Top

ละอองฝนและลมหนาว หลากเรื่องราวจากดอยสูง

ละอองฝนและลมหนาว หลากเรื่องราวจากดอยสูง

Column : Journey –โครงการหลวง

Writer/Photo :ศรัณย์ เสมาทอง

 

03-อ่างขาง-โรงเห็ด-IMG_4723-2

 

ผมดึงผ้าห่มให้กระชับขึ้น พอจะลดความเยียบเย็นลงได้บ้าง “ไม่ใช่หน้าหนาวเสียหน่อย ทำไมมันหนาวขนาดนี้” เสียงในมโนสำนึกของคนที่อยู่ในเมืองร้อนจนชินยังสั่น ๆ “เออ…นี่เราอยู่บนดอยนี่นา นี่มันตีนตกนี่!!!” ประโยคนี้หลุดจากริมฝีปาก พร้อมกับผุดลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนเข้านอนแล้ว ว่าจะต้องเก็บภาพที่พักริมลำธารนี้ให้ได้  

ฤดูฝนอันแสนชุ่มฉ่ำ คงไม่มีเส้นทางไหนเหมาะมากไปกว่าย่ำเท้าขึ้นดอยสูง อาจจะเฉอะแฉะบ้างเป็นบางเวลา แต่ภาพหมู่ไม้ระเริงสายฝนก็น่าพิสมัยไม่น้อย “เราไปเดินสายโครงการหลวงที่เชียงใหม่กันนะ เตรียมตัวเปียกด้วยล่ะ” โจทย์มาละ และเป็นโจทย์ที่ต้องการพอดี

 

 

 

 

05-อ่างขาง-ชา-IMG_4691 05-อ่างขาง-ชา-IMG_4683 04-อ่างขาง-สาลี่-IMG_4537-2

เกษตรบนดอยเพื่อรอยยิ้มของชาวเขา

เมื่อราว ๆ 50 ปีก่อน เมืองไทยเริ่มทำสงครามจริงจังกับฝิ่น แต่การที่จะให้คนเลิกปลูกสิ่งผิด ซึ่งเขาคิดว่าเป็นหนทางหารายได้ ก็คือต้องหาอาชีพทดแทนให้กับเขา ประมาณปี 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ สถานีวิจัยดอยปุย ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พระองค์ได้ทอดพระเนตรการทดลองปลูกพืชเมืองหนาว เช่น พีช บ๊วย พลับ ซึ่งปกติท้อพันธุ์พื้นเมืองลูกเล็ก ๆ ก็สามารถขายได้ราคาพอ ๆ กับฝิ่น ถ้านำพันธุ์ที่ดี ให้ผลใหญ่กว่าเดิม ก็น่าจะได้รายได้ดีกว่าเดิม พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ดำเนินการอย่างจริงจัง จึงเกิด “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ขึ้นที่ดอยอ่างขาง โดยมี หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ

พืชแรกเลยก็คือ พีช หรือลูกท้อ ที่กำลังทำการทดลองกันอยู่นั่นเอง ก่อนจะขยับขยายเป็นพืชอื่น ๆ ต่อไป

 

02-อ่างขาง-ร้านกาแฟ-IMG_4805-2 02-อ่างขาง-ร้านกาแฟ-IMG_4566-2 05-อ่างขาง-ชา-IMG_4648-2

ในหุบเขาบุปผา

รถไต่ขึ้นดอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อพากลุ่มคนหลงใหลป่าหน้าฝนขึ้นไปยังสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ที่ราบในหุบเขาบนที่สูง ประมาณ 1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ดอกไม้เมืองหนาวเริ่มอวดโฉมให้ได้ชม สาว ๆ ลงรถแล้ววิ่งไปถ่ายรูปดอกไม้กันอย่างสนุกสนาน แต่ผมมองย้อนกลับไปอีกด้าน ร้านกาแฟอยู่ในดงไม้!!! สถานที่ในฝันของคนอารมณ์ชิลอย่างเรา ๆ (ขอเหมาทุกคนรวมไปด้วยเลยนะ) ผมเดินเข้าไปในร้านกาแฟเหมือนต้องมนต์ ยื่นหน้ามองผ่านระเบียงไปดูต้นไม้เขียวขจี

