Top

OOKBEE.. ผู้ผลักดันตลาดสิ่งพิมพ์ดิจิตอลของเอเชีย

OOKBEE.. ผู้ผลักดันตลาดสิ่งพิมพ์ดิจิตอลของเอเชีย

1

ในวันนี้แค่มีโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่องก็เท่ากับมีหนังสืออยู่ในมือนับไม่ถ้วน เพราะเราสามารถซื้อหนังสือในรูปแบบดิจิตอลมาอ่านได้ทันที

และถ้าจะเอ่ยถึงเจ้าตลาดสิ่งพิมพ์ดิจิตอลในประเทศไทยขณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้นที่เราจะยกสถานะที่ว่าให้กับOokbee แบบไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะหากถ้าเทียบสัดส่วนในตลาดนี้แล้ว ต้องอุ๊คบีซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์ในพื้นที่นี้มากกว่า 85%

จึงทำให้แอพลิเคชั่นอีบุ๊ครูปผึ้ง เป็นกลจักรสำคัญที่นำพาวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคสื่อดิจิตอลโดยแท้จริง

ประเด็นแห่งการเจริญเติบโตในวันนี้ ‘ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จํากัด บอกเล่าถึงตัวเลขการเติบโตของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิตอลว่า ตลาดนิตยสารทั่วโลกนั้นกำลังหดตัว และจะถูกเข้าแทนที่ด้วยการใช้อินเตอร์เน็ตหรือ E-Magazine  ขณะที่ตลาดหนังสือแบบเล่มนั้นยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยมี E-Book เข้ามาแทนที่ได้เพียงส่วนหนึ่ง

หากมองดูสัดส่วนแล้ว ในสหรัฐอเมริกา E-Book เติบโตขึ้นมากินส่วนแบ่งตลาดแล้วถึง 25% ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นหรือยุโรปมี E-Book ตามหลังมาที่ 3-5% และในไทยยังถือว่าค่อย ๆ เติบโตทีละน้อยอยู่ที่ 1% เท่านั้น

 

 

ใช้การตลาดดิจิตอลช่วยเสริมทัพ

อุ๊คบีมีฐานะเป็นร้านขายหนังสือดิจิตอล แล้วก็เป็นรูปแบบการแบ่งรายได้กัน นิตยสารก็ไม่จำเป็นต้องไปสร้างแอพพลิเคชั่นของตัวเองเพราะทางอุ๊คบีมีทีมงานของบริษัทเป็นผู้ช่วยเหลือ

“เราเป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่มีคนใช้เยอะอยู่แล้ว และรายได้ที่ได้มาก็แบ่งกัน ก็เหมือนกับเราช่วยให้นิตยสารที่เป็นออฟไลน์ขึ้นมาเป็นออนไลน์ได้ในรูปแบบ PDF แต่จะมีนิตยสารอยู่ประมาณ 10% ที่ทำ E-Magazine หน้าตาไม่เหมือนกับแบบพิมพ์เป็นเล่มธรรมดา มีลูกเล่นใหม่ ๆ ทางนิตยสารอาจจะช่วยออกแบบมาว่าอยากจะให้นิตยสารมีรูปเล่มอย่างนี้ ซึ่งทางบริษัทเราก็จะมีทีมช่วยซัพพอร์ทให้”

นอกจากจะทำหน้าที่เป็นหน้าร้านขายหนังสือแล้ว อุ๊คบียังช่วยทำการตลาดดิจิตอลให้ด้วย เราจึงได้เห็นโปรโมชั่น ‘อ่านหนังสือบุฟเฟ่ต์ 199 บาท ต่อเดือน’ ผู้อ่านสามารถอ่านหนังสือที่เข้าร่วมโปรโมชั่นได้ไม่จำกัดตลอดทั้งเดือน ทำการตลาดใน Line Flash Sale หรือโปรโมชั่นซื้อหนังสือหนึ่งปีแถมอีกหนึ่งปี

