Data Center แห่งชาติ การเร่งขยายโครงข่ายไฟเบอร์ ออฟติกเพื่อนำอินเตอร์เน็ตไปยังทุกพื้นที่
ทั้งหมดหากเกิดขึ้นจริงได้ตามแผนที่วางเอาไว้ เชื่อว่าน่าจะเป็นรุ่งอรุณใหม่อันสดใสของ Digital Economy ในประเทศไทย หากมันไม่ถูกทิ้งลงไปกลางทางจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปเสียก่อน
Listen Up!
ข่าวดีของผู้ประกอบการชาวไทยที่ต้องการใช้ข้อมูลงานวิจัยเพื่อสร้างสินค้าตนเอง
วันนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) พัฒนาฐานข้อมูลต่าง ๆ ในระบบสารสนเทศการวิจัย ทำให้เกิดการรวมระบบที่เรียกว่า Research and Development Digital Gateway (R&D Digital Gateway) อันเป็นการพัฒนาระบบที่เป็นเว็บพอร์ทอล (Web Portal System) สำหรับการค้นข้อมูลด้านการวิจัยที่ถูกจัดเก็บอยู่ในระบบต่าง ๆ ในศูนย์สารสนเทศการวิจัย บนรูปแบบการทำงานของ R&D Digital Gateway เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลงานวิจัยทั้งหมดได้จากจุดเดียว (One Search) นั่นเอง ผู้ประกอบการทั้งหลายลองไปใช้ดูได้
Digital Marketing
อีกหนึ่งมิติทางสังคมที่เทคโนโลยีดิจิตอลเข้าไปมีส่วนในการสร้างปรากฏการณ์อย่างมาก นั่นคือเรื่องการตลาดที่มีคนกำหนดนิยามแนวคิดแบบนี้ว่า ‘Digital Marketing’
หากถ้าวันนี้เราสามารถย้อนเวลากลับไปได้ซักประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แล้วทำใจกล้า ๆ ไปบอกกับเอเจนซี่ หรือนักการตลาด เอเจนซี่หรือเหล่ามีเดียแพลนเนอร์ในเอเจนซี่ข้ามชาติชื่อดังว่า วันหนึ่งคุณต้องมาเวียนว่ายตายเกิดบนพื้นที่นี้ เพื่อคิดหา และสร้างกลยุทธ์เพื่อดึงให้ผู้บริโภคมามีส่วนร่วม (Engagement) กับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์หรือสื่อโซเชียลมีเดียที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่ล้มไปมา
เชื่อเถอะว่าร้อยทั้งรอยของคนกลุ่มนั้นเขาอาจจะหัวเราะสิ่งที่คุณพูด เพราะในวันนั้นสื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่พวกเขาส่วนใหญ่ปรามาส อีกทั้งยังไม่เชื่อว่ามันจะมีพลังมากพอในเชิงการตลาด ดังนั้นงบโฆษณาบนสื่อประเภทนี้จึงมีมูลค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสื่อหลักในช่วงเวลานั้น
กาลเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนตาม วันนี้สื่อหลักกำลังอ่อนแรง แต่ที่มาแรงก็คือสื่อออนไลน์หลากหลายแพลตฟอร์ม ประกอบกับการเกิดขึ้นของ Apps Developer ทั่วโลก ที่คอยสร้างแอพลิเคชั่นสุดชาญฉลาด เติมพลังให้กับเครื่องมือนี้กันอย่างไม่หยุดหย่อน ก็ยิ่งทำให้เรื่องของดิจิตอลมาร์เกตติ้งกลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างแรง ชนิดที่ใครไม่ทำ หรือไม่คิดจะริเริ่มก็จะตกยุคและหลุดวงโคจรหายไปทันทีในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน
ในเรื่องความสำคัญของดิจิตอลมาร์เกตติ้งนี้ Rob Felber ประธานบริษัท Felber Public Relation & Marketing ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งจะได้รับการยอมรับอย่างล่าช้าตามธรรมเนียมเหมือนเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการองค์กรที่ทำธุรกิจแบบ B2B ต่อจากนี้การเสิร์ชหาข้อมูล, พื้นที่โฆษณาทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นแก่นของแผนทางการตลาด ผู้บริหารจำนวนมากจะยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเคยดูหมิ่นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และจะมีแคมเปญที่ผสมผสานหลายแพลตฟอร์ม การเพิ่มขึ้นของวิดีโอจากสื่ออื่นจะปรากฏให้เห็นมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึง QR Code และแคมเปญที่ต้องใช้เครื่องมือดิจิตอลเป็นตัวเชื่อมอีกมากมาย”