“ขึ้นรถชมสถานีกันเถอะพวกเรา” เสียงเรียกดังขึ้นก่อนที่ผมจะทันขอกาแฟร้อนสักแก้ว “ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็วนกลับมา”

รถพาเราผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ที่ปลูกไม้นานาพันธุ์ บ้างก็ให้ผลยามนี้ บ้างก็ยังไม่ถึงฤดูกาล โครงการหลวงวางแผนไว้เช่นนี้ เพื่อให้มีผลผลิตได้อร่อยหลากชนิดตามฤดูกาลของเขา อย่างตอนนี้มีลูกแพร์หรือสาลี่กำลังติดผลให้เราเข้าไปชมได้…และ…ชิมได้ด้วย

เจ้าหน้าที่บอกว่าปกติพาเข้ามาชมเฉย ๆ แต่กลุ่มเราเป็นกรณีพิเศษ สามารถเด็ดกินได้เลย จะได้รู้รสว่าของสดจริง ๆ รสชาติและเนื้อสัมผัสเป็นอย่างไร แต่ละคนก็ได้ลิ้มรสสาลี่หวาน ๆ เนื้อแน่นกรอบ อร่อยเสียจนอยากเก็บใส่กระเป๋า

ก่อนฟ้าจะมืดลง เราไปหยุดอยู่ที่ร้านกาแฟอีกแห่ง ที่มีสวนดอกไม้ขนาดใหญ่เต็มหุบเขา “ช่วงนี้เป็นดอกไม้สายพันธุ์รักเร่นะคะ ซึ่งเขาก็มีอายุของเขา เมื่อชุดนี้หมดเราก็จะเปลี่ยนเป็นดอกไม้ชนิดอื่น” แปลว่าถ้าเรามาในเวลาต่างกัน ก็จะพบกับภาพที่ไม่เหมือนเดิม

ที่นี่ผมได้กาแฟสมใจ “กาแฟร้อนโครงการหลวงแก้วละ 30 บาท แต่วิวนี่ น่าจะ 300 ล้านล่ะมั้ง” ผมยืนรำพึงตามประสาคอกาแฟที่ชอบดอกไม้ใบหญ้า

 

น้ำชา VS มือชา

ตื่นเช้าตรู่ เพราะอากาศเย็นเยียบ และด้วยเมื่อคืนฝนพรำ พอจะเดาได้ว่าคงจะมีหมอกสวยให้เราได้ชม อากาศที่นี่เย็นตลอดปี บรรดามอส เฟิร์น เขียวเริงร่าอยู่ตามคาคบไม้และโขดหิน แต่ละก้าวต้องเดินอย่างระมัดระวัง ต้องเตือนนักล่าโปเกม่อนที่คิดจะพบพันธุ์หายากแถวนี้ อาจจะวัดพื้นไม่รู้ตัว แต่ถ้ามาถึงตรงนี้จะมัวมาเล่นเกมอยู่ทำไมกันนะ “ยิ้มหน่อยยยยย ดูตรงเลนส์สิ อย่าดูจอ” ไม่ทันขาดคำ สายเซลฟี่ทำงานทันที

เช้านี้ภูเขาไม่มียอด เพราะหมอกหนากลืนกินไปสิ้นแล้ว เสื้อกันลมตัวบางแทบเอาไม่อยู่ ถ้าหนาวไปมากกว่านี้จะใส่เสื้อกันฝนแล้วนะ อ้าว ไม่รู้ล่ะสิ เสื้อกันฝนน่ะ กันหนาวได้ดีนัก แต่ไร่ชาสองพันที่ทอดตัวตามไหล่เขา ทำให้เราลืมความหนาวไปได้เลย ที่เรียกชื่อสองพัน เพราะเริ่มลงต้นชาเมื่อปี 2000 ตอนนี้ได้ผลผลิตครบถ้วน ทั้งชาเขียว ชาแดง ชาอู่หลง และชาวเขาเผ่าลาหู่ หรือมูเซอ ก็ได้มาทำงานในไร่ชาแห่งนี้ด้วย