นอกจากนี้ยังมีวิธีการโปรโมทหนังสือตามที่เจ้าของหนังสือร้องขอ อาทิ ใส่แบนเนอร์โปรโมทหนังสือในหน้าแรกของแอพพลิเคชั่นอุ๊คบี หรือทำ Deep Link สำหรับให้กดเข้าอ่านหนังสือจากหน้าเว็บหรือเฟซบุ๊คได้โดยตรง เป็นต้น

“เราใช้งบประมาณในการโปรโมทอุ๊คบีเยอะครับ ลงโฆษณาเฟซบุ๊ค เรามี Line official account ซึ่งมีสมาชิกอยู่นับล้านราย ส่วนในเฟซบุ๊คแฟนเพจมีคนติดตามเรา 8-9 แสนคน และเราส่งอีเมล์ถึงลูกค้าครั้งละ 2 ล้านฉบับ เดือนละ 4 ครั้ง”

 

คลาวด์คอมพิวติ้งสนองไลฟ์สไตล์

อุ๊คบี เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตัวขึ้นจากเทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้ง โดยเริ่มจากการเป็นร้านหนังสือออนไลน์ ไปสู่การต่อยอดใช้กับดิจิตอลคอนเทนท์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี หนัง เกมส์

“คลาวด์คอมพิวติ้งก็เหมือนสาธารณูปโภค คือ ใช้เยอะก็จ่ายเยอะ ใช้น้อยก็จ่ายน้อย ทำให้เราสามารถควบคุมขนาดธุรกิจและขยายงานไปได้ การที่เราออกแบบระบบให้เป็นแบบนี้ ก็สามารถทำให้ในอนาคตเราสามารถขายธุรกิจไปไกลแค่ไหนก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจว่า เราคิดว่าจะทำอะไรที่สามารถได้เงินจากธุรกิจ”

“ หน้าที่ของบริษัทเทคโนโลยี สตาร์ทอัพก็คือพยายามดูว่ามีช่องว่างตรงไหนที่เราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วคนยอมจ่ายเงิน และโมเดลของอุ๊คบีเริ่มมาจากดิจิตอลคอนเทนท์ว่าคนชอบดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม อ่านหนังสือ เราก็ทำมาเป็นแอพพลิเคชั่นอุ๊คบี แอพพลิเคชั่นอุ๊คบีคอมมิคส์สำหรับคอการ์ตูน แอพพลิเคชั่นฟังใจสำหรับคนชอบฟังเพลง โดยที่ใช้ล็อกอินร่วมกันและแชร์ข้อมูลกัน”

 

ขยายธุรกิจทั้งแนวราบ-แนวลึก

ที่ผ่านมาอุ๊คบีขยายธุรกิจจากการระดมทุนจากนักลงทุน โดยในช่วงเริ่มต้นมีกลุ่มบริษัทอินทัชเป็นบริษัทร่วมลงทุนรายแรกในโครงการอินเวนเจอร์แคปปิตอล (Venture Capital) ในนามอินเวนท์ (Invent) และเมื่อปีที่แล้วจึงได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท ทรานสคอสมอส จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม

“การร่วมทุนทำให้เรามีเงินมาขยายธุรกิจ เราอาจจะมีกำไรอยู่ปีละ 1-2 ล้านบาท แต่เราต้องการเงินลงทุน 50 ล้านบาท แปลว่าเราต้องรอนานมากกว่าจะขยายไปต่างประเทศหรือมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้ การที่มีเงินลงทุนเข้ามาหลายสิบล้านหรือหลักร้อยล้าน ก็ทำให้เราสามารถทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือขยายโพรดักส์ไลน์ใหม่ ๆ ได้โดยไม่ต้องรอเอาผลประกอบการไปใช้ และนักลงทุนก็จะมองว่าหากลงทุนแล้วในอนาคตเราจะสามารถขยายตลาดไปได้แค่ไหน”

ตอนนี้อุ๊คบีกำลังขยายงานไปยังต่างประเทศ เริ่มจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยร่วมกับพันธมิตร คือสำนักพิมพ์และนิตยสารท้องถิ่นในฟิลิปปินส์ 60 ฉบับ มาเลเซีย 80 ฉบับ และเวียดนาม 100 ฉบับ ทั้งยังตั้งเป้าจะเป็นผู้นำร้านหนังสือดิจิตอลในภูมิภาคเอเชียภายใน 3 ปีข้างหน้า

