“ถอดรหัสไทย” เรียนรู้ทุกมุมมองความเป็นไทย
มิวเซียมสยาม จัดทำนิทรรศการถาวรชุดใหม่ในชื่อ “ถอดรหัสไทย” ใช้เวลาในการจัดสร้างนานกว่า 18 เดือน โดยนำข้อมูลสถิติผู้เข้าชม ทั้งด้านประชากรศาสตร์ ความคิดเห็นที่มีต่อนิทรรศการ ตลอดจนวิจัยพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชน มาประกอบการพัฒนาเนื้อหาภายในนิทรรศการ ผ่านการเล่าเรื่องราวความเป็นไทยในมิติต่าง ๆ อาทิ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การแต่งกาย รวมไปถึงการนำเสนอพัฒนาการของความเป็นไทยที่เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องราวผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ที่มีความเป็นปัจจุบันทันสมัย ใกล้ตัว ชวนให้นำไปคิดต่อยอด ย้อนผูกกับเรื่องราวในอดีต ตลอดจนรูปแบบของการนำเสนอที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถนำตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจเนื้อหาง่ายขึ้น
นิทรรศการ “ถอดรหัสไทย” ประกอบด้วย 14 ห้องนิทรรศการ
1.ห้องไทยรึเปล่า?
นำเสนอเชิงประเด็นคำถาม โดยหยิบยกกรณีตัวอย่าง “ความเป็นไทย” ที่เป็นข้อถกเถียงในสังคม อาทิ เลดี้กาก้าสวมชฎา ชุดประจำชาติมิสยูนิเวิร์ส นักแสดงหน้าฝรั่งเล่นละครไทย เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าชมตั้งคำถามถึงความเป็นไทยรอบตัวในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ว่าแท้จริงแล้ว อะไรคือความเป็นไทย
2.ห้องไทยแปลไทย
ห้องจัดแสดงที่เต็มไปด้วยตู้โชว์ ลิ้นชัก ภายในบรรจุวัตถุจัดแสดง นำเสนอประเด็นสิ่งของความเป็นไทยในแต่ละยุคสมัย ให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้และค้นหา “ความเป็นไทย” ในสิ่งของเหล่านั้นที่ส่งผลถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยในปัจจุบัน
3.ห้องไทยตั้งแต่เกิด
โชว์พัฒนาการความเป็นไทย ที่นำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และสิ่งที่แสดงความเป็นไทยในสมัยต่าง ๆ 9 ยุคสมัย ผ่านเทคโนโลยีโมดูลไฮดรอลิก เสียงบรรยาย และกราฟฟิก ที่ถูกนำมาใช้ในนิทรรศการครั้งแรกของไทย
4.ห้องไทยสถาบัน
นำเสนอแก่นแนวคิด 3 สถาบันหลัก : ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่สะท้อนรูปแบบการแสดงออกของความเป็นไทย ผ่านเทคโนโลยีเออาร์ ออกแบบคล้ายเกมส์จิ๊กซอว์ ที่ผู้ชมสามารถประกอบคิวบิกบนโต๊ะกลางห้อง และภาพจำที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จะปรากฏขึ้นบนจอแสดงผล
5.ห้องไทยอลังการ
ภายในจำลองบรรยากาศของท้องพระโรงและพระที่นั่ง เพื่อแสดงถึงสุนทรียะ ความงดงามของสถาปัตยกรรม และงานหัตศิลป์ไทย รวมถึงสะท้อนความหมาย ความศรัทธา คติฮินดู และความเชื่อพุทธศาสนา ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นศูนย์กลางของประชาชน
6.ห้องไทยแค่ไหน
นำเสนอความเป็นไทยผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จัดแสดงด้วยหุ่นเสื้อผ้าในรูปแบบต่าง ๆ วางกระจายอยู่บนฐานเกลียวก้นหอย จากสูงลงมาต่ำ เพื่อแสดงถึงสถานะและลำดับความเข้มข้นของความเป็นไทย
7.ห้องไทย Only