“รับไข่ต้มชาสักฟองไหมคะ” รับสิครับผม ตอบในใจพร้อมยื่นมือชา ๆ ออกไปรับ เคยกินที่ในเมือง เขาเอาไข่มาต้มใส่ใบชา บางทีก็ใส่เครื่องพะโล้ลงไปด้วย พอสุกก็เคาะ ๆ ให้เปลือกร้าวแล้วต้มต่อ ไข่ออกมาเป็นลายเหมือนของโบราณ คุณประโยชน์ดีนัก ยิ่งเช้าอันยะเยือกแบบนี้ ได้ไข่ต้มกับน้ำชาร้อน ๆ เรียกว่าชีวิตดีงามทีเดียวล่ะ

 

 

07-เห็ดพอร์โตเบลโล-IMG_4788  07-เห็ดหลินจือ-IMG_4946  07-เห็ดนางนวล-IMG_4884-2

เห็ด…เด็ดกว่าที่คิด

ผมเชื่อเราคุ้นเคยกับเห็ดหอมกันเป็นอย่างดี แต่คนรุ่นใหม่อาจยังไม่เคยรู้ว่า ก่อนปี 2514 เมืองไทยไม่เคยเพาะเห็ดหอมสดได้ จนมีผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวันมาให้ความรู้และเพาะกันได้ครั้งแรกก็ที่โครงการหลวงนี่ล่ะ และปีนี้ก็มีเห็ดที่อยากจะเรียกว่าเป็นพระเอกเลย เพราะเนื้อหอมเป็นที่ต้องการมาก คือ เห็ดกระดุมสีน้ำตาล หรือ พอร์ตโตเบลโล (Portobello Mushroom) ตระกูลเดียวกับแชมปิญองนั่นล่ะ แต่ขนาดใหญ่กว่ามาก ที่วางขายในร้านโครงการหลวงนี่ใหญ่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 6 นิ้ว นึกไม่ออก ก็ล้นฝ่ามือเลยนั่นล่ะ

โรงเรือนเพาะพอร์ตโตเบลโลอยู่ที่บ้านขอบด้งในเขตสถานีเกษตรหลวงอ่างขางนี่ล่ะ ราคาดีนัก ขายส่งกิโลกรัมละ 400 บาท โรงเรือนหนึ่งเก็บได้สัปดาห์ละ 200-250 กิโลกรัม โอ…คูณราคากันเองนะ ที่นิยมเพราะรสชาติอร่อย แค่ย่างไฟก็หอมหวนชวนกิน ดอกหนึ่งทำสเต็กเห็ดได้จานหนึ่งเลยทีเดียว

เจ้าของโรงเรือนนี้คือเกษตรกร คือ ทุกกิจการทางการเกษตร ไม่ว่าจะปลูกผัก ปลูกถั่ว เพาะเห็ด โครงการฯ จะให้ความรู้และให้ยืม…เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า เชื้อเห็ด เมื่อเกษตรกรทำรายได้แล้วค่อยมาหักค่าต้นทุนที่ยืมไป เพราะปัจจุบันนี้โครงการหลวงมีสถานะเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” ทำงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยแท้ แม้กระทั่งรายได้ที่เกิดจากการขาย ก็บวกค่าขนส่งและจัดการเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ราคาที่เราซื้อเชื่อได้เลยว่าถึงมือเกษตรกรมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์แน่นอน

 

ตั้งใจดี ๆ ไม่มีจน

ทุกวันนี้สถานีวิจัยและทดลองของโครงการหลวงมี 4 สถานี และมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอีก 38 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือ แต่ละที่ก็มีความโดดเด่นไปต่าง ๆ นานา อย่างที่แกน้อยปริมาณน้ำไม่มากนัก ปลูกธัญพืชดี ถั่วแดงหลวง ถั่วอะซูกิ มีเยอะ และยังผลิตผักสลัดได้ตลอดปี หรือที่หนองเขียวก็เหมาะกับอะโวคาโดหลายสายพันธุ์ รวมถึงดอกกลอริโอซ่าสีสันสดใส ที่เห็นแบบนี้ทำรายได้ปีละหลายล้าน โอ…เกษตรกรไทย ตั้งใจดี ๆ ไม่มีจนนะ เชื่อเถอะ!!