000023

“เราเอาโปรโมชั่นบุฟเฟ่ต์ไปเปิดในแต่ละประเทศ และมีบางคอนเทนต์ที่เราเปิดบุฟเฟ่ต์ให้ทุกประเทศอ่านได้ เช่น หนังสือแฟชั่น หรือหนังสือตกแต่งบ้าน ถ้ามองว่าทุกประเทศร่วมกันทำ ก็ทำให้ตลาดโดยรวมใหญ่ขึ้น”

ขณะเดียวกัน อุ๊คบีก็ขยับมารุกตลาดหนังสือกระดาษ ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้หนังสืออีบุ๊คจะเติบโตขึ้นมีมูลค่าหลักร้อยล้านบาท แต่มูลค่าหนังสือกระดาษก็ยังมีมูลค่าหลายพันล้านบาท

“ในเมืองไทย คนยังไม่ซื้อหนังสือออนไลน์เลย หนังสือ 99% คนยังไปซื้อที่ร้าน เพราะฉะนั้นถ้ามีคนหนึ่งที่จะทำร้านอเมซอน ให้คนซื้อหนังสือกระดาษนี่แหละ แต่ซื้ออนไลน์ขึ้นมา เราซึ่งมีความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ถนัดเรื่องดิจิตอลอยู่แล้ว เราก็น่าจะทำได้ดี”

นอกจากนี้ อุ๊คบียังเปิดโอกาสให้นักเขียนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าส่งผลงานเข้ามาให้อุ๊คบีขายเป็น E-Book ได้ง่าย ๆ คือเมื่อส่งผลงานเข้ามาก็นำเข้าระบบขายให้ทันทีโดยไม่มีข้อจำกัด นอกจากนั้นยังตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือกระดาษ โดยใช้วิธีให้คนอ่านเข้ามาจองก่อน แล้วจึงพิมพ์ออกมาเป็น ‘Ookbee Print on Demand’ แล้วส่งตรงถึงบ้าน

“ผมยกตัวอย่างร้านหนังสือทั่วไปมีที่วางอยู่ได้ 2 พันเล่ม  เพราะฉะนั้นนักเขียนในเมืองไทยก็จะมีอยู่ประมาณ 2 พันคนวนเวียนอยู่ในร้านหนังสือ แต่จำเป็นไหมว่าทั้งประเทศต้องมีคนแค่ 2 พันคนได้ออกผลงานเป็นหนังสือ เพราะฉะนั้นก็คือใครอยากจะเขียนก็เขียนขึ้นมาเป็นอีบุ๊คได้ก่อน ถ้าเขาอยากจะไปอีกขั้นหนึ่งออกมาเป็นผลงานเล่มกระดาษ เราก็ทำให้ได้ เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีพิมพ์น้อยก็ได้ พิมพ์เป็นดิจิตอล พอร้านเป็นอินเตอร์เน็ตก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดว่าเขียนได้กี่พันคน นี่ก็เป็นเป้าหมายของเรา”

“ตอนซื้อเราจะถามว่าซื้อเป็นกระดาษหรือซื้อเป็น E-book ซึ่งถ้าซื้อเป็นกระดาษเราจะแถม E-book ให้ ต่อให้กระดาษพังลงไปแล้วในอีก 10 ปี คุณก็จะมี E-Book เป็นแบคอัพให้อยู่”

ณัฐวุฒิกล่าวโดยสรุปให้เราฟังถึงทุกสิ่งที่อุ๊คบีเป็นในวันนี้ และหนทางที่จะเดินไปในอนาคตนับต่อจากนี้ ที่ฟังแล้วน่าจะทำให้เราอุ่นใจได้ว่าวัฒนธรรมการอ่านของไทยจะแข็งแรง และไม่พังทลายลงไปโดยง่าย ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนก็ตาม

 

Text : 9Jan

                 

mktevent
No Comments

Post a Comment