Top

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) นำทีมนักวิจัย ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อรับมือโรคอุบัติใหม่ ขึ้นทำเนียบ โปรโมทงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 15

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) นำทีมนักวิจัย ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อรับมือโรคอุบัติใหม่ ขึ้นทำเนียบ โปรโมทงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 15

(ทำเนียบรัฐบาล-29 ก.ค.63) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมตัวอย่างผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในกิจกรรม “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้การต้อนรับและนำเสนอสรุปภาพรวมของกิจกรรมดังกล่าว พร้อมนำชมผลงานที่จัดแสดง อาทิ การพัฒนาวัคซีน COVID-19, อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE), และการวิจัยชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19  ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ในวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น.
การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ กระจายโอกาสการเข้าถึงข้อมูลความรู้การวิจัยและนวัตกรรมตามนโยบายของรัฐบาล และขยายผลสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างทั่วโลก เป็นโอกาสและความท้าทาย  ที่ประชาคมวิจัยคนไทยได้รวมพลังสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติในครั้งนี้ จึงเป็นกลไกหนึ่งในการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการ “รวมพลคนวิจัย สู้ภัยโควิด-19” ด้วยวิจัยและนวัตกรรม จึงได้มีการมุ่งเน้นความก้าวหน้างานวิจัยของประเทศด้านโควิด-19 ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
  1. การพัฒนาวัคซีนCOVID-19
   ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องวัคซีนเป็นอย่างมาก โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ประเทศไทยดำเนินการเรื่องวัคซีนอย่างรวดเร็ว เพื่อคนไทยจะได้ใช้วัคซีน COVID-19 เป็นลำดับแรกๆ ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำของโลก ซึ่งทั่วโลกกำลังวิจัยและพัฒนาประมาณ 200 แบบ โดยในประเทศไทยได้ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวง อว. ซึ่ง วช. ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ  ได้ขับเคลื่อนการวิจัย พัฒนา ผลิต รวมทั้งการเตรียมการรับเทคโนโลยีหรือจัดหาวัคซีนจากทั้งภายในและต่างประเทศ ในส่วนการวิจัย วช. และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวัคซีน COVID-19 แล้ว 7 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งมีวิธีการและเทคโนโลยีต่างกัน โดยมีเป้าหมายและวิธีดำเนินงานสอดคล้องกัน เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนพร้อมใช้ได้
สำหรับการพัฒนาในประเทศ วัคซีนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดของไทยในขณะนี้ คือ วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในหนูและลิงเป็นที่น่าพอใจ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.63 และเข็มที่สองเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63 ณ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังได้รับวัคซีนเข็มที่สอง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น มีระดับภูมิคุ้มกันสูงมากในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนโดสสูง และทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีผลข้างเคียงอื่นๆ โดยจะทดสอบวัคซีนเข็มที่สาม ในวันที่ 22 ก.ค.63 ติดตามผลความปลอดภัยอีก 6 เดือน และจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ต่อไป ซึ่งได้เตรียมสั่งผลิตเพื่อทดสอบในมนุษย์ ประมาณ10,000โดส โดยจะรับอาสาสมัครในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. 63  คาดว่าจะสามารถนำวัคซีนไปทดสอบในมนุษย์ ได้ในเดือนกันยายน – ตุลาคม 2563
  1. อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE)
    ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย เกิดปัญหาการ  ขาดแคลนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลน และเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างนวัตกรรมทางเลือกด้วยฝีมือคนไทย  โดยได้พัฒนาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ที่ใช้ได้แล้ว รวมทั้งมีมาตรฐานและสามารถผลิตได้จำนวนเพียงพอ ได้แก่
1) นวัตกรรมชุด PPE แบบ Isolationgown ระดับ 2 ชนิด ใช้ซ้ำ รุ่น“เราสู้” และ Coverall ระดับ4 รุ่น “เราชนะ” พัฒนาโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และสมาคมเส้นใยประดิษฐ์ไทยซึ่งมี การผลิตชุด PPE แบบ Isolation gown ล็อตแรกแล้ว 44,000 ชุด ใช้ซ้ำโดยซักได้ 20 ครั้ง สามารถทดแทนชุดแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 800,000 ชุด
2) หน้ากากผ้านาโน (Win-Masks Washable Innovative Nano Masks) ซึ่งเป็นหน้ากากนาโนสะท้อนน้ำ สามารถซักได้ 30 ครั้ง และป้องกันหรือกรองฝุ่นละอองฝอยขนาด 5 ไมครอนได้ รวมถึงป้องกันการซึมผ่านของละอองฝอยเสมหะ หรือสารคัดหลั่งที่เป็นของเหลว ซึ่งขณะนี้มีการผลิตแล้ว จำนวน 207,000 ชิ้น สำหรับบุคลากรทางการแพทย์โดยได้ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศแล้ว
3) หน้ากากแรงดันบวก (Powered air-purifying respirator, PAPR) โดยทีมนักวิจัยไทยกลุ่มสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นการพัฒนาหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ ชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ มีแรงดันบวกภายในหน้ากากประมาณ 3 – 7 ปาสคาล โดยได้ผลิตใช้แล้วจำนวนมากกว่า 3,000 ชุด

  1. การวิจัยชุดตรวจวินิจฉัยCOVID-19
    ประเทศไทยได้มีการวิจัยและพัฒนาและผลิตชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 ในหลากหลายเทคนิควิธีการ อาทิ
1) ชุดตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ
    1.1) ชุดตรวจประเภท RT-PCR แบบมาตรฐานสากล ซึ่งพัฒนาโดยกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์และบริษัทสยามไบโอไซน์ จำกัด โดยมีกำลังการผลิต 100,000 ชุดต่อเดือน เพียงพอในประเทศและสามารถสนับสนุนให้กับต่างประเทศได้
1.2) ชุดตรวจเสริมแบบได้ผลรวดเร็ว ประเภท LAMP พัฒนาโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
   1.3) ชุดตรวจเสริมแบบได้ผลรวดเร็ว ประเภท CRISPR-cas พัฒนาโดยสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) ชุดตรวจหาแอนติบอดี เพื่อใช้ทางระบาดวิทยา เป็นชุดตรวจแบบรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยี lateral flowimmunoassay ทำให้สามารถตรวจจับแอนติบอดีที่จำเพาะต่อไวรัส SARS-CoV-2 ในเลือด ทราบผลอย่างรวดเร็ว พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด
3). ชุดตรวจหาแอนติเจน และอื่นๆ
 
            นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยต่างๆอีกมากมาย พร้อมจัดแสดงอย่างครบทุกมิติกว่า 300 ผลงาน อาทิ ครีมพอกหน้าต้านสิว สารสกัดจากข้าวแดง // หุ่นยนต์เก็บขยะบนผิวน้ำ // เจลอาบน้ำสารสกัดจากผักเบี้ยทะเล // “ทำน้ำร้อนให้  น้องอาบ ทำกับข้าวให้น้องทาน ที่อมก๋อย” // นวัตกรรมแปรรูปขยะชีวมวลเป็นพลังงานที่ยั่งยืนของชุมชน // นวัตกรรมผักเชียงดาราชินีผักล้านนา // รถยกสูงกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยและกลบดิน // มาตรฐานผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ // ฯลฯ
Mktevent
No Comments

Post a Comment