เช่นเดียวกันกับบทวิเคราะห์ของ ‘Mindshare’ เอเจนซี่ยักษ์ระดับโลกที่กล่าวถึง Digital Marketing ได้อย่างน่าสนใจว่า
“ดิจิตอลจะเป็นสื่อหลักที่นักการตลาดยุคนี้ขาดไม่ได้ เพราะจำนวนการเข้าถึงสื่อดิจิตอลของคนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อผู้ชมเชื่อมต่อกับสื่อออนไลน์ พฤติกรรมการรับชมสื่อจะเริ่มเปลี่ยนอย่างชัดเจน ดังนั้นนักการตลาดจะต้องเปลี่ยนสัดส่วนการใช้สื่อให้ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของผู้ชมอย่างทันท่วงที โดยต้องคำนึงถึงเนื้อหารายการของแบรนด์ที่ต้องสามารถค้นหาได้ง่ายและสามารถนำไปแชร์ต่อได้”
มากกว่าสร้างคอนเทนต์ให้โดนใจเพื่อเผยแพร่ออกไปยังสื่อออนไลน์ชื่อดัง ทั้ง Facebook, Twitter, Youtubeเพื่อให้เกิดการกระจาย (Viral) ไปยังสังคมแล้ว นักการตลาดยังสามารถใช้เครื่องมือดิจิตอลในการสื่อสารสองทาง เรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคแบบ Real Time เพื่อเฟ้นหากลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที
ไม่เพียงเท่านั้นยังอาจใช้ช่องทางนี้เพื่อนำเสนอ Content บางอย่างที่เป็น Untold Story เผยแพร่แบบพิเศษเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้บริโภคได้อย่างหลากหลายอีกด้วย
Comment from Digital Marketing Guru
สร้างมูลค่าเพิ่มให้แบรนด์สินค้าด้วย Digital Marketing
ณธิดา รัฐธนาวุฒิ
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ marketingoops.com
“มูลค่าเพิ่มในแง่ของดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งมันเป็นจุดเปลี่ยนของหลาย ๆ อย่าง ที่เด่นชัดเลยก็คือลดต้นทุนในแง่ของการทำการตลาดซึ่งเปลี่ยนตามพฤติกรรมของผู้ใช้ เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ดูทีวีนานมากแล้ว แล้วพอดิจิตอลทีวีมาคราวนี้ก็เปิดทีวีไม่เป็นเลยไม่รู้ช่องไหนเป็นช่องไหน บางบ้านมีหลายกล่องมากมันเปลี่ยนไปจริง ๆ ทุกคนก็เลยหันไปใช้ youtube เพราะฉะนั้นแบรนด์ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเหมือนกัน”
“อย่างเช่นภาพยนตร์โฆษณาที่ผลิตออกมาสมัยก่อนต้องไปหาช่องลง ซึ่งก็จะได้ 15 วินาทีบ้าง ได้ 30 วินาทีบ้าง ซึ่งมีต้นทุนการทำสูงมากแต่ถ้าคุณใช้แพลตฟอร์มของออนไลน์สามารถทำโฆษณาเวอร์ชั่น 10 วินาที ไปจนถึงเวอร์ชั่น 3 นาทีก็ได้เพื่อที่จะได้ดูเต็ม พอเรานำสิ่งเหล่านี้มาเผยแพร่มันก็เป็นมูลค่าเพิ่มของการทำการตลาดด้วยโฆษณาที่ลึกขึ้น ยาวขึ้น และเข้าถึงได้มากขึ้น”
“ส่วนคำถามว่าคนไทยมีความพร้อมแค่ไหนกับดิจิตอลมาร์เกตติ้ง ดิฉันเชื่อว่าเวลามาใหม่ ๆ คนของเราอาจจะยังไม่ชิน เมื่อไม่ชินก็จะไม่ใช้ การจะมาเปลี่ยนพฤติกรรมเขา เขาก็จะไม่ยอม แต่หากมีอะไรมาทำให้การใช้เกิดสิทธิประโยชน์ ดิฉันเชื่อว่าคนไทยก็พร้อมรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยกตัวอย่าง ‘Ensogo’ คนของเรานิยมใช้กันมากเพราะมันลดราคา จนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง ๆ รวมถึงอีกหลากหลายเว็บที่สร้างสิทธิประโยชน์ในการใช้จ่ายออนไลน์ ทำให้มีคนใช้เพิ่มมากขึ้น นั่นแสดงว่าคนไทยไม่ได้กลัวเทคโนโลยีดิจิตอล เพียงแต่เขาต้องได้อะไรจากการปรับพฤติกรรมนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนด้วย”
