Top

Journey

Journey

MKTEvent#18-EBook-page-061
ผมแอบอมยิ้มอยู่คนเดียว หลังจากที่อ่านคำคอมเมนต์ภาพที่นอน หมอน มุ้ง ที่ลงไปในโซเชียลมีเดีย

            “น่าไปนอนด้วย ช่วยเก็บน้ำค้าง” เพราะอย่างน้อยก็ยังมีคนรู้สึกว่าความคิดก้อนเล็ก ๆ ก็ยังพอสะกิดใจได้บ้าง

            ก่อนเดินทางมาศรีสัชนาลัย พายุเข้าเมืองไทยลมฝนสาดซัดอย่างไม่เป็นเวลา อากาศแบบนี้ล่ะ ยามเช้าจะมีน้ำค้างพร่างพราย

ผมก้าวเท้าแรกพร้อม ๆ กับปักหมุด โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น : พันธกิจเก็บน้ำค้างบนยอดข้าวตั้งใจไว้อย่างนั้นและภาวนาตลอดทางว่าขอให้ฝนอย่าตกช่วงเช้าตรู่แค่สักเช้าก็ยังดี

          “ป้าป๋องทำอะไรครับ ให้ผมช่วยไหม”

ผมคงมาสายเกินไป ป้าสาละวนทำยำผักกูดเกือบเสร็จแล้ว

“ซอยหอมแดงให้ป้าละกัน อยากกินเท่าไรก็ซอยมา” ผมคว้ามีดมาซอยอย่างคล่องแคล่ว ป้าป๋องมองตายิ้ม ๆ เหมือนดูออกว่าผมชอบเข้าครัวเหมือนกัน

“ผักกูดป้าเก็บมาจากลำธาร ตรงสะพานใกล้ ๆ กับทุ่งนาที่เธอไปวิ่งอยู่เมื่อเช้าน่ะ พริกก็ปลูกไว้รอบ ๆ บ้านนี่ล่ะ” และมะนาวลูกที่ป้ากำลังบีบลงใส่น้ำยำ ก็คือมะนาวที่ลุงเสริมยื่นให้ผมมาเมื่อตอนเดินไปเยือนเรือนริมสระบัว

ชีวิตง่าย ๆ เหมือนมาบ้านญาติสนิท มันมีอยู่จริง!!

เมื่อตอนที่รถทัวร์จากกรุงเทพฯ เที่ยว 3 ทุ่มครึ่ง มาถึง อ.ศรีสัชนาลัย ราว ๆ ตี 5 ครึ่ง พี่ที่โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นบอกให้เรียกมอเตอร์ไซค์เข้าไปหมู่บ้าน

แวบแรกก็นึกว่าใกล้ ๆ เอาเข้าจริงระยะทางปาเข้าไปร่วม 15 กิโลเมตร แต่ลมเย็น ๆ กับบรรยากาศฟ้าสาง หมอกบาง ๆ ลอยอ้อยอิ่งที่ระหว่างทุ่งนากับป่าด้านหลัง ได้อารมณ์กว่านั่งรถยนต์เข้ามาเป็นไหน ๆ

ป้ายหน้าบ้านป้าป๋องเขียนว่า ครัวริมดอยเมื่อก่อนน่ะป้าเปิดเป็นร้านอาหารจริง ๆ ช่วงนี้ปิดทำการเพราะลูกสาวก็ไปฝึกงาน ใกล้จบมหาวิทยาลัยเต็มทีและมีแววว่าจะได้งานในเมืองใหญ่เสียด้วย ป้าอยู่คนเดียวลำพังในบ้านหลังนี้

“อยากไปทุ่งนาไม่ใช่หรือ ไปไหมน่าจะยังไม่ร้อน เดี๋ยวค่อยกลับมากินข้าวเช้ากัน”

ผมเดินไปเลือกจักรยาน แล้วปั่นตามหลังป้าไปอย่างว่าง่าย

บ้านนาต้นจั่นเป็นชุมชนเกษตร แต่การทำนาเป็นงานรองนะ เพราะพื้นที่เป็นเนินเขาเสียเป็นส่วนใหญ่ การทำสวนดูจะแซงหน้าอาชีพอื่น ช่วงที่ผมมาลองกองกำลังได้ผล เจอใครขับรถสวนทางมาก็ชวนเราไปเที่ยวสวนลองกองทั้งนั้น

