เปลี่ยนเศษเหล็กให้มีค่า เปลี่ยนชีวิตให้มีความหมาย
ศรุตา เกียรติภาคภูมิ
ถ้าเอ่ยชื่อ ‘ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ’ และถามว่ารู้จักเธอไหม เชื่อว่าเกือบทุกคนคงส่ายหน้าแล้วถามกลับว่า เธอคือใคร แต่ในแวดวงการออกแบบงานศิลปะ การตกแต่งภายใน ย่อมคุ้นเคยกับชื่อของเธอในฐานะเจ้าของแบรนด์ PIN ผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านจากงานเศษเหล็กเป็นอย่างดี
นอกเหนือไปจากชิ้นงานที่โดดเด่นและเป็นที่น่าจดจำ ชีวิตและแนวคิดของเธอก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เธอเกิดและเติบโตในโรงงานผลิตชิ้นส่วนเหล็กจำพวกล้อบานเลื่อน ล้อราวเหล็ก ลูกปืนตลับ
วันหนึ่งโรงงานที่เธอเคยวิ่งเล่นกลายเป็นกรงขังในความคิดเธอ และอิสระคือสิ่งที่เธอโหยหา
“ปิ่นเคยอยากไปให้พ้นจากโรงงานแห่งนี้ ไปให้พ้นจากเสียงดัง ๆ เวลาเขาตีเหล็ก เพราะปิ่นอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก เรียกว่าปิ่นเกลียดมันก็ได้”
แต่จุดเปลี่ยนความคิดคือช่วงเวลาใกล้เรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อเธอต้องเลือกทำศิลปนิพนธ์ แทนที่เธอจะมองหาโอกาสใหม่ ๆ ทำเรื่องใหม่ ๆ แต่เธอกลับเลือกที่จะให้โอกาสกับโรงงานเหล็ก โรงงานที่เปรียบดั่งเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัวของเธอ และอีกหลายร้อยชีวิตในโรงงาน
“วันที่ปิ่นได้มีโอกาสย้อนกลับมามองโรงงานแห่งนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ เพราะต้องเก็บข้อมูล ได้พูดคุยกับช่างเหล็ก ได้เดินดูรอบโรงงาน ได้หยุดฟังเสียงที่อยู่รอบ ๆ ตัว มันเหมือนปิ่นเห็นลมหายใจของพวกเขา แล้วปิ่นก็เหมือนเห็นที่มาที่ไปของชีวิตตัวเอง ว่าโรงงานแห่งนี้มันมีคุณค่า มีความหมาย ต่อชีวิตที่เราเติบโตมา”
หลังจากนั้นความคิดของเธอก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เธอเปลี่ยนเศษเหล็กซึ่งไม่มีราคาให้กลายเป็นของแต่งบ้านราคาหลักร้อยหลักพันและมีคุณค่าในสายตาของชาวต่างชาติ รวมทั้งคนไทยที่เห็นความสำคัญของการออกแบบเชิงอนุรักษ์
จากความเกลียดชังโรงงานเหล็กซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจที่เธอรัก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากทัศนคติส่วนตัวทั้งสิ้น
“ปิ่นเปลี่ยนความเกลียดให้เป็นความรัก วันหนึ่งปิ่นมานั่งมองว่า เรามีความพร้อมกว่าคนอื่นตั้งเยอะ ถ้าเราทิ้งสิ่งที่เรามีอยู่ ก็ถือว่าเราโง่มาก” เธอเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น
อย่างไรก็ตามในจุดเริ่มต้นเมื่อครั้งที่ตัดสินใจทำธุรกิจตัวนี้ เธอต้องอดทนต่อแรงกดดันจากครอบครัว ไม่มีใครมองออกว่า ธุรกิจผลิตสิ่งของจากเศษเหล็กจะไปได้ไกลถึงต่างแดน
แต่ดีไซเนอร์สาวคนนี้อาศัยความอดทนและความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและจากสังคมด้วยการสร้าง ทำให้ทุกคนเห็นและเชื่อในสิ่งที่เธอคิด
“ปิ่นเป็นคนที่ประเภทยิ่งโดนกดดันมาเท่าไหร่ ปิ่นจะยิ่งไม่หยุด จะคิดในใจเลยว่า เดี๋ยวฉันจะทำให้ดู ตอนแรก ๆ ผลงานของปิ่นไม่มีใครดูรู้ว่ามันเป็นเศษเหล็ก เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปทรงอะไร แรก ๆ ปิ่นลองผิดลองถูกมาเยอะมาก แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก และปิ่นก็ไม่ได้ท้อ ถือว่าเป็นการทดลองให้ขายได้ เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตต่อไปได้”
“เราปรับเปลี่ยนตัวเอง ลดความเป็นตัวเองลงเพื่อให้คนหันมาชอบงานของเรา เป็นการผสานระหว่างศิลปะและธุรกิจให้เกิดขึ้น คอยพัฒนาชิ้นงานตลอดเวลา ไปเข้าฝึกอบรม พูดคุยขอคำแนะนำจากพี่ ๆ ดีไซเนอร์ และคอยศึกษาไลฟ์สไตล์คนแต่ละประเภท รสนิยมของผู้คน ทั้งจากการเดินทางไปประเทศต่าง ๆ ท่องเว็บไซต์ ดูยูทูป และอ่านหนังสือ”
โชคดีที่เธอคิดได้ในตอนที่ยังไม่สายเกินไปและตอนนี้มันก็เป็นธุรกิจที่ไม่ได้เลี้ยงแค่ชีวิตของเธอเองเท่านั้น แต่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในโรงงานของเธออีกด้วย
ก่อนจากกัน เราถามเธอว่า สิ่งสำคัญสำหรับดีไซเนอร์รวมทั้งคนที่ไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่กำลังมองหาว่าจะเริ่มต้นทำอะไรดี เธอมีคำแนะนำอะไรบ้าง เธอตอบเราโดยไม่ลังเลยว่า
“เราต้องมองให้เห็นชีวิตตัวเอง ว่าต้องการอะไร ขอให้เริ่มต้นทำจากสิ่งที่ตัวเองมี ทำให้มันมีคุณค่า พยายามมองในมุมมองใหม่ ๆ ยกตัวอย่างชีวิตปิ่นเอง ทุกคนทิ้งเศษเหล็ก เพราะคิดว่ามันไม่มีค่า แต่ปิ่นกลับมองเห็นคุณค่าและความสวยงามของมัน เมื่อมองเศษเหล็กในมุมใหม่ เหล็กก็กลายเป็นของที่มีค่าสำหรับปิ่น”
จากเศษเหล็กที่ถูกทิ้ง ไม่มีใครเคยมองเห็นคุณค่า หญิงสาวคนนี้เปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเธอเอง จากเด็กหญิงปิ่นที่วิ่งเล่นในโรงงานเหล็ก ไม่มีใครรู้จัก วันนี้คุณได้รู้จักเธอแล้ว เพราะเธอค่อย ๆ สร้างคุณค่าให้ตัวเอง เธอเป็นอาจารย์ปิ่นที่น่ารักของลูกศิษย์ เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์จากเศษเหล็ก ที่สำคัญเธอเป็นความภูมิใจของวงการดีไซเนอร์เมืองไทยที่กำลังก้าวสู่ระดับโลกที่เราต้องภาคภูมิใจอีกด้วย
เรื่อง : เภรินตรา