“ในเทรนด์เกี่ยวกับดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งที่ดิฉันมองตอนนี้ คือเรื่องคอนเทนต์ของโซเชียลมีเดีย เพราะว่าตอนนี้ทุกคนก็ย้ายเข้ามาอยู่ในโลกโซเชียลฯ หมดแล้ว ดิฉันมองว่าในปัจจุบันมีคอนเทนต์เยอะ หรือแม้แต่ Viral Video ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าธรรมดา แต่หลัง ๆ เรื่องมันเข้มข้นน่าติดตามมากขึ้น ก็เลยจะเน้นไปที่เรื่องคุณภาพของคอนเทนต์ ดังนั้นพัฒนาการขั้นต่อไปคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของคอนเทนต์กับโซเชียล แต่สิ่งที่เป็น Big Thing จริง ๆ เลยส่วนตัว คือเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน มันจะเป็นทุกอย่างในชีวิตคุณ และวันนี้มันก็เป็นแล้ว ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือก็เป็นเหมือนอวัยวะที่ 33 ของคนยุคปัจจุบันไปแล้ว”
Digital Event
พลังงานของเทคโนโลยีดิจิตอลนั้นยังแผ่กระจายไปได้อีกหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเพียงเรื่องของเศรษฐกิจมวลรวม และเรื่องของมาร์เก็ตติ้งเท่านั้น
แต่มันยังกระจายไปยังวงการจัดงานอีเว้นท์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งการสัมมนา การประชุม การเปิดตัวสินค้า รวมถึงในรูปแบบนิทรรศการ งานโชว์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย
เว็บไซต์ sensov.com ได้กล่าวถึงการนำรูปแบบแนวคิดการใช้ Digital Marketing มาหลอมรวมกับการจัดงานอีเว้นท์รูปแบบต่าง ๆ ให้เกิดผลได้อย่างน่าสนใจว่า
“แม้ว่าคุณจะเพิ่งเข้ามาผจญภัยในโลกของ Digital Marketing เป็นครั้งแรกก็ตาม ขอให้ระลึกเสมอว่าการวางแผนเชิงดิจิตอลมาร์เกตติ้งที่ดีจะมีผลกับการจัดงานอีเว้นท์ของคุณอย่างมาก หากว่าเรื่องของ ROI (Return of Investment) คือบรรทัดสุดท้ายในความมุ่งหวังทางธุรกิจของคุณ และความมุ่งหวังในการดึงดูดให้คนเข้ามาร่วมงาน การมีสปอนเซอร์และผู้จัดงานเพิ่มขึ้นรวมถึงเพิ่มการแสดงผลของการมีส่วนร่วมกับคนร่วมงาน แผนการตลาดแบบดิจิตอลของคุณจะต้องเริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน และการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น”บนถ้อยความนั้นบอกชัด ๆ ว่าดิจิตอลเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้งานที่คุณสร้างเกิดประสิทธิผลด้วยตนทุนที่น้อยที่สุดนั่นเอง ทีนี้ในโลกดิจิตอลที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือหลากรูปแบบให้ได้เลือกหยิบฉวยเอามาใช้ได้มากมายล้นทะลัก อะไรบ้างที่น่าจะเหมาะกับการนำมาประยุกต์ใช้กับงานอีเว้นท์ยุคนี้บ้าง เราลองคัดเลือกเอาที่เด็ด ๆ ออกมาให้คุณได้เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิตอลสามารถเปลี่ยนรูปโฉมวงการอีเว้นท์ได้อย่างไร
Mobile Events Apps เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ทำให้วงการอีเว้นท์ออแกไนเซอร์เปลี่ยนไป ด้วยศักยภาพที่มากขึ้นในการเป็นตัวแทนของโปรแกรมงานอีเว้นท์, รายชื่อผู้เข้าร่วมงาน, แบบสอบถามความพึงพอใจ และหมายข่าวประชาสัมพันธ์ที่เป็นกระดาษทั้งหมด รวมถึงโปรแกรมที่ใช้บอกสัญลักษณ์ในงานและแผนที่สำหรับผู้เข้าร่วมงาน ทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมงาน และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างความสะดวกในการจับคู่ทางธุรกิจ
Big Data ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอีเว้นท์สมัยใหม่ที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีนี้มาเป็นประโยชน์ในการลงทะเบียนร่วมงาน, การเข้าถึงเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง, การเข้าถึงปฏิกิริยาของผู้แสดงงาน, การสร้างกิจกรรมออนไลน์สอดคล้องกับงานในโซเชียลมีเดีย รวมถึงการสร้างแบบสำรวจความพึงพอใจออนไลน์แบบเฉพาะคน เพื่อให้ผู้จัดสามารถเก็บข้อมูลเพื่อประเมินงานที่จัดขึ้นมาและวัดผลมันออกมาเป็นตัวเลข
การนำเทคโนโลยี GPS มาใช้กับงานอีเว้นท์ ทำให้ผู้จัดสามารถแชร์ภาพรวมของที่นั่งที่ถูกแทรคโดย GPS ลงบนเว็บไซต์หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตน เพื่อบอกว่าคนที่กำลังจะตัดสินใจเข้าร่วมงานที่ยังมาไม่ถึงว่าตอนนี้เหลือที่นั่งเท่าไหร่ และยังพอมีที่นั่งดี ๆ ในงานอีกบ้างไหม โดยที่เขาสามารถดูที่ไหนก็ได้ ก็จะเป็นเครื่องมือที่สามารถกำหนดการตัดสินใจในการเข้าร่วมงานได้ทางหนึ่ง
จอภาพ 3D รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Virtual Reality แบบโฮโลแกรมก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานกันอย่างแพร่หลาย แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถสร้างมูลค่าด้านการตลาดให้แก่งานของคุณอย่างแน่นอน ทั้งยังสามารถสร้างประสบการณ์ร่วมอันน่าตื่นตาให้แก่ผู้ร่วมงาน
การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค สร้างความพิเศษที่เหนือระดับให้แก่งานอีเว้นท์ กล่าวคือการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถกดไลค์ และแชร์ข้อมูลของแบรนด์สินค้ หรืองานที่กำลังจะจัด เมื่อกดไลค์แล้วอาจจะมีรางวัลสุดพิเศษให้แก่แฟนเพจผู้นั้น อาทิเช่น ที่จอดรถพิเศษ, เสื้อที-เชิ้ต รวมถึงการพบปะพูดคุยกับศิลปินดีเจอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เป็นต้น และอีกวิธีหนึ่งนั่นคือการใช้เครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์คให้เป็นพื้นที่ที่สามารถเข้ามาชมภาพหรือคลิปวีดีโอแบบเอ็กซ์คลูซีฟของงาน
นั่นคือภาพรวมที่เรานำเสนอให้คุณเห็น หวังว่ามันจะเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างกลยุทธ์ ROI ที่ถูกเติมเต็มด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ให้ออแกไนเซอร์และเจ้าของแบรนด์สินค้าได้ในวันนี้
Digital Lifestyle
ต้องยอมรับกันตามตรงว่า ผมตื่นตาตื่นใจทุกครั้งกับการได้ชมภาพยนตร์แนว Sci-fi เมื่อยามมีซีนที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ไฮเทคยอดอัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลเพื่อกระทำการอะไรบางอย่าง ทั้งยังสามารถตอบโต้ให้ข้อมูลกับผู้ใช้ เสมือนเป็นผู้ช่วยเนรมิตสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
อย่างเช่น Jarvis ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะของโทนี่ สตาร์ค ใน Iron Man หรือถ้าจะเอาให้เก่าแก่หน่อยในวัยเด็กก็ต้องเป็นรถซูเปอร์คาร์อัจฉริยะนามว่า KITT ในซีรี่ส์เรื่อง ‘Knight Rider’ และอีกหลากหลายเรื่องในโลกภาพยนตร์ที่นำเสนอภาพของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) ไว้อย่างน่าทึ่ง
ในวันนี้เรื่องราวเหล่านั้นที่ผมได้เล่าไปมันดูจะมีเค้าลางความเป็นจริง ไม่เป็นเพียงความเพ้อฝันในโลกบันเทิงอีกต่อไป เมื่อเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้น ก่อร่างสร้างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Digital Lifestyle’ ขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง จนเกิดเทรนด์ใหม่ทางนวัตกรรมที่ได้รับการนิยามว่า ‘Internet of Things’ นั่นเอง
