Top

ปั่นไปข้างหน้าบนหลังอานจักรยานแห่งชีวิต

ปั่นไปข้างหน้าบนหลังอานจักรยานแห่งชีวิต

Life’s Talk

 

ทัพพ์ฐิภูม ธันวารชร

ปั่นไปข้างหน้าบนหลังอานจักรยานแห่งชีวิต

             ถ้าคุณชอบขี่จักรยานและมีสนามเขียวที่สุวรรณภูมิเป็นแทรคปั่นสองล้อในดวงใจ ไม่แน่คุณอาจจะเคยขี่ตามหลังชายที่ชื่อ ‘ทัพพ์ฐิภูม ธันวารชร’ ประธานกรรมการบริษัท ‘อินโน-เดนท์ จำกัด’ ก็ได้ แต่ถ้าคุณบอกว่าเคยขี่แซงเขาละก็ แปลว่าประสบการณ์การปั่นของคุณต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอนเพราะไม่ว่าจะในสนามชีวิตหรือในสนามปั่น ต่อให้เหนื่อยแค่ไหน ถ้ายังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ผู้ชายคนนี้ไม่เคยหยุดปั่น

 

            ที่กล่าวไปข้างต้นคือเหตุผลที่พาเราไปนั่งพูดคุยในประเด็นชีวิตของหมอฟันคนเก่งบนหลังอานเสือหมอบ ก่อนที่เราจะเริ่มต้นด้วยคำถามเรียบง่ายถึงจุดเริ่มต้นในการขี่จักรยาน ทัพพ์ฐิภูมหรือหมอเอ้ขอเท้าความเล่าถึงชีวิตการทำงานในปัจจุบันก่อน ที่เขาบอกเราว่ากำลังสร้าง อินโน-เดนท์ ให้กลายเป็นองค์กรสีขาวนั่นเอง

“ผมเคยทำงานมาหลายที่มากและได้เห็นว่าแต่ละที่มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร เมื่อมีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการเอง ก็เลยอยากจะสร้างองค์กรสีขาว ที่ลงตัวในทุกมิติทั้งบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ และราคาที่เหมาะสม ให้คนมาใช้บริการคุ้มค่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่จ่าย เราทำคลินิกเป็นทรงบ้าน มีบาร์เครื่องดื่มชงกาแฟในบ้าน เปิดเพลงเบา ๆ เพื่อให้ทุกคนเข้ามาแล้วรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย”

หมอเอ้เล่าถึงผู้คนและงานที่ทำด้วยแววตาสดใส จนดิฉันซึ่งเป็นผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ถึงพลังแห่งความทุ่มเทในประโยคการสนทนา

 “เทคโนโลยีซื้อกันได้ แต่สิ่งที่ซื้อไม่ได้คือ Hospitality ผมบริหารองค์กรแบบธุรกิจครอบครัว หมายถึงทุกคนคือครอบครัว ทานข้าวหม้อเดียวกัน ผมสร้างคน และให้คนสร้างองค์กร ผมฝึกให้คนคิดเป็น” เขาย้ำกับเราอีกครั้ง

 

การฝึกให้คนคิดเป็นยากไหม? หมอเอ้ตอบสวนกลับมาด้วยรอยยิ้มอบอุ่นทันทีว่ายากมาก เพราะทัศนคติเป็นพื้นฐานส่วนตัว แต่การเติมเต็มวิธีคิดเข้าไปเรื่อย ๆ จะทำให้คนสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ เขายกตัวอย่างถึงน้ำกาแฟในแก้วว่าถ้าจะเปลี่ยนเป็นน้ำใสต้องทำอย่างไร หากเททิ้งเปลี่ยนน้ำนั่นก็เท่ากับเป็นการคว่ำความรู้สึก หรืออาจจะเป็นการดูถูกทัศนคติความคิดดั้งเดิมของบุคลากร ดังนั้นเขาจึงเลือกวิธีเปลี่ยนที่ละมุนละม่อมมากกว่านั้น

“วิธีของผมจะเติมน้ำเปล่าไปเรื่อย ๆ ให้น้ำล้นจนกลายเป็นน้ำใส ผมค่อนข้างกระตือรือร้น ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรที่ดีที่สุดในโลก และก็ไม่มีอะไรที่ไม่ดีที่สุดในโลก เราต้องก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ ถ้าเราหยุดนิ่ง เราช้าทันที ตื่นมาต้องเดิน ไม่เดินก็คลาน แต่อย่าลืมว่าทุกวันนี้ทุกคนวิ่ง เราเองก็อย่าหยุดวิ่งด้วยเช่นกัน นั่นคือความคิดที่ผมอยากจะเพิ่มเติมให้กับพนักงานในชีวิตจริง

แต่เอาเข้าจริงหากพ้นจากเรื่องของการงานที่ อินโน-เดนท์ เขาไม่ได้ชอบวิ่ง หากแต่หมอหนุ่มรักการใช้ชีวิตบนหลังอานจักรยานมากกว่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เขายอมรับกับเราว่ามันตอบสนองอัตตาตนเองได้อย่างลงตัว

