พื้นที่แห่งธรรมะ ปัญญาของคนเมือง
นพ. บัญชา พงษ์พานิช
พลวัตร พัฒนาการ การดำรงอยู่ของสวนโมกข์กรุงเทพ
เป็นเวลากว่า 9 ปีแล้วที่สวนโมกข์กรุงเทพ ได้ทำหน้าที่รับใช้ประชาชนอย่างเคร่งครัด ในฐานะพื้นที่แห่งปัญญาที่เปิดกว้างให้ทุกผู้คนโดยไม่จำกัดศาสนาและเชื้อชาติ เข้ามาแสวงหาความสงบในจิตใจด้วยการเรียนรู้ศึกษาแก่นธรรมของท่านพุทธทาส และพระธรรมคำสอนของพุทธศาสนา รวมถึงลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับการภาวนา เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่สงบเงียบ เรียบเย็น เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าในวิถีการดำรงอยู่ของคนเมือง
ด้วยวาระเวลาของพื้นที่แห่งนี้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ซึ่งอาจเทียบเท่าได้กับระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ MKT Event ฉบับนี้จึงอยากพาท่านผู้อ่านไปย้อนสำรวจที่มาที่ไปแห่งการเกิดขึ้นของสวนโมกข์กรุงเทพ นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มนับหนึ่ง เพื่อเชื่อมโยงไปสู่พลวัตรพัฒนาการต่าง ๆ ของพื้นที่แห่งนี้ ด้วยการสนทนากับ ‘นพ. บัญชา พงษ์พานิช’ ผู้อำนวยการสวนโมกข์กรุงเทพ
ท่ามกลางบรรยากาศอันแสนสงบในห้องนิพพานชิมลอง เราและคุณหมอได้พูดคุยกันหลากหลายประเด็น ซึ่งหลังจากอ่านบทสนทนานี้จบ น่าจะทำให้คุณผู้อ่านได้รู้จักสวนโมกข์กรุงเทพในมิติเชิงลึก รวมทั้งได้เข้าใจตัวตน ความคิด และจิตวิญญาณ ของพื้นที่แห่งนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
MKT Event : อยากให้คุณหมอช่วยเล่าถึงแนวคิดที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็น ‘หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ’ และ ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’ แห่งนี้
นพ.บัญชา : การเกิดขึ้นของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เริ่มแรกก็คือบทบาทการเป็นคลังเก็บเอกสารมีค่ากับวัตถุที่เรียกว่าจดหมายเหตุ เป็นแหล่งค้นคว้าด้านธรรมะ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชานุญาติให้มาสร้างตรงนี้ซึ่งเป็นที่ของสวนรถไฟ อันเป็นสถานที่สวยงาม และเป็นสถานที่ออกกำลังกายของคนเมือง ก็เชื่อมต่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงในจังหวะที่ 2 ของเรา คือถ้าเช่นนั้นเราก็เอากรอบความคิดของท่านพุทธทาสฯ ในการสร้างสวนโมกข์ที่ไชยามาใช้ ซึ่งท่านบอกว่าโมกขพลาราม แปลความหมายแยกออกมาได้ว่า ‘โมกข’แปลว่าความหลุดพ้น ความสงบ ความสิ้น ‘พละ’ คือ กำลัง ‘อาราม’ คือ สถานที่ ดังนั้นท่านจึงออกแบบให้สวนโมกขพลารามเป็นสถานที่อันเอื้อต่อการเป็นกำลังเพื่อความหลุดพ้น เราก็นำความคิดนี้มาสร้างเป็น Spiritual Fitness and Edutainment Center เป็นที่เรียนรู้เติมเต็มชีวิตในมิติด้านจิตใจและสติปัญญา แบบเพลิน ๆ สนุกสนาน ไม่สุดโต่งแบบที่คุณต้องมาทำสมาธินุ่งขาวห่มขาว พอได้กรอบความคิดนี้เราก็เลยเปลี่ยนชื่อมันเสีย โดยเปลี่ยนจากคำว่า ‘หอจดหมายเหตุพุทธทาส’ เป็น ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’ เราก็ทำแบบนั้นต่อเนื่องไป จนเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว เราจึงเริ่มมาให้ความสนใจว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายหลักที่เราต้องการ คิดถกเถียงกันอยู่นานจนได้ข้อสรุปว่ากลุ่มเป้าหมายของเรา ก็คือกลุ่มคนผู้แสวงหาความหมายของชีวิตเพื่อพัฒนาจิตใจตนเอง ตรงนี้เองนำเราไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในจังหวะที่ 3 ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้ที่ใฝ่แสวงหามาใช้พื้นที่แลกเปลี่ยน บอกกล่าว และชิมลองสภาวะนิพพานกัน ใครที่มีในแนวทางตามพระพุทธธรรมของพระองค์ ไม่จำเป็นต้องของพุทธทาส เราก็เชิญมาร่วม มาทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อค้นหาความสุขในจิตใจกัน ทั้งหมดเป็นภาพรวมของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในนี้
MKT Event : การเปิดกว้างด้านความเชื่อ การปฏิบัติ การภาวนา ในพื้นที่แห่งนี้มีนัยยะสำคัญที่สอดคล้องกับสิ่งท่านพุทธทาสสอนอย่างไร
นพ.บัญชา : มันสอดคล้องกับคำสอนของท่านพุทธทาสที่ว่า ใครชอบแบบไหนยังไงก็ศึกษาตีความ ทำเองรับผิดชอบเอง ด้วยเหตุนี้เราจึงเปิดพื้นที่ที่นี่ให้กับใครก็ได้มาช่วยกันทำ ด้วยเหตุนี้ทุกวันนี้เราเชื้อเชิญกลุ่มสนใจศึกษาพุทธศาสนาและส่งเสริมการปฏิบัติมาใช้พื้นที่นี้ ยกตัวอย่างเช่น คณะสงฆ์ที่มาใช้พื้นที่นี้คือคณะศิษย์อาจารย์ชา นิมนต์มาที่นี่ พระฝรั่งเวลามาเมืองไทย ทุกรูปจะมาแสดงธรรมที่นี่ หรือยกตัวอย่างคณะศิษย์หลวงพ่อเทียน พอดีกำลังจะครบ 100 ปีหลวงพ่อเทียน ก็หาที่จะจัดงานระลึก 100 ปีหลวงพ่อเทียน เราเชื้อเชิญเลยมาใช้ที่นี่ หรือคณะศิษย์สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งก็คือศิษย์ท่านเจ้าคุณประยุทธ์เราได้ไปกราบเรียนท่าน สุดท้ายทุกวันนี้เกิดห้องเรียนพุทธธรรมซึ่งเป็นงานหลักของท่านอาจารย์ประยุทธ์ที่นี่ นอกเหนือจากนี้ยังมีคณะศิษย์ของอริยสงฆ์สายปฏิบัติชื่อดังจากทุกภาคของประเทศ ก็มาใช้ที่นี่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางปฏิบัติซึ่งกันและกัน
MKT Event : ในเรื่องการปฏิบัติ การภาวนา ไม่ได้จำกัดเฉพาะพุทธที่เป็นภิกษุในไทยใช่ไหมครับ
นพ.บัญชา: ใช่ครับ คณะศิษย์ของอาจารย์โกเอนก้า ซึ่งท่านไม่เคยไปทำที่ไหนนอกสถานที่เลย ก็เห็นว่าที่นี่เหมาะสม ก็มาขอใช้ที่นี่ด้วย ส่วนในสายของท่านอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ทางกลุ่มหมู่บ้านพลัมประเทศก็มาใช้ที่นี่ สร้างกิจกรรมเจริญสติรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกับเรา ซึ่งการทำงานร่วมกันกับกลุ่มหมู่บ้านพลัมนี้ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราสร้างกิจกรรมใหม่ที่เรียกว่า ‘ภาวนาวิถีเมือง’ ขึ้นมาอย่างจริงจัง
MKT Event : ภาวนาวิถีเมือง ตรงนี้มีรายละเอียดอะไรที่พอจะเล่าให้เราฟังได้บ้าง
นพ.บัญชา : คือต้องเข้าใจก่อนว่าคนเมืองทุกวันนี้มีไลฟ์สไตล์หรือมีเงื่อนไขของชีวิตหน้าที่การงานที่มันไม่ง่าย ความเครียด ความกดดัน และความเร่งรีบต่าง ๆ เป็นเงื่อนไขที่ไม่เอื้อในการใช้เวลาเจริญสติหรือทำสมาธิแบบเข้มข้นเท่าใดนัก ฉะนั้นเราต้องสร้างวิธีการเข้าถึงการทำสมาธิแบบ User friendly ให้คนเมืองรู้สึกง่าย สุดท้ายเขาจะค่อย ๆ ชอบ ยกตัวอย่างเช่น ผมเชื้อเชิญสถาบันโยคะวิชาการมาจัดโยคะที่นี่ มีไทเก๊กที่นี่ สุดท้ายมีกลุ่มใหม่ ๆ ขอทำดอกไม้ภาวนาได้ไหม เย็บปักถักร้อยหัตถศิลป์ภาวนา มีกลุ่มบริษัทความสุขมาขอปั่นไอติม มีเด็กคนหนึ่งมาขอถักไม้กวาดเพื่อถวายพระ ทำไม้กวาดก็ภาวนาไปด้วย เหล่านี้เราเรียกว่าภาวนาวิถีเมือง การเจริญสมาธิจิตไปในอิริยาบถหรือในกิจกรรมที่เราต้องทำ ทุกอย่างก็เป็นการภาวนาได้ เห็นไหมล่ะว่ามันง่าย