ผมยืนนิ่งอยู่ริมทุ่งนาผืนกว้าง หลังจากจอดสองล้อคู่ใจไว้ข้างทาง ป้าป๋องเหมือนรู้ใจเดินหายไปทางไหนไม่รู้ ผมค่อย ๆ ก้าวเท้าไปตามคันนา บางจุดดูฉ่ำน้ำ ย่ำลงไปน่าจะนิ่มเละ สายตาสอดส่ายมาหาน้ำค้าง ลมเย็นพัดมาพายอดข้าวพริ้ว ละสายตาขึ้นมามองไกล ๆ หมอกบางยังพอมี แดดอ่อน ๆ ส่องมา แสงสะท้อนจากน้ำในท้องนาวิบวับล่อสายตาให้หันไปมอง ผมหันหน้าไปในทิศที่แสงส่องมา เผื่อจะเห็นประกายสะท้อนจากหยดน้ำค้างที่ตามหา นั่งลงให้ชิดพื้นดินอีกสักหน่อย ยื่นหน้าเข้าใกล้ยอดข้าว น้ำค้างพราวบนยอดข้าวเห็นเต็มตา

เชื่อไหมว่านั่งนิ่งมองอยู่นาน ก่อนจะหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพตามที่ตั้งใจ สิ่งเล็ก ๆ ที่เรารู้อยู่แล้วว่ามี รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดความรู้สึกดีเมื่อได้เห็น แต่กลับเลือกที่จะเดินอยู่ในเมืองที่วุ่นวาย แล้วโหยหาของง่าย ที่แค่เดินไปหาก็เจอแล้ว

“พรุ่งนี้เจอกันครับ” น้องคนหนึ่งซึ่งไม่เจอมานานเขียนคอมเมนต์มาด้วย “เอาสิ พี่ยังอยู่อีกคืนหนึ่ง” ตอบไปแบบไม่ได้คาดหวัง เพราะผมสามารถเดินทางคนเดียวแบบนี้บ่อย ๆ จนคุณป้าหลาย ๆ คนที่รวมตัวกันใต้ถุนบ้านป้าเหลี่ยมหยอกเย้าว่า มาคนเดียวนี่ไม่มีใครคบใช่ไหม

มีคนคบอยู่ครับ แต่อยากมีเพื่อนใหม่เป็นป้า ๆ นี่ไง ถึงได้มาคนเดียว

เสียงหัวเราะลั่นมาจากทุกมุม รวมทั้งป้าเหลี่ยมที่กำลังง่วนกับการทอผ้ายกดอกด้วย

MKTEvent#18-EBook-page-062

กลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั่นก็เป็นอีกสิ่งที่น่าเข้าไปเรียนรู้ เพราะแรกเริ่มของการเกิดโฮมสเตย์ก็เกิดจากกลุ่มชาวบ้านเกษตรกรและกลุ่มแม่บ้านทอผ้านี่ล่ะ เขารวมกลุ่มกันมากว่า 20 ปีแล้ว

มีหลายหน่วยงานทั้งของไทยและจากญี่ปุ่นเข้ามาสนับสนุนให้รวมตัวกันสร้างอาชีพให้เข้มแข็ง จนเมื่อปี 2547 ป้าเสงี่ยม แสวงลาภ หัวหน้ากลุ่มก็ได้เดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่น ศึกษาต้นแบบการทำผลิตภัณฑ์ และการทำโฮมสเตย์ ก่อนจะกลับมาชักชวนคนในหมู่บ้านเตรียมตัวเองให้พร้อม สร้างเป็นวิสาหกิจชุมชน ร่วมกันเป็นเจ้าของ มีการแบ่งปันผลประโยชน์และคืนทุนให้กับชุมชน ตอนนั้นรวมตัวกันได้ถึง 200 คน

“อยู่ในเมือง ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ยินเสียงนกร้อง เบื่อความศิวิไลซ์ก็มาพักนาต้นจั่น” ป้าเสงี่ยมพูดช้า ๆ อารมณ์ดีเชียว

“แรก ๆ คนก็ไม่ค่อยกล้าให้ใครมาพักในบ้าน กลัวอันตรายน่ะไม่เท่าไร กลัวดูแลเขาไม่ได้มากกว่า” เพราะเจ้าบ้านต้องเป็นคนพานักเดินทางพลัดถิ่นออกท่องชนบท พาไปนา พาไปสวน ไปทำบุญที่วัด ไปดูร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เขามีกัน ทั้งยังต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน ทำให้กิน สอนให้ปรุง ดูยุ่งยากไปหมด

แต่ผ่านมาถึงวันนี้ พอเริ่มเข้าใจว่าให้คนเดินทางรู้สึกเหมือนมาเยี่ยมญาติ เจ้าบ้านก็ทำอาหารให้เรากินแบบเดียวกับทำให้ลูกหลานกิน ก็ไม่ได้ยากเย็นเกินไป ทุกวันนี้โฮมสเตย์มีจำนวน 17 หลัง ส่วนใหญ่เป็นแบบอยู่กับบ้านชาวบ้านจริง ๆ มีหลังล่าสุดที่ออกจะคล้ายรีสอร์ทอยู่ชายเขา เพราะลูกหลานคนรุ่นใหม่มาสร้างไว้สวย ๆ สำหรับกลุ่มที่อยากปลีกวิเวกสักหน่อยนั่นเอง

สาย ๆ ฟ้าเริ่มสีฟ้าสวย เมฆลอยเป็นปุย ๆ จากประสบการณ์การเดินทาง ถ้าฟ้าแบบนี้ล่ะ ร้อนนรก!!

