มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯเปิดเวทีเสวนา “โนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ”
มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯ โดยหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย การเสวนาและสาธิต “โนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ”ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงละคร สถาบันคึกฤทธิ์ ในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา
สถาบันคึกฤทธิ์ได้สนับสนุนและส่งเสริมศิลปะการแสดงโนรามาเป็นเวลายาวนาน โดยในปี 2559 ได้ดำเนินการรวบรวมภาพถ่ายชุดท่ารำโนราของขุนอุปถัมภ์นรากร “พุ่มเทวา” จัดทำและเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสถาบันคึกฤทธิ์ ต่อมาได้เชิญ อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์(ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 สาขาศิลปะการแสดงโนรา) มาแสดงและสาธิตท่ารำโนรา“คล้องหงส์” ที่เป็นการรำโนราโรงครู(เป็นพิธีกรรมของครูโนราที่มีรูปแบบเฉพาะ ผู้รำจะต้องเป็นโนราใหญ่ หรือ นายโรง) และจัดทำบันทึกการสาธิตครั้งนั้นเป็นวีดิทัศน์ ซึ่งสืบเนื่องสู่การทำฐานข้อมูลสำคัญของโนรา ที่ต่อมาอาจารย์ธรรมนิตย์ ได้นำข้อมูลนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอต่อยูเนสโก (UNESCO) จน“โนรา” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษย์ชาติ ในปีพ.ศ. 2564
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ กล่าวถึงงานนี้ว่า
“ ทางมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ ในปีนี้เราวางเป้าหมายกับการสงวนรักษา ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย โดยจัดทำโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยตลอดทั้งปี ทางคณะกรรมการของมูลนิธิฯ ได้เลือกโนรา มาใส่ไว้เป็นกิจกรรมแรกของโครงการฯ เพราะเราใกล้ชิดกับศิลปะพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยนี้มาอย่างยาวนาน ถ้าย้อนไปในปี 2514 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ท่านได้นำขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่มเทวา) ครูโนราจากทางภาคใต้เข้าเฝ้าและรำโนราถวายในหลวง ร.9 ที่ตำหนักจิตรลดาฯ ความผูกพันนี้สืบเนื่องมาตลอด สถาบันคึกฤทธิ์ได้เก็บรวบรวมข้อมูล ท่ารำต่างๆ ของโนราเพื่อไม่ให้สูญหายไป เพราะโนรามีความสำคัญทางวัฒนธรรมและสังคมอย่างลึกซึ้ง มีอัตลักษณ์โดดเด่นด้านท่ารำ จนมีผู้รู้หลายท่านเชื่อว่าโนราเป็นต้นแบบของละครชาตรี ละคร และการรำแม่บทของละครไทย จนปัจจุบัน โนราที่เป็นศิลปะจากภูมิปัญญาของเราได้รับการยกย่องจากสากลผมไม่อยากให้การอนุรักษ์ ดูแลศิลปะ ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน แต่อยากให้เป็นความรู้สึกของคนไทยทุกๆ คน เรารู้ว่าการเข้ามาของวัฒนธรรมต่างชาติ ความเจริญทางเทคโนโลยี ไทยเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผมไม่ได้ขวางการรับวัฒนธรรมต่างถิ่น แต่ผมก็ไม่อยากให้คนไทยละเลย หรือ ไม่พัฒนาสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น เยาวชน คนไทย ต้องมีโอกาสที่จะรับรู้ว่าเราเป็นเจ้าของ ภูมิปัญญาของศิลปะเหล่านี้ร่วมกัน และร่วมกันดูแลและพัฒนามรดกนี้อย่างภาคภูมิใจที่เป็นของเรา”
ภายในงาน ได้รับเกียรติจากวิทยากรชื่อดังของเมืองไทย เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำโดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (วิทยากรด้านมรดกที่มีชีวิตขององค์การยูเนสโก) , ศ.พรรัตน์ ดำรุง (นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงและศิลปะพื้นบ้านไทย) , ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๔ สาขาศิลปะการแสดงโนรา) และ ผศ.ดร.สุขสันติ แวงวรรณ (นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดง) รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ
เตรียมติดตามกิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของไทยจากมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปตลอดทั้งปี 2566 สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรม ผ่านช่องทาง Facebook: @kukritinstitute Tiktok: kipac.kukrit.2454@gmail.com IG: @kukritinstitute