MKT Event : ผมเคยอ่านถ้อยธรรมของท่านพุทธทาสที่ว่า ‘การทำงานคือการปฏิบัติธรรม’ นั่นคือการที่เราฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตด้วยจิตว่าง ละทิ้งตัวกู หรืออัตตา ตรงนี้ใช่คอนเซปท์เดียวกันกับภาวนาวิถีเมืองใช่ไหม
นพ.บัญชา : ไม่ใช่ มันไปไกลกว่านั้น คำว่าตัวตนคือเรายึดติดว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นของเราเป็นภาระของเรา ตัวอย่างเช่น ผมมีหน้าที่ต้องซักผ้า ตอนเด็ก ๆ บ้านผมต้องเวียนกันซักผ้า วันไหนเวรผม รู้สึกเป็นภาระ แต่หลังจากบวช การซักผ้าคือการภาวนา มันอยู่ที่การวางจิตว่ากำลังทำอะไร เป็นภาระไหม ตอนแรกปัญหาของเราคือจะทำอะไรแล้วเป็นภาระ แต่ถ้าเราไม่คิดว่าเป็นภาระ มันต้องทำเพื่อการอยู่รอดของเรา แล้วงานของใคร งานของเรา หน้าที่เพื่อหน้าที่ พุทธทาสถึงบอกว่าการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม หลักคิดตรงนี้แหละที่เรียกว่าภาวนาวิถีเมือง
MKT Event : นอกจากกิจกรรมภาวนาที่ได้กล่าวไป กิจกรรมนอกเหนือจากนี้มีอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการภาวนาในรูปแบบใหม่บ้าง
นพ.บัญชา : มีครับ อันนี้อยู่ในโหมดเอนเตอร์เทนที่เราเรียกว่า ‘ธรรมะบันเทิง’ ตามที่เราบอกว่า เราคือ Spiritual Fitness and Edutainment Center หลายกิจกรรมในแนวคิดนี้ถูกสร้างขึ้นให้คนเสพความบันเทิง หากแต่เป็นความบันเทิงบนเนื้อหาที่เป็นกุศลเรามีโหมดเพลง เพลงของเราเป็นเพลงดีมีข้อคิด ไปจนกระทั่งถึงเพลงภาวนา
MKT Event : เรียกง่าย ๆ ก็คือ White Music นั่นเอง
นพ.บัญชา : ใช่ครับ เราได้ทั้งคุณเอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์, คุณบี๋-คณาคำ อภิรดี, คุณอ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์, คุณป๊อด โมเดิร์นด๊อก, คุณอุ๋ย บุดดาเบลส มาร่วมสร้างสรรค์เพลงในโหมดนี้ให้เรา ทำให้ 8 ปีที่เราทำเกี่ยวกับเรื่องเพลง ก็ยิ่งสร้างให้พื้นที่นี้เป็นที่สนใจของคนมากขึ้นในฐานะพื้นที่แห่งความสุขของนักแสวงหาที่ต้องการความสงบในจิตใจ
MKT Event : นั่นคือส่วนของอีเวนท์ภายใน แล้วในส่วนของอีเวนท์ที่จัดขึ้นภายนอก มันมีพลวัตร พัฒนาการอย่างไรในวันนี้
นพ.บัญชา : ก็ค่อย ๆ วิวัฒน์พัฒนามาเรื่อย ๆ นะครับ จนเราสามารถสร้างลักษณะงานที่สามารถกุมหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างมั่นคง มิหนำซ้ำยังนำเสนอรูปแบบการเข้าถึงลักษณะที่เรียกว่า User friendly อันเหมาะสมกับยุคสมัยให้ทุกคน ทุกกลุ่มอายุสามารถเข้าถึงได้ ทั้งกิจกรรมเหล่านั้นยังสามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์บ้านเมืองได้อย่างสมควร ยกตัวอย่างเช่น ตอนพุทธชยันตีเราก็จัดงานวัดลอยฟ้าขึ้นมา ร้อยปีสมเด็จญาณสังวรเราก็จัดงานร้อยปีสมเด็จญาณฯ ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นมาในบ้านเมืองเราก็พยายามเอาธรรมะมารับใช้
MKT Event : คุณหมอมีวิธีคิดอย่างไรในการสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ให้น่าสนใจ
นพ.บัญชา: เรารู้ไม่หมดและเราทำเองทั้งหมดไม่ได้ วิธีคิดเป็นอย่างนั้น เรามีพื้นที่ที่เหมาะ เพราะฉะนั้นหลักการคือใครเห็นด้วยกับแนวทางนี้ขอเชิญ แล้วมาร่วมด้วยช่วยกัน ยกตัวอย่างงานภาