โลกเปลี่ยน ที่กลางอันดามัน
น้องโพธิ์ค่อย ๆ เคลื่อนลำออกจากหาดทรายสีขาวมุ่งหน้ามหาสมุทรสีสวย เด็กชายน้องโพธิ์นอนนิ่งอยู่ที่หัวเรือ สายตามองลงไปใต้ผืนน้ำสลับกับเงยมองทิวทัศน์เบื้องหน้าคนขับเรือที่อยู่หลังเรือหัวโทงขับอย่างสบายใจไม่มีสายตากังวลว่า “น้องโพธิ์” ลูกชายวัย 4 ขวบจะตกทะเล คงเชื่อมั่นว่า “น้องโพธิ์” เรือหัวโทงลำประจำตัวจะดูแลเด็กตัวน้อยที่ใช้ชื่อเดียวกันได้จนจบทริป
ที่ร่องน้ำจาบัง สีของทะเลเข้มสลับฟ้าอมเขียว “ที่เห็นสีเข้มคือดงปะการังครับ แถวนี้จะมีทั้งปะการังแข็งและอ่อน หลายคนเรียกว่าสวนดอกไม้เลยล่ะ” ไกด์ประจำกลุ่มเราเอ่ยขึ้นหลังจากที่พาเรามาลอยลำห่างจากกลุ่มอื่นพอสมควร “จะได้ลอยตัวสบาย ๆ ครับ” ผมยิ้มกับเขาแล้วค่อย ๆ ทิ้งตัวลงสู่ท้องทะเล
เมื่อตัวได้สัมผัสน้ำรู้สึกได้เลยว่าสมองโล่งอาจเพราะวุ่นวายกับภาระชีวิตมากไปความรู้สึกหนักมันท่วมบ่าท่วมไหล่ตามมาถึงเกาะกว่าจะรู้สึกว่า “เฮ้ย! ปล่อยวางเสียที” ก็ตอนที่ลงมาอยู่ในอ้อมกอดมหาสมุทรนี่ล่ะ ผมขยับหน้ากากดำน้ำให้เข้าที่เตรียมลอยตัวชื่นชมความงดงามใต้ผิวน้ำ
วินาทีแรกที่เห็นภาพใต้น้ำผมอึ้งไปพักหนึ่งประกอบกับหูที่จมอยู่ใต้น้ำทำให้เราไม่ได้ยินเสียงใดนอกจากเสียงลมหายใจของตัวเองที่ก้องอยู่ในหัว ป่าปะการังที่ร่องน้ำจาบังช่างกว้างขวางเหลือเกินมีทั้งปะการังแข็งที่ดูแล้วเหมือนโขดหินส่วนเจ้าปะการังอ่อนหลากสีกระจายตัวเป็นวงกว้างเหมือนสวนดอกไม้แบบที่ร่ำลือ ผมพยายามนับให้ครบเจ็ดสีแต่ไม่ครบเสียทีเพราะเจ้าปลาการ์ตูนตัวจ้อยมาดึงสายตาทำลายสมาธิทุกทีไป
ดอกไม้ทะเลที่เกาะติดอยู่กับโขดหินโบกสะบัดหนวดยาว ๆ คล้ายพู่ขนาดใหญ่ไหวไปกับคลื่นน้ำ เจ้าปลาการ์ตูนตัวน้อยว่ายมุดผลุบโผล่แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ ถัดไปไม่ไกลหอยมือเสือตัวใหญ่อ้าปากเห็นเนื้อตัวสีม่วงสลับน้ำตาลกระจายตัวอยู่เป็นจุด ๆ
“เดี๋ยวนี้แถวตะรุเตาไม่น่าจะสวยเท่าเมื่อก่อนนะ” เพื่อนนักดำน้ำตัวจริงบอกไว้ก่อนเดินทางมาผมก็ไม่รู้ว่าจะเปรียบเทียบอย่างไรเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ที่เห็นตอนนี้คือป่าปะการังที่สวยที่สุดเท่าที่นักเดินทางสมัครเล่นอย่างผมเคยพบมา
ผมลอยตัวห่างจากคนอื่น ๆ เพราะบางทีเราก็สนใจคนละสิ่งกัน ผมลอบมองปลานกแก้วสีเขียวสวยที่แอบขบปะการังด้วยปากที่แข็งแรง ผู้รู้เคยเอ่ยไว้ว่าเจ้านกแก้วทะเลตัวนี้เขากินพืชกินสาหร่ายที่ปกคลุมปะการังด้วยและสิ่งที่เขาถ่ายออกมาก็คือทรายสีขาวสวยที่เราเห็นอยู่ นี่คือสมดุลตามธรรมชาติ
“ยังมีคนกล้าจับปลานกแก้วไปขายอีก” ผมคิดไปพลางตีขาตามปลานกแก้วไป
อีกสิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือหนอนฉัตร เราไม่เห็นตัวเขาหรอกเพราะจะซ่อนตัวในท่อเล็กบนกลุ่มปะการัง โผล่มาให้เห็นเพียงพู่ที่เรียงตัวเป็นชั้น ๆ เหมือนฉัตร มีหลายสีแต่ที่ผมเห็นจะเป็นสีเหลืองกับสีแดงกระจายตัวไปตามปะการังทั่วไป
“โลกสวยงามกว่าที่เราคิดนะ” ประโยคนี้ผุดขึ้นมาในสำนึก “มัวนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์อยู่ได้ทุกวันบ้าหรือเปล่า” ประโยคถัดมาเหมือนจะตัดสินใจอะไรสักอย่าง
กว่าจะมาถึงหมู่เกาะตะรุเตาได้เตรียมตัวกันตั้งปีเต็ม!!