แต่ผมก็ไม่หวั่น ปั่นสองล้อคู่ใจฝ่าแดดไปตามซอกซอยบ้านเรือน ตามหาข้าวเปิ๊บ ของกินชื่อดังของบ้านนาต้นจั่น ระหว่างทางสะดุดตากับบ้านหลังหนึ่ง มีผู้ชายคนหนึ่งง่วนอยู่ท่ามกลางกองไม้ อ่านป้ายหน้าบ้านบอกว่าเป็นบ้านตาวงษ์ เสาปั้น เข้าไปข้างในบ้านก็พบพี่อุดรนั่งเหลาไม้อยู่ ที่นี่ทำตุ๊กตาบาร์โหน เป็นของเล่นไม้ที่ทำจากแกนไม้ 3 ชิ้น ต่อกันเป็นรูปตัว H มีเชือกผู้ตุ๊กตาที่ขยับแข้งขาได้ไว้ระหว่างปลายด้านหนึ่ง เมื่อเราบีบปลายไม้อีกข้าง เจ้าตุ๊กตาก็จะโลดเต้นไปมา

เป็นภูมิปัญญาที่นอกจากจะสนุกยังบริหารมือได้อีกทางหนึ่ง ตาวงษ์ทำมาหลายสิบปี แต่ตอนนี้ว่างงานละ ปล่อยพี่อุดรลูกชายของตาทำหน้าที่แทน ส่วนตานั่งมองอยู่ไกล ๆ อย่างชื่นชม
            เสียงซอดังมาจากด้านหลัง ผมรีบหันไปมอง ตาวงษ์ยิ้มให้ ขณะที่ยังสีซอเพลงที่ตาจำได้ให้เราฟัง “ตาครับ เท่านี้ก็หลงรักบ้านนาต้นจั่นจะแย่อยู่แล้ว เจอแบบนี้ ผมไม่อยากกลับแล้วนะเนี่ย”…แน่นอนที่สุด…ผมคิดในใจ

เสียงซอยังดังในห้วงคำนึง แม้ตอนที่มายืนอยู่หน้าเตา “ข้าวเปิ๊บ” ของยายเครื่อง หม้อขึงผ้าที่ใช้ปรุงดูแล้วเหมือนข้าวเกรียบปากหม้อ แต่ยายใช้แป้งข้าวเจ้าเหมือนที่ทำขนมจีนละเลงบาง ๆ นึ่งให้สุก วางผักลงไปนึ่งต่อ เมื่อได้ที่ก็ใช้ไม้พับแป้งห่อผัก อาการพับ ๆ ๆ นี่ล่ะเป็นที่มาของคำว่า “เปิ๊บ” ตักใส่ชาม นึ่งไข่ดาวใส่ตามไปอีกฟอง ใส่หมูแดง เติมน้ำซุปร้อน ๆ ใครไม่ได้กินอย่ามาเล่าว่ามาบ้านนาต้นจั่น

MKTEvent#18-EBook-page-063

อีกเมนูคือ “ก๋วยเตี๋ยวแบ” ใช้หม้อเดียวกัน วางเส้นก๋วยเตี๋ยวลงไปนึ่งแทนที่จะลวก แล้วตักวางบนจาน แยกน้ำซุปมาต่างหาก นอกนั้นก็มี “ข้าวพัน” แป้งคล้าย ๆ ข้าวเปิ๊บ ปรุงรสก่อนนึ่งบนปากหม้อ พอสุกใช้ไม้เป็นแกนพันแป้งมาเป็นไม้ ๆ กินเล่น ๆ รสดีเชียว กว่าจะผ่านด่านร้านยายเครื่องตัวผมแน่นแทบปั่นจักรยานต่อไม่ไหว