“ในช่วงห้าหกปีนี้คนส่วนใหญ่เริ่มมีความคิดเรื่องการห่วงใยสุขภาพ (Health Concern) เพิ่มมากขึ้น ผมมองว่าคนเราต้อง Live for Happiness และความสุขในชีวิตไม่ได้หมายถึงอิสระทางการเงินอย่างเดียว มีอยู่ช่วงหนึ่ง เราถูกสอนมาว่าต้องทำงานให้ได้เงินเยอะ เงินเยอะแล้วจะสบายขึ้น ซึ่งสำหรับผมเงินมันอาจจะไม่ใช่คำตอบเดียวของความสุข ยังมีอีกหลากหลายสิ่งในชีวิตที่ผมเห็นว่าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความสงบสุขหรืออยู่อย่างพอเพียง อยู่ตามอัตภาพของตัวเอง คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าพอเพียงคือไม่ใช้  อัตภาพของแต่ละคนเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ผมทำงานหนักก็มีการให้รางวัลตัวเอง ให้ของขวัญแก่ครอบครัว”

“อย่างการขี่จักรยาน การเล่นกีตาร์ มันถูกมองว่าเป็นของเล่นของผู้ใหญ่ อาจจะมีราคาแพงแต่มันเปิดโลกทัศน์ให้เราหลาย ๆ อย่าง คนเราไม่สามารถอยู่ตลอดกาล แต่เราต้องการอยู่อย่างมีความสุข ไร้โรคภัย บางทีเราไม่ค่อยตระหนักกันหรอกว่าสุขภาพมันสำคัญแค่ไหน ลองเดินโดยไม่มีขาซ้ายหนึ่งอาทิตย์ คุณจะรู้สึกว่าขาซ้ายสำคัญขึ้นมาทันที ทุกส่วนของเรามีค่าเหมือน ๆ กัน ผมเอาหลักการนี้มาใช้บริหารงาน ดูแลครอบครัว ผมให้ความสำคัญกับทุก ๆ หน่วย กลไกเฟืองตัวที่เล็กที่สุดถ้าคุณถอดออกมา คุณจะอยู่ไม่ได้ทันที

นั่นคือเหตุผลของชีวิตที่นำไปสู่กิจกรรมการปั่นจักรยานที่เขาหลงใหลอย่างหัวปักหัวปำ

“การที่ผมหันมาขี่จักรยานเริ่มต้นมาจากมีเพื่อนกลุ่มหนึ่งสมัยเรียนมัธยมกลับมารวมตัวกัน เพื่อนขี่จักรยานเอาจักรยานมา Meeting แล้วเราได้ลอง ก็รู้สึกชอบ มันย้อนความรู้สึกไปสมัยตอนเราปั่นเล่นตอนเด็ก ๆ ตอนนั้นขี่ได้ ทรงตัวได้ แต่ใช้เกียร์ไม่เป็น ทำความเร็วไม่ได้ ผมไปปั่นกับกลุ่มเพื่อนแถวตลาดบางน้ำผึ้ง กลับมาบ้านภรรยาถามว่าเราไปรบที่ไหนมา โทรมมาก แต่ผมเป็นคนไม่ยอมแพ้ ทำอะไรต้องทำให้ถึงที่สุด”

33

            คุณหมอยอดนักปั่นได้เล่าเพิ่มเติมให้เราฟังว่าการปั่นจักรยานช่วงแรกแรกเขาเริ่มต้นด้วยจักรยานประเภททัวร์ริ่ง แต่ด้วยความที่ชีวิตของเขาไม่สอดคล้องกับการปั่นทางไกลที่ต้องไปกับกลุ่มเพื่อนขนาดใหญ่ ทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนมาขี่จักรยานแบบเสือภูเขา ปั่นไปลองไปก็ยังไม่ใช่จึงลองเปลี่ยนไปสู่จักรยานสายทำความเร็วอย่างเสือหมอบ และจักรยานประเภทนี้นี่เองที่เปลี่ยนมุมมองการปั่นของเขาไปได้อย่างสิ้นเชิงในท้ายที่สุด

“ตอนแรกคิดว่าเสือหมอบไม่ดี แต่ก็คิดว่าลองดู ไม่ลองไม่รู้ พอลองแล้วติดใจเลย จากนั้นมาผมเริ่มฝึกขี่อยู่สักพักหนึ่งก็เริ่มไปลงแข่งบ้าง ผมขี่จักรยานมาสองปี หยุดไปครึ่งปี เพราะโดนรถเฉี่ยวหัวฟาดฟุตบาท หลังจากนั้นไม่ค่อยแฮปปี้ในการขี่ถนนใหญ่ บางกลุ่มเขาคิดว่าจักรยานไปแย่งพื้นที่บนถนน จริง ๆ เราก็มีสิทธิเท่าเทียมกันแต่คนบางกลุ่มเขาไม่เข้าใจ เมื่อก่อนผมความดันสูงมาก มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน เมื่อขี่จักรยานทุกอย่างดีขึ้น น้ำหนักลดลงมาสิบกิโลกรัม ผมพยายามจะขี่อาทิตย์ละสองสามครั้ง วนรอบสนามเขียวที่สุวรรณภูมิรอบละ 23.5 กิโลเมตร ส่วนใหญ่สองรอบสามรอบต่อวัน ขี่มากสุดเป็นร้อยกิโลเมตร”