การเดินทางไม่ได้ยากเย็นหรอกแต่ยากตรงการจัดคิวเพื่อนให้ตรงกัน 6 คน ต้องใช้วิธีจิ้มวันบนปฏิทินซื้อตั๋วเครื่องบินราคาโปรโมชั่นข้ามปีแล้วให้ทุกคนกระจายไปจัดตารางลางานให้ตรงกัน เพราะเพื่อนกระจายตัวกันอยู่คนละบริษัท “คราวหน้าหนีเที่ยวคนเดียวบ้างดีกว่า” คิดแบบนี้ทุกทีแต่แล้วก็มานั่งจัดตารางแบบนี้กันบ่อย ๆ ให้เวลาสามเดือนบ้างหกเดือนบ้าง ไปได้สามคนบ้างห้าคนบ้าง มีครั้งนี้ล่ะ…ที่ต้องการพร้อมหน้า
เพราะเราถือว่าการมาหมู่เกาะตะรุเตาเป็นทริปพิเศษมาก สตูลเป็นจังหวัดที่เกือบใต้สุดของประเทศและยังเป็นหมู่เกาะที่ชิดพรมแดนไทย-มาเลเซียมองรอบตัวสังเกตดี ๆ ก็จะเห็นเกาะลังกาวีเกาะชื่อดังของมาเลเซียทอดตัวอยู่ไม่ไกลจากฝั่งที่ท่าเรือปากบารามาถึงเกาะหลีเป๊ะที่เราพักก็ร่วม 2 ชั่วโมง มีเพื่อนให้เฮฮาน่าจะดีกว่ามาเหงา ๆ และน้ำทะเลก็ใสมาก นึกภาพลงเล่นน้ำทะเลดำผุดดำว่ายมองแสงแดดที่ต้องพื้นทรายใต้น้ำคนเดียว…จะดีเหรอ!
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตามีเกาะในอาณาเขตถึง 51 เกาะ ว้าว!! เกาะหลัก ๆ คือเกาะตะรุเตาเป็นที่ทำการอุทยานมีคลองพันเตมะละกาชื่อแปลกแต่น่าไปพายเรือคายัคเล่น มีเกาะไข่ที่มีประตูหินภาพจำของอุทยานนี้ล่ะ เกาะหลีเป๊ะเกาะสวรรค์ที่พำนักของเราในทริปนี้ เกาะอาดังและเกาะราวีสองเกาะที่หาดขาวจนลือและมีเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกหลายเกาะ แต่ที่ลืมไม่ได้ (และผมปักหมุดไว้แล้วว่าต้องมา) คือเกาะหินงาม
หินสีดำกลมมนมีลายเส้นสีเหลืองสีฟ้าสีเขียวคาดกลางก้อนก้มลงมองใกล้ ๆ ยิ่งสวย ยอมรับเลยว่าภาพก้อนหินเหล่านี้ผุดขึ้นมาในความคิดตั้งแต่ที่เพื่อนชวนมาตะรุเตาแล้ว มาก่อนหาดขาวน้ำใสเสียอีกแปลกดีนะที่หินกลมเกลี้ยงจะถูกพัดพามารวมกันแบบนี้ “มีเกาะเดียวในประเทศไทย” คำการันตีนี้ยิ่งทำให้เกาะเล็ก ๆยิ่งเลอค่ามาขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
เมื่อก่อนนักเดินทางซุกซนนิยมหยิบหินก้อนงามมาวางเรียงเป็นชั้น ๆ แล้วถ่ายรูปไปอวดกันในโลกโซเชียลว่าสร้าง “เจดีย์หิน” จนเป็นประเด็นใหญ่โตเพราะมีหินร่วงหล่นลงมาแตกเสียหายจนต้องมีกฎกติกาการมาเยือนเกาะเกิดขึ้น
เรื่องง่าย ๆ ในการรักษาธรรมชาติรักษาแหล่งที่เราตักตวงความสุขไม่น่าเชื่อว่าจะเข้าใจยากยิ่ง
“ปะการังไฟรอบเกาะหินงามก็เยอะนะครับ” ไกด์ของเราพูดเรียกร้องความสนใจจากลูกทัวร์ที่มัวถ่ายภาพหินก้อนแล้วก้อนเล่าไม่เลิกเสียที ผมวางหินก้อนงามลงแล้วเดินไปหยิบหน้ากากดำน้ำอย่างว่าง่าย
