โครงการ “Active Play ออกมาเล่น”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดทำโครงการ “ออกแบบ พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนและแนวทางสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อ Active Play” ซึ่งเรียกโครงการสั้น ๆ ว่า ? “Active Play ออกมาเล่น” ? เพื่อศึกษาปัจจัยที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกายในวัยเด็กอายุ 6-14 ปี ในพื้นที่บ้าน โรงเรียน และชุมชนที่ตั้งอยู่ในย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง เพื่อให้ตอบโจทย์ความสนใจในการสร้างกิจกรรมทางกายในวัยเด็ก และเป็นการสร้างแหล่งบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพของบุคคล และการมีพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนย่านสร้างสรรค์ ซึ่ง TCDC กำลังผลักดันให้ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุงเป็นพื้นที่ต้นแบบของย่านสร้างสรรค์ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เป็นแหล่งบ่มเพาะนักสร้างสรรค์ และธุรกิจสร้างสรรค์
การทำโครงการออกแบบ พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนและแนวทางสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อ Active Play เป็นโครงการที่ยังไม่มีคำตอบตายตัวจึงต้องมีการค้นหาปัญหาว่า “ทำไมเด็กจึงไม่ออกมาเล่น?”? เพื่อหาแนวทางแก้ไขและพัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ประกอบด้วย ?
1. การค้นคว้าวิจัยเน้นการเก็บข้อมูลโดยการลงพื้นที่ (Field Research)
2. การแปลผลข้อมูล (Insights Analysis) เพื่อจัดทำโจทย์และข้อกำหนดในการออกแบบ (Design Brief)
3. การออกแบบ (Design) จากข้อมูลวิจัย และโจทย์สู่การออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริง
4. การทดสอบต้นแบบ (Prototype Testing) หลาย ๆ ครั้ง เพื่อเลือกงานออกแบบที่เหมาะสมที่สุดมาพัฒนาต่อเพื่อจัดการทดสอบในงาน Bangkok Design Week 2018 สู่การพัฒนาเป็นคู่มือนวัตกรรม Active Play เพื่อเผยแพร่ในวงกว้าง
โดยในทุกขั้นตอนใช้เครื่องมือการมีร่วมกัน (Co-creation) ของคนในพื้นที่ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นชุมชนฮารูณ ชุมชนโปลิศสภา เด็ก ๆ และคุณครูจากโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนวัดสวนพลู โรงเรียนวัดม่วงแค โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม และผู้ปกครอง กว่า 500 คน โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ถึงเดือนพฤษภาคม 2561
??
การทดสอบต้นแบบนวัตกรรม Active Play
แนวคิดหลัก (Main Concept)
จากการศึกษาพบว่าเด็กมีพฤติกรรมและความต้องการที่เกี่ยวข้องกับการเล่นที่แตกต่างกันได้แบ่งกลุ่มเด็กเป็น 3 ช่วงอายุ ได้แก่ เด็กวัย 6-9 ปี เด็กวัย 10-12 ปี และเด็กวัย 13-14 ปี พบว่าเด็กคนเดียวกันก็มีพฤติกรรมแตกต่างกันในแต่ละโอกาส สถานที่ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ กัน การออกแบบจึงเน้นให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามช่วงวัย และความสนใจของเด็กซึ่งสามารถใช้ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน
“Co-Playing Playground” ต้นแบบ Active Play ในชุมชน
ชุมชนเป็นพื้นที่ที่ควรสนับสนุนให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการเล่นของเด็กเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเด็กมีเพื่อนที่มักจะชวนกันออกมาเล่นกันอย่างอิสระอยู่แล้ว และหากมีพื้นที่ที่เหมาะสมนอกจากเพิ่มความปลอดภัยแล้ว ยังเอื้อให้เกิดการเข้าสังคม การเล่นในชุมชนไม่ค่อยมีกำแพงเรื่องวัยของเด็ก ๆ เป็นที่ที่พบเจอเด็กต่างวัยสามารถเล่นด้วยกันได้
ปัญหาที่พบของการเล่นในชุมชน
- ไม่มีการสนับสนุนจากชุมชน ไม่มีพื้นที่ที่ชัดเจน เด็กเล่นตามถนน อันตรายจากรถและอุบัติเหตุ
- ข้อจำกัดด้านพื้นที่บางทีไม่เหมาะสม เป็นพื้นที่รกอันตรายจากของแหลมคมและสัตว์มีพิษ
- การเล่นปะปนกันตามอำยุของเด็ก ซึ่งบางทีอาจโดนแบ่งแยก เด็กเล็กอาจได้เล่นในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม จากการแย่งของเด็กโต
การออกแบบ
สนามเด็กเล่นของชุมชน ที่เป็นจุดรวมหรือ Landmark ประจำชุมชน ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ
โครงสร้างหลัก (Main Structure)
ที่เด็กๆ สามารถมีปฏิสัมพันธ์ด้วยการปีนป่าย การขยับกล้ามเนื้อมัดใหญ่มีการแบ่งโซนตามความเหมาะสมกับการเล่นของเด็กเล็กที่ง่ายและปลอดภัย มีความท้าทายสำหรับเด็กโต
ส่วนแผ่นเล่นเสริม (Play Panel)
สามารถเลือกฟังชั่นการใช้งานตามความเหมาะสมและความต้องการของชุมชน คือเล่นได้อย่างอิสระ (Free Play) การเล่นประกอบการเรียน (Academic Play) และการเล่นเพื่อฝึกทักษะทางกีฬา (Sport Skills)
?