บนความหมายของ Internet of Things เราได้มีโอกาสไปนั่งพูดคุยกับ ‘อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone พื้นที่แห่งความรู้ด้านไอที ทางเลือกบนโลกออนไลน์ เขาได้ให้คอมเมนต์ในประเด็นนี้ว่า
“Internet of Things (IoT) คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ต่อจากนี้ไปเราจะเห็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านต่อเน็ต รถยนต์ต่อเน็ต และอุปกรณ์พวกนี้จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง Digital Lifestyle ให้มนุษย์ เช่น ขับรถกลับบ้าน พอใกล้ถึงบ้านสัก 10 นาที รถก็จะส่งข้อมูลไปบอกที่บ้านเราให้เปิดแอร์รอไว้ได้เลย ประเด็นสำคัญคือต้องมองอุปกรณ์พวกนี้ว่ามันทำงานร่วมกัน เป็นคำว่า famliy of devices ไม่ใช่อุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งโดด ๆ”
เราถามเขาต่อถึงรูปแบบ Digital Lifestyle มันจะช่วยยกระดับชีวิตได้ขึ้นมากแค่ไหนในอนาคต
“เมื่ออุปกรณ์สามารถสื่อสารกันได้ ประสานงานกันได้ มีความฉลาดมากขึ้น เราก็สามารถนำอุปกรณ์พวกนี้มาทำงานที่มนุษย์ทำได้ไม่ค่อยดีนัก เช่น งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ หรืออาศัยแรงงาน เช่น การทำความสะอาด อาจใช้หุ่นยนต์มาช่วย, ระบบรักษาความปลอดภัย ก็ใช้กล้องและเซ็นเซอร์แทนการยืนยาม แล้วเขียนโปรแกรมให้ตรวจหาวัตถุแปลกปลอมได้ง่ายขึ้น, ระบบสุขภาพ แทนที่จะไปหาหมอตามนัด ก็สวมใส่อุปกรณ์วัดค่าแล้วส่งข้อมูลกลับไปยังโรงพยาบาลโดยอัตโนมัติ งานพวกนี้ใช้คนทำจะมีราคาแพง มีข้อผิดพลาดได้ง่าย ถ้าใช้โปรแกรมทำจะคุ้มค่าและสะดวกกว่ามาก ในด้านกลับกันก็คงมีปัญหาทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น แต่มนุษย์เองก็ต้องปรับตัวให้หันไปทำงานที่ต้องใช้สมองมากขึ้น แล้วยกงานพื้นฐานให้หุ่นยนต์หรือโปรแกรมทำแทน”
ดังนั้นในวันนี้ระบบอินเตอร์เน็ตในโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุค 3G ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ไปยังยุค 4G เต็มรูปแบบ และกำลังจดจ่อในการก้าวขาไปสู่ยุค 5G อยู่ในอีกไม่กี่อึดใจ ก็ยิ่งทำให้ Internet of Things ได้รับการพัฒนาให้ปรากฏตัวขึ้น เพื่อเป็นผู้ช่วยในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่มนุษย์ยุค Post Millenium มากมาย ทั้งแว่นตาอัจฉริยะ, สายรัดข้อมือและนาฬิกาอัจฉริยะ, เครื่องชงกาแฟอัจฉริยะ, แก้วน้ำอัจฉริยะ, รองเท้าอัจฉริยะ และอะไรต่อมิอะไรอัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้
ยิ่งตอกย้ำให้เรื่อง IoT มีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อ Bridget Karlin กรรมการผู้จัดการด้านธุรกิจ Internet of Things จาก Intel ได้ออกมาให้ความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้าโลกจะมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตมาให้ได้ใช้กันมากถึง 50,000 ล้านชิ้น เมื่อเอาจำนวนที่ว่าเทียบกับจำนวนประชากรโลก นั่นหมายความว่าแต่ละคนจะมีอุปกรณ์ดิจิตอลติดตัวถึง 6 ชิ้นนั่นเอง
น่าทึ่งปนตกใจมากนะครับ ที่เราอาจต้องพกอุปกรณ์พะรุงพะรังขนาดนั้นในอนาคต แต่ถ้ามันจะสามารถทำให้ชีวิตของเราง่ายและสะดวก ก็เอาเถอะผมยอม!