เราเดินทางข้ามดอยมายังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยงและตีนตก ได้พบกับความพยายามเพาะเห็ดหลายชนิดสารพัดสี เห็ดนางนวลสีชมพู เห็ดนางรมสีทอง เห็ดนางรมดอยสีฟ้าอ่อน ๆ ทำซุปเห็ดหลากสีคงน่ากิน และยังเริ่มเพาะเห็ดหลินจือที่มีสรรพคุณทางยาสูง ราคาก็สูงตามไป ผลที่ได้ก็คืนสู่เกษตรกรทั้งนั้น

 

คืนแสนสุขที่ศูนย์ตีนตก

เสียงน้ำไหลที่ได้ยินเมื่อตอนค่ำ เพราะเรามัวโอ้เอ้ดูชาวบ้านทำการเกษตรกันเพลิน กว่าจะเข้าที่พักก็ไม่เห็นอะไร ประจักษ์แก่ตาในยามรุ่งสาง “นี่ที่พักในโครงการหลวงหรือนี่” เชื่อว่าคนอื่น ๆ ที่มาพร้อม ๆ กับผมคงคิดเช่นกัน บรรยากาศน่านั่งชิลกับกาแฟร้อน ๆ สักแก้วนะ

“เราจะขึ้นรถไปแม่กำปองกันละนะ เดี๋ยวค่อยกลับมากินข้าวที่นี่อีกที” ถูกขัดจังหวะอีกแล้ว ไปเดินเล่นในหมู่บ้านชื่อดังก่อนก็ได้

บ้านแม่กำปอง เป็นชุมชนโฮมสเตย์ที่ยังคงรักษาวิถีเดิม ๆ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ เรากระจายตัวกันเดินทั่วหมู่บ้าน ความสนใจของแต่ละคน ลมหนาวผสานเม็ดฝนคงไม่ทำให้เราย่อท้อได้อีกต่อไป “ก็ทั้งหนาวทั้งเปียกกันมาสองสามวันแล้วนี่นา อีกสักนิดจะเป็นไรไป” นี่ล่ะมนุษย์ การปรับตัวเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ “ก็ชาวบ้านเขายังอยู่กันได้ ทำไมเราจะทำแบบเขาไม่ได้ล่ะ”

อาหารมื้อสุดท้ายที่ตีนตก เห็นส้มตำฟักทองญี่ปุ่นแล้วยิ้ม น้ำส้มตำคลุกเคล้ากับฟักทองญี่ปุ่นลวกแบบนิ่มนอกกรอบใน ช่าง “ดี อร่อย” สมสโลแกนโครงการหลวง พาให้นึกถึงเมนูแปลกตาเมื่อหลาย ๆ มื้อที่ผ่านมา ยำข้าวแรมฟืนที่เหมือนเต้าหู้สไตล์ไทยใหญ่บ้าง น้ำพริกรากชู ที่ใส่รากต้นชูที่พี่แม่ครัวบอกว่าเหมือนต้นหอมบ้าง พีชลอยแก้วหวานอมเปรี้ยวบ้าง พาให้ยิ้มตลอดมื้ออาหาร

 

“สัญญาว่าจะมาอีก จะมานอนทุกที่ในโครงการหลวงเลย คอยดูสิ” ปฏิญาณไว้ในใจ โดยลืมนึกไปว่า เขามีอยู่ 38 ศูนย์ นี่ถ้ามาได้ปีละครั้ง ก็ใช้เวลาอีกครึ่งชีวิตเลยล่ะเนี่ย

 

เอาเป็นว่าขอสัมผัสไอหนาวจากดอยสูงที่ติดมากับผักผลไม้แทนก็แล้วกันนะขอรับ

mkteventmag
No Comments

Post a Comment