เราถามเขาว่าในวันนี้จักรยานตัวแรงรุ่นไหนที่เป็นพาหนะคู่ใจเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของผู้ชายคนนี้ เขาตอบพร้อมรอยยิ้มอย่างภูมิใจจนเราสังเกตได้ แน่นอนว่ามันต้องเป็นจักรยานระดับไฮเอนด์ที่ไม่ธรรมดาทั้งในแง่คุณภาพและราคา

“ตอนนี้ผมใช้ Pinarello Dogma F8 จริง ๆ แล้วลองมาหลายยี่ห้อแต่ที่เลือกคันนี้เพราะชอบในสมรรถนะและการออกแบบ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นแค่ของเล่นราคาสูง แต่ผมอยากให้มองว่านี่เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพตัวเราเอง ทำให้ร่างกายดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น จักรยานจะแพงทันทีถ้าเราซื้อแล้วจอดไว้เฉย ๆ

 

ชีวิตบนหลังอานในระหว่างการทำความเร็วให้ลมตึงกระแทกหน้า เราถามเขาว่ามันให้ความคิดอะไรที่เป็นประโยชน์กับชีวิตได้บ้าง หมอเอ้ตอบคำถามนี้ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า

 “การขี่จักรยาน นอกจากจะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายแล้ว ผมมองว่ามันเป็นการทำสมาธิภายใต้การเคลื่อนไหว เวลาที่ผมขี่จักรยาน ผมได้อยู่กับตัวเอง เป้าหมายในการขี่แต่ละครั้งก็เหมือนมีกำแพงอยู่ข้างหน้า มันก็เหมือนทุก ๆ ก้าวย่างในชีวิตที่มักมีกำแพงขวางกั้นเสมอ ตาม Achievement ที่เราต้องการจะไปให้ถึง แต่ไม่ว่าเหนื่อยแค่ไหนผมไม่เคยหยุดเพราะผมเป็นนักสู้”

 

ในฐานะของนักสู้บนหลังอานจักรยานที่เขาบอก หมอเอ้ต้องสู้กับอะไรบ้างในชีวิต เราถามเขาเป็นคำถามท้าย ๆ ในการสนทนาวันนั้น

“งานที่ผมทำอยู่ ผมยอมรับว่าเคยคิดว่าจะไม่ทำ เพราะเจอกระแสต่าง ๆ แต่พอผมมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าผมต้องดูแลคนกี่คน คำตอบคือไม่ใช่แค่พนักงาน แต่มีคนอีกจำนวนมากเบื้องหลังคนเหล่านี้ ถ้าทิ้งเขาเราก็สบาย แต่ที่เราทำทุกวันนี้มันคือการดูแลพนักงานซึ่งเปรียบเสมือนคนในครอบครัวเรารักในงานที่ทำให้กับคนไข้ ทำอย่างไรให้บาลานซ์ทุกอย่างเหล่านี้ให้ดีที่สุด”

             หมอหนุ่มย้ำกับเราก่อนเผยถึงปณิธานของชีวิตในการสร้างสรรค์จรรโลงสังคมให้ดีขึ้น นั่นก็คือการเป็นครูที่เขาบอกว่า ในวันหนึ่งหากบริษัทที่ทำอยู่ลงตัวแล้ว เขาก็จะปลีกตัวออกไปสอนหนังสือให้แก่เด็กในต่างจังหวัดที่ทุรกันดาร นั่นคือความใฝ่ฝันอันสูงสุดในชีวิตนี้ไม่ได้มีเพียงเพื่อตัวเอง แต่ต้องการเผื่อแผ่ออกไปให้สังคมโดยรวมได้รับประโยชน์จากความรู้ของเขามากที่สุด

 

Quote :

“เวลาที่ผมขี่จักรยาน ผมได้อยู่กับตัวเอง เป้าหมายในการขี่แต่ละครั้งก็เหมือนมีกำแพงอยู่ข้างหน้า แต่มันก็เหมือนทุก ๆ ก้าวย่างในชีวิตที่มักมีกำแพงขวางกั้นเสมอ ตาม Achievement ที่เราต้องการจะไปให้ถึง แต่ไม่ว่าเหนื่อยแค่ไหนผมไม่เคยหยุดเพราะผมเป็นนักสู้” 

 

เรื่อง : ฝนธรรม ผลภาค

ภาพ : วิริยะ  หลวงสนาม

mktevent
No Comments

Post a Comment