ธุรกิจอาหารกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
Guru’s Knowledge
ในภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้แต่ละประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับผลกระทบอันหลากมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็มักประสบกับปัญหาข้างต้นนั้นอยู่ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดการชะลอตัวอันขยายวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งสองขั้ว หรือประเทศยักษ์ใหญ่ในฝั่งยุโรปก็ตาม ถึงแม้จะมีการรวมกลุ่มก้อนเพื่อเกื้อหนุนกันทางเศรษฐกิจ หรือสร้างสถานการณ์ต่อรองทางอำนาจใด ๆ ก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากมายนัก และปัญหาทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เป็นตัวฉุดรั้งทำให้เกิดผลกระทบในระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็ตาม ส่วนภัยธรรมชาติก็เป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศต่างต้องเผชิญกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของฤดูกาลจนทำให้ผลผลิตการเกษตรต่าง ๆ ในหลายประเทศได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอันหลากมิติที่เกิดขึ้นจริงทั่วทุกมุมโลกในขณะนี้
อย่างไรก็ตามไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด หรือเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม จะเป็นเช่นใด มนุษย์ก็ยังคงต้องดำรงชีพด้วยการ “กิน” อยู่ดี ดังนั้น ธุรกิจอาหารย่อมต้องคงอยู่อย่างเสถียรตราบที่มนุษย์ยังคงดำรงชีพด้วยการกินอาหาร นั่นเป็นสัจนิรันดร์ และในโลกแห่งไซเบอร์ปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยเฉียบไวนั้นเป็นเครื่องมืออันชาญฉลาดที่มนุษย์ได้พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งย่อโลกให้แคบลงอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกคนสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง และเรียนรู้สิ่งที่แตกต่างจากทั่วทุกมุมโลกได้ง่ายดายและรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส จนบางครั้งเกิดเป็นภาวะการเสพติดไอทีที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก แต่ในทางกลับกันเป็นการสื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ธุรกิจอาหารจะขาดไม่ได้ก็คือการติดต่อสื่อสารนั่นเองซึ่งต้องรู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อเข้าสู่ระบบของธุรกิจได้ง่ายที่สุด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง
ท่านผู้อ่านครับปัจจุบันประชากรโลกของเรามีอยู่ราว ๆ 7,000 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปริมาณ
ความต้องการบริโภคในอุตสาหกรรมอาหารนั้นมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ยังไม่ได้แปรรูปและวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรของโลก จะเห็นได้ว่าประเทศใหญ่ ๆ ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา บราซิล และจีน หรือประเทศที่เป็นแหล่งข้อมูลการวิจัยทางด้านอาหารที่มีประสิทธิภาพติดอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ยังคงพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มกำลังเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมอาหารของโลกในปัจจุบัน แม้แต่ประเทศไทยเองก็ตาม ถึงแม้จะเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ แต่ศักยภาพในการผลิตสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปนั้นถือว่าเป็นประเทศที่ทั้งผลิตและส่งออกสินค้าทางด้านอาหารติดอันดับโลกหลายอย่างเลยทีเดียว และรายได้ที่เกิดจากธุรกิจอาหารของประเทศไทยมีมูลค่าสูงและถือว่าเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ของประเทศเลยก็ว่าได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังได้รับผลกระทบหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นกระแสการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กระแสความขัดแย้งทางสังคม หรือการโดนกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ของกลุ่มเขตเศรษฐกิจใหญ่ของโลก และหลายประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็ประสบปัญหาการโดนเอาเปรียบทางการค้าจากประเทศใหญ่เหล่านั้น หรือจากปัจจัยปัญหาใด ๆ ก็ตาม จนทำให้ประเทศในกลุ่มโซนเดียวกันนี้รวมกลุ่มเป็นพันธมิตรร่วมมือกันในการช่วยเหลือ แบ่งปัน และค้าขายกันอย่างเสรีในกรอบกติกาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเรียกกลุ่มนี้ว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า AEC และจะมีผลในปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้ โดยเป็นการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ซึ่งก็มีแนวคิดการจัดตั้งที่ไม่ได้แตกต่างไปจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปหรือกลุ่มอื่น ๆ เท่าใดนัก แต่ก็ทำให้เป็นที่จับตามองของเหล่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งผมมองภาวะนี้ว่า เป็นการเขียนวัว ให้เสือกลัว และมันมีแนวโน้มไปเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งมีผลทำให้ประเทศใหญ่ ๆ เหล่านั้นอดรนทนไม่ได้ที่ต้องเข้ามาขอร่วมเป็นภาคีหรือผู้สังเกตการณ์ก็มี และอีกนัยยะหนึ่งนั้นอาจเป็นเพราะทีท่าของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายประเทศของเอเซียมีแนวโน้มการขยายตัวในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่น่าจับมองว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศอำนาจทางเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนขั้วมาเป็นประเทศในแถบเอเชียแทนก็อาจเป็นได้ จะอย่างไรก็ตามเรากลับมามองในด้านธุรกิจอาหารซึ่งหลายประเทศในแถบนี้ถือได้ว่ามีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเป็นเสบียงคลังของโลกได้ เพียงแค่เพิ่มการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและทัดเทียมกับกลุ่มประเทศชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมอาหารของโลก โดยมีสิ่งหนึ่งที่จะไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปแล้วของธุรกิจอาหารก็คือการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดการรักษ์โลก หรือการคืนกำไรสู่สังคม ซึ่งเป็นบริบทที่จะต้องถูกหยิบยกมาใช้ในหลายประเทศจนบางประเทศใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้าก็มี ดังนั้นเราจะต้องปรับตัวให้ได้ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้
ท่านผู้อ่านที่เคารพ ปัจจัยในเรื่องฤดูกาลทางธรรมชาติก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นับวันจะทวีคูณความรุนแรงขึ้นจนทำให้ผลผลิตที่เป็นวัตถุดิบทางการเกษตรไม่เป็นผลที่น่าพอใจหรือมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งเกิดจากปัญหาจากความผิดปกติของฤดูกาลหรือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ จนทำให้ผลผลิตมีคุณภาพด้อยลงนั่นเอง ดังนั้นเราจะต้องหาวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้ให้ทันท่วงที เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ และ Mordern Scratch จึงเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ได้ในธุรกิจ Food Service ที่ต้องการความรวดเร็ว ความคงที่ ลดต้นทุน และมีมาตรฐาน ที่สำคัญถูกหลักความปลอดภัยทางด้านอาหาร และสามารถควบคุมคุณภาพทางด้านอาหารได้อย่างมีประสิทธิผล และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตุดิบจากธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีอันทันสมัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในด้านธุรกิจอาหารได้บ้างในทางใดทางหนึ่ง จะอย่างไรก็ตามสิ่งต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงมุมมองของผู้ขียนเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่ส่งผลต่อธุรกิจอาหารกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็ตาม ธุรกิจทางด้านอาหารนั้นยังคงมีอนาคตอันสดใสอยู่นั่นเอง ความมั่นคงจะเกิดก็ต่อเมื่อเราเข้าใจปัญหา รู้หลัก รู้ตัว และพร้อมที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ อย่างมีสติ รอบคอบ เข้าใจความเป็นไปของโลกอย่างท่องแท้ เข้าถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นว่าล้วนเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลก ซึ่งมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นเฉกเช่นนั้นตลอดไปตราบนานเท่านาน และตอนนี้เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ สวัสดี
เชฟชวลิต ยิ้มประเสริฐ
Executive Sous Chef
Unilever Food Solutions
Unilever Food Solutions Limited