น้องโพธิ์นั่งมองจากบนเรือราวกับถ้าพ่ออนุญาตคงจะกระโดดลงมาอยู่ข้างผมแล้ว
ภาพป่าปะการังตรึงผมให้ลอยตัวนิ่งอยู่เนิ่นนานก่อนจะตีขาเบา ๆ ให้ตัวค่อย ๆ เคลื่อนไปข้างหน้าเก็บภาพสวยงามให้สมใจ แสงแดดที่ส่องผ่านคลื่นบนผิวน้ำหักเหเป็นเส้นสายพาดกันไปมาเหมือนตาข่าย แสงจับต้องโขดหินปะการังและพื้นทรายเบื้องล่างนำความรู้สึกให้ดำดิ่งลงไปในโลกใต้ทะเลลึกขึ้นเรื่อย ๆ ไม่แปลกใจเลยที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาจะได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกแห่งอาเชียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ตั้งแต่ พ.ศ.2525 แอบอิจฉาคนที่ได้มาเห็นในช่วงนั้นก่อนที่โลกจะแปรผันไปมากมายที่นี่คงสวยจนหลง
ผมผ่อนลมหายใจยาว หลังจากกลั้นใจเพื่อกันมือสั่นตอนกดชัตเตอร์ เพราะเสฉวนที่เผลอมาเป็นนายแบบของผมเขาตัวเล็กมาก และขี้อายเสียด้วยสิไม่ทันได้กดภาพต่อไป เพื่อน ๆ เรียกให้ไปเล่นน้ำด้วยกัน ผมนั่งมองเสฉวนน้อยเดินเข้าหาคลื่นจนน้ำซัดหายไป
หาดทรายเกาะราวีขาวมาก มากจนอดใจไม่อยู่ แม้จะเป็นช่วงเที่ยงที่แดดเปรี้ยงก็ตาม ผ่านมาวันครึ่ง ไหล่หลายคนเริ่มแสบ ด้วยบางครั้งก็ลืมทาครีมกันแดดหลังจากขึ้นจากน้ำ แสงแดดที่ผ่านคลื่นเป็นตาข่าย แสง เมื่ออยู่บนพื้นทรายขาวและน้ำตื้น ๆ ยิ่งน่าหลงใหลมากขึ้น ผมเจอครั้งแรกที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง หลังจากนั้นก็ชอบลอยตัวดูแสงมาตลอด ยิ่งทะเลอันดามันน้ำยิ่งใสกว่า นึกภาพดูสิ ใครไม่เคยลอง ขอให้ลองสักครั้ง แล้วจะติดใจ
เราเดินทาง เล่นน้ำ และถ่ายภาพอีกหลายหาด หลายเกาะ ก่อนจะร่ำลาน้องโพธิ์ กลับไปนอนรอแสงสุดท้ายของวันที่หาดซันเซ็ตบนเกาะหลีเป๊ะ ผู้คนมากมายพร้อมใจมานั่งรอตะวันกันเงียบ ๆ เสียงพูดคุยเบา ๆ หลายภาษา จับความได้ว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งไปดำน้ำกันมาเมื่อครู่ เมื่อแสงเริ่มลดลง เสียงพูดคุยก็เริ่มแผ่ว ไม่น่าเชื่อว่า พระอาทิตย์ตกจะมีอิทธิพลอะไรขนาดนั้น
ผมเริ่มทบทวนการเดินทางที่ผ่านมา หลังจากที่ก้าวเท้าเหยียบบนเกาะหลีเป๊ะ ผมก็ต้องกางคอมพิวเตอร์ทำงานที่แบกมาจากฝั่ง จนพลาดการสนอร์คเกิลในวันแรกไป ได้แต่ฟังเพื่อนเล่าให้ฟังตอนอาหารเย็น ที่เลือกแบบนั้นเพราะโปรแกรมวันที่สอง คือวันนี้มีเกาะหินงาม เกาะในฝันของผมนั่นเอง แต่ถึงตอนนี้ผมกลับนึกเสียดาย อุตส่าห์บากบั่นมาถึงเมืองสุดเขตประเทศไทย ยังมัวนั่งทำงานอยู่ได้ ทั้งที่จริงแล้วสามารถโทรศัพท์ไปขอต่อรองเวลาได้ มันทำให้ผมพลาดดงปะการังอีกหลายเกาะ
“หลังกินข้าว ไปถนนคนเดินกันอีกไหม” ใครสักคนในกลุ่มเอ่ยชวน คงกะไปล้างตา เพราะเมื่อวานเล็งร้านอาหารทะเลเผาไว้ แต่กินข้าวเย็นกันอิ่มเกินไป “งั้นวันนี้กินข้าวเย็นน้อย ๆ ละกันนะ” เป็นประโยคที่หมายความว่า ตกลง
หลายคนก็ไม่ชอบถนนคนเดิน ไม่ชอบบาร์ริมทะเล ถ้ามองแบบคนที่อยากสัมผัสความ “จริง” ของชาวประมง ก็เข้าใจเขาล่ะ แต่ถ้ามองแบบธุรกิจท่องเที่ยว ถ้าสัดส่วนลงตัว ไม่เป็นบริโภคนิยมเกินกว่าเหตุ จำกัดพื้นที่ไม่ให้ลามไปทุกหาดทุกเกาะ ก็ยังพอได้อยู่นะ โลกเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ให้เป็นการเปลี่ยนที่เราเข้าใจและดูแลให้พอเหมาะ
“เฮ่ย!! ตัวใหญ่ไปไหม กุ้งอะไรตัวตั้งครึ่งกิโล” ทุกคนตกใจเมื่อลองหยิบกุ้งตัวโตกว่าฝ่ามือขึ้นชั่ง เห็นบรรดาอาการทะเลแล้วน่าจะเป็นแบบที่ชาวบ้านจับได้ เพราะขนาดไม่ได้เท่ากันเป๊ะ แบบโขกกันมาจากฟาร์ม “ช่วงนี้น่าลองหอยท้ายเภานะครับ หายาก”
หอยท้ายเภาที่ว่า พบทางฝั่งอันดามัน แถบกระบี่ ตรัง สตูล จะมีมากช่วงประมาณเดือนธันวาคม – เมษายน เป็นหอยสองกาบเนื้อหนึบ ๆ ย่างแล้วอร่อยมาก
แล้วปิดท้ายด้วยชาชัก ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้การเทชาจากที่สูง ๆ ให้ตกลงมาสู่เหยือกเบื้องล่าง สลับไปมาหลายอๆ รอบ ให้ชาเกิดฟองโดยไม่ต้องใช้เครื่องตีฟอง
“คนเยอะขึ้นเยอะ นี่ถ้าทัวร์ลงเยอะ ๆ ไม่รู้จะทำยังไง” พ่อค้าคนหนึ่งเปรยกับผม นึกว่าอยากได้ลูกค้าเยอะ ๆ เสียอีก “ตอนหลัง ๆ เอเชียมาเยอะ จีน มาเลย์ สิงคโปร์ มาทีเยอะมาก นักท่องเที่ยวฝรั่งที่มาอยู่นาน ๆ หายไปนะ” แอบถามจนเข้าใจ ว่าเมื่อก่อนที่นี่จะมีชาวตะวันตกมาอยู่ครั้งละนาน ๆ เกลี่ยการค้าไปทุก ๆ วัน แต่พอทัวร์เอเชียเข้ามา นักเดินทางจะทะลักในวันหยุด จนรองรับไม่ไหว แต่วันธรรมดาเงียบเหงา
“โลกต้องมีเปลี่ยนแปลงครับพี่” อยากบอกแบบนี้ แต่ได้แค่ยิ้ม ๆ แบบเข้าใจพี่เขาไป สำหรับผมแล้ว ทริปตะรุเตาครั้งนี้ ก็เปลี่ยนแปลงโลกของผมไปแล้ว หลังจากที่เหนื่อยมานาน น่าจะถึงเวลาแล้วที่ผมควรจะ ให้เวลากับตัวเองได้เรียนรู้โลกกว้างเสียที เพราะโลกนี้ สวยงามกว่าหน้าคอมพิวเตอร์มากมายนัก
บอกกับตัวเองก่อนนอนคืนนั้น สักวันจะกลับมาหาน้องโพธิ์ให้ได้ คอยดู
ข้อมูลเพิ่มเติม www.dnp.go.th
Writer/Photo :ศรัณย์ เสมาทอง