?
“Active Learning Playground”
ต้นแบบ Active Play ในโรงเรียน
ในโรงเรียนมีปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเล่นหลายอย่าง ทั้งการมีเพื่อนเล่น การมีอุปกรณ์กีฬาที่โรงเรียนเตรียมไว้ หากเป็นช่วงเวลาพักเด็กมักจะเล่นกับกลุ่มเพื่อนที่คุ้นเคยกัน แต่ยังพบว่ามีอุปสรรคบางประการที่ทำให้เด็กเล่นได้ไม่เต็มที่ ในคาบเรียนเด็กจะฟังคำสั่งจากครู แต่พบว่ายังมีโอกาสในการพัฒนาสื่อการสอนที่เอื้อให้เด็กได้เรียน และเล่นไปได้ในเวลาเดียวกัน และเรียนอย่างสนุกสนาน
ปัญหาที่พบของการเล่นในโรงเรียน
- กายภาพพื้นที่โรงเรียนไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่เล็กไป พื้นที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็ก
- นโยบายโรงเรียนผลักดันวิชาการมากกกว่า เด็กมีการบ้านเยอะ เรียนหนัก
- การสนับสนุนขึ้นอยู่กับคุณครูแต่ละคนจะสร้างสรรค์วิธีให้เด็กขยับตัว
การออกแบบ
อุปกรณ์ประกอบการเล่นบนแผ่นเล่นเสริม (Play Panel) ที่ใช้เป็นสื่อการสอนของครู ประกอบวิชาเรียนลักษณะ Active Learning และเอื้อให้เด็ก ๆ ดัดแปลงไปเล่นได้อย่างอิสระ (Free Play) ได้ในเวลาพัก สำหรับโรงเรียนที่มีพื้นที่สามารถนำโครงสร้างหลัก (Main Structure) นำประกอบกับแผ่นเล่นเสริม Academic Play Panel เพื่อการเล่นที่หลากหลาย
?
?
“Household Hack” ต้นแบบ Active Play ในบ้าน
อัตราการขยับตัวของเด็ก ๆ ในบ้านถือว่ามีน้อยที่สุด เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งจากตัวเด็กเองเพราะอยู่ในภาวะสบาย และปัจจัยภายนอก เช่น ไม่มีเพื่อนเล่น พื้นที่ไม่เอื้ออำนวย ผู้ปกครองไม่สนับสนุน
ปัญหาที่พบของการเล่นในบ้าน
- พื้นที่บ้านมักมีขนาดเล็ก หรือไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการออกแรงปานกลางถึงหนัก
- ผู้ปกครองบางบ้านไม่สนับสนุนให้เด็กเล่นในบ้านเนื่องจากอุปกรณ์เกะกะ รกบ้าน หรือการเล่นทำให้ข้าวของเสียหาย
- ผู้ปกครองสนับสนุนวิชาการมากกว่าการขยับตัวหรือการเล่น
- ไม่มีเพื่อน ไม่เอื้อให้เกิดการเล่นหรือขยับตัว
การออกแบบ
ถึงแม้ในบ้านจะไม่เอื้อให้เกิดการเล่นมากนัก แต่เด็กๆ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ขยับร่างกายมากขึ้นด้วยการดัดแปลงอุปกรณ์ทำความสะอาดที่มีอยู่ เพิ่มลูกเล่นให้การทำงานบ้านเป็นเรื่องเล่นที่สนุก ดึงดูดเด็กยิ่งขึ้น