การประยุกต์ใช้ Internet of Things ยอดนิยมในขณะนี้
Smart Home : ในฐานข้อมูลของ IoT Analytics มีบริษัทรวมถึง Startup ต่าง ๆ อยู่มากถึง 256 บริษัทที่ทำเรื่อง Smart Home อยู่ในตอนนี้ และมีการเปิดให้ใช้งานแอพลิเคชั่นทางด้าน IoT อยู่ในปัจจุบัน จำนวนเม็ดเงินที่มีการลงทุนไปใน Smart Home ของบริษัท Startup ในปัจจุบันนั้นเกิน 2.5 พันล้านเหรียญไปแล้ว
Wearable : ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนจากสินค้าหลาย ๆ ค่ายที่มาวางขายกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจาก Sumsung, Jawbone หรือ Fitbit หรือ Apple Smart Watch นอกจากนี้ยังมีจากค่ายอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ เช่น Sony ที่มีทั้งนาฬิกา และสายรัดข้อมือ, Myo ที่สั่งงานด้วยการเคลื่อนไหว (Gesture Control) หรือแม้แต่ LookSee ที่เป็นกำไลข้อมือออกแบบมาอย่างสวยงาม
Smart City : สามารถเป็นสิ่งที่อธิบายได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ระบบจัดการการจราจรไปจนถึงระบบจัดการน้ำ จัดการขยะ ระบบตรวจจับและเฝ้าระวังความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสังคมเมือง แต่สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือพลังงานที่หลาย ๆ เมืองได้สัญญาว่าจะมาช่วยบรรเทาในการใช้ชีวิตในเมืองทุกวันนี้
Smart Grids : ในอนาคตนั้น Smart Grid จะเข้ามาใช้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน ในรูปแบบที่จะเป็นอัตโนมัติมากขึ้นในการเพิ่มประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และเศรษฐศาสตร์ของพลังงานไฟฟ้าเอง
Connected Car : รถยนต์อัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพื่อการทำงานควบคู่ไปกับฟังก์ชั่นทั้งการบอกเส้นทาง การขับขี่ด้วยตัวเอง ดังเช่นที่ทั้ง Ford, Google รวมถึง Apple กำลังซุ่มพัฒนาอยู่
Smart Supply Chain : ระบบนี้จะเป็นโซลูชั่นที่เข้ามาช่วยติดตามสินค้าที่กำลังขนส่งไปตามท้องถนน ซึ่งระบบนี้จริง ๆ แล้วได้มีการใช้งานมาบ้างแล้ว แต่เมื่อพูดถึงในมุมมองของ Internet of Things ดูเหมือนว่าจะยังมีการพูดถึงอยู่ในวงจำกัด
Smart Farming : คือการนำ Internet of Things มาประยุกต์ใช้ในทุกขั้นตอนของการทำฟาร์มเกษตร รวมถึงขั้นตอนในการเก็บข้อมูล เพื่อนำสิ่งที่ได้นั้นมาวิเคราะห์และหาทางพัฒนาการเพาะปลูกรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ และสภาพจำนวนประชากรที่เปลี่ยนไป
Credit :http://www.inofthings.com/
Text : Boonake A.
Photo : Wiriya L.