“จะไปดูทะเลหมอกตอนเช้ามืดไหม จะได้บอกให้คนมาพาไปตอนตีสี่ครึ่ง แต่ต้องเดินขึ้นเขาสักกิโลนะ” ป้าป๋องเอ่ยขึ้น ผมคิดครู่หนึ่งก่อนตอบตกลง ไม่ใช่เกรงระยะทางขึ้นเขา แต่เพราะดูจะเช้ากว่าปกติชีวิต กะจะรีบกินมื้อเย็นแล้วรีบเข้านอน เจออาหารป้าป๋องเข้าไป ต้องนั่งที่โต๊ะคุยกันยาว ป้าเล่าเรื่องการทำปลาร้าปลาตะเพียน ที่ป้าทอด ซอยพริก หอม กระเทียม บีบมะนาว รสชาติคล้ายปลาทูเค็ม กินกับน้ำพริกปลาร้า หน่อไม้ที่ขุดเองต้มหวาน ๆ ยอดผักปลัง ผักกาดดำ กระเจี๊ยบ สารพัดที่ลวกในจานก็เก็บจากแถวบ้าน กว่าจะได้นอนปาเข้าไปสี่ทุ่ม

เช้านี้ไม่มีทะเลหมอกอย่างที่คาดไว้ เพราะถ้าไม่ใช่หน้าหนาว ต้องสังเกตว่าหัวค่ำคืนก่อนฝนพรำหรือเปล่า ถ้ามีฝนโอกาสที่เช้าจะมีทะเลหมอกก็สูง แต่ภาพตรงหน้า หมอกบาง ๆ ที่ยอดทิวเขาลิบ ๆ เมฆหนาฟ้าสีหม่น จิบกาแฟจากกระบอกไม้ไผ่ที่น้องคนนำทางตัดมาทำให้ ก็มีความสุขมากพอแล้ว

หลังจากอิ่มเอมกับหมอกยามเช้า ผมใช้ชีวิตทั้งวันปั่นจักรยานสำรวจหมู่บ้าน แวะนั่งพักตามโคนต้นไม้ เดินไปถ่ายรูปทุ่งนา ชาวบ้านผ่านมาก็ส่งยิ้มให้กัน เขาเริ่มจะชินกับนักเดินทาง เพราะช่วงหลัง ๆ บ้านนาต้นจั่นดังอยู่นะ คนในโซเชียลเน็ตเวิร์กหลาย ๆ คนรู้จักที่นี่ เห็นภาพที่นี่ แต่ไม่เคยตบเท้าเข้ามาเสียที อยากบอกเลยว่าเรื่องแบบนี้ ต้องไปสัมผัสเอง ภาพอาจบอกความงดงามได้ แต่ไม่สามารถบอกความรู้สึกของสายลมเย็นที่พัดมาปะทะผิวหน้ายามหลบร้อนใต้ต้นไม้ได้เลย

น้องชายที่บอกว่าจะตามมามาจริง ๆ มาเสียค่ำและบิดมอเตอร์ไซค์มาจากกรุงเทพ!!! เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่รักการสัมผัสสายลมและบรรยากาศที่ภาพไม่สามารถเก็บไปเล่าได้ บทสนทนาค่ำคืนนั้นจึงยาวนาน อยู่กรุงเทพฯ ไม่ยักเจอ พอมาทุ่งนากลับมาเจอกันเสียอย่างนั้นล่ะ

วันต่อมาผมอาสาเป็นไกด์นำน้องเที่ยว เริ่มจากปลุกแต่เช้ามืดมาตักบาตร แล้วมาเป็นลูกมือป้าป๋องทำยำหน่อไม้ใส่น้ำปู กินกับลาบหมูและผักสดจานใหญ่ ไปดูการทำผ้าหมักโคลน ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น นำผ้าที่ทอใหม่ ๆ มาหมักโคลนทิ้งไว้แล้วต้มออก ผ้าจะนิ่มใส่สบาย พาไปกินข้าวเปิ๊บทักทายยายเครื่อง แล้วบิดมอเตอร์ไซค์ไปทุ่งนาผืนใหญ่สุดตา

ผมดีใจเสมอเวลาเห็นคนที่พร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ เห็นเขามีความสุขกับการลอบมอง สังเกต ยิ้มได้กลางแดดจ้า และยิ้มกว้างกว่าเมื่อเจอลำธาร พร้อมจะทดลองเลี้ยวไปทางที่ไม่คุ้น แม้จะจบด้วยการย้อนกลับมาทางเดิมก็ตาม

          ผมกดโพสต์รูปน้ำค้างบนยอดข้าวลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อนที่รักแบบเดียวกันเริ่มเข้ามากดไลค์ สิ่งเหล่านี้บอกเล่าได้ เก็บภาพมาอวดได้ แต่เชื่อเถอะ เราไม่มีทางรู้สึกได้เท่ากับมาอยู่ตรงนี้ด้วยตนเอง

 

โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย    โทร. 088-495-7738  facebook/HomeStayBannaTonChan

 

Writer/Photo : ศรัณย์ เสมาทอง

mktevent
No Comments

Post a Comment