ห้องที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่เราเห็นกันอย่างคุ้นตาในชีวิตประจำวัน ที่เห็นแล้วสามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นของไทยแน่นอน อาทิ พวงเครื่องปรุง ถุงหิ้วกาแฟผูกหนังยาง โครเชต์หุ้มหูกระเป๋าแบรนด์เนม มาม่าสารพัดรส รวมถึงไฮไลท์เด็ด คุณเอิบทรัพย์ หุ่นนางกวักยักษ์สูงกว่า 4 เมตร เป็นต้น ซึ่งสะท้อนบุคลิกภาพความเป็นคนไทยช่างประดิษฐ์ ปรับปรุง เพื่อนำไปแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต
8.ห้องไทย Inter
นำเสนอประเด็นมุมมองความเป็นไทยที่แตกต่างกันในสายตาชาวไทยกับชาวต่างประเทศ อาทิ เรือสุพรรณหงส์คู่กับเรือหางยาว ผลไม้แกะสลักคู่กับผลไม้รถเข็น สำรับอาหารชาววังคู่กับอาหารไทยดั้งเดิม สะท้อนมุมมองความเป็นไทย ระหว่างสิ่งที่ต้องการให้คนอื่นเห็น กับ สิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น
9.ห้องไทยวิทยา
จำลองบรรยากาศห้องเรียน 4 ยุคสมัย ได้แก่ ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ความเป็นไทยยุค 25000 ความเป็นไทยยุคโลกาภิวัตน์ และความเป็นไทยยุคพอเพียง ซึ่งสะท้อนความแตกต่างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่ถูกสอดแทรกไว้ผ่านการศึกษา แบบเรียน และบทเพลงแต่ละยุคสมัย
10.ห้องไทยชิม
ห้องครัวมีชีวิตที่พาคุณไปเรียนรู้ที่มาของอาหารไทยขึ้นชื่อต่าง ๆ อย่างเช่น ต้มยำกุ้ง ส้มตำ ผัดไทย เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีคิวอาร์สแกน พร้อมโมชันกราฟฟิกสีสันสวยงาม รวมถึงแผ่นพับรูปจาน ที่สอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่องอาหารเหล่านั้น บอร์ดกราฟฟิกชวนตั้งคำถามกับเมนูอาหารไทยที่มีชื่อต่างประเทศ อาทิ ขนมจีน ข้าวผัดอเมริกัน ขนมโตเกียว เป็นต้น
11.ห้องไทยดีโคตร
นำเสนอพัฒนาการของความเป็นไทย ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่น อาทิ พระปรางค์วัดอรุณ ที่สุดของสถาปัตยกรรม ตัวอักษรไทย รถตุ๊กตุ๊ก เป็นต้น ผ่านรูปแบบการนำเสนอด้วยเทคนิค เลเซอร์คัท 3 มิติ โซโทรป ฟลิปบุ๊ก ทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
12.ห้องไทยเชื่อ
ห้องที่รวบรวมวัตถุด้านความเชื่อของเมืองไทยกว่า 108 สิ่ง ครอบคลุมทั้งความเชื่อเรื่องผี พุทธศาสนา พราหมณ์ และความเชื่อแบบไทย ๆ ที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต พร้อมเวิร์กชอปความเชื่อให้ทดลองกันได้จริง อาทิ การทำนายโชคชะตา การเสี่ยงทายรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
13.ห้องไทยประเพณี
จัดแสดงในรูปแบบโกดังเก็บของ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ประเพณี เทศกาล และมารยาท สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ใส่ไว้ในกล่อง ภายในมีเอกสารอธิบายที่มาที่ไปของเรื่องราวต่าง ๆ ภาพประกอบของจริงที่จับต้องได้ เล่นได้ และมีเกมที่ทำให้เข้าใจเรื่องราวได้สนุกยิ่งขึ้น
14.ห้องไทยแชะ
สตูดิโอถ่ายภาพ นำเสนอประเด็นความสำคัญของภาพถ่าย เป็นหลักฐานที่บ่งบอกความเป็นไทยและทำให้เรารู้จักผู้คน และบ้านเมืองในยุคสมัยต่าง ๆ ได้ชัดเจนที่สุด โดยผู้เข้าชมสามารถเลือกชุด เครื่องประดับ ฉาก และเครื่องประกอบฉาก สำหรับถ่ายภาพบันทึกความทรงจำได้ตามอัธยาศัย
……………….
? เข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เวลา 10.00 – 18.00 น. วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดทำการทุกวันจันทร์)
ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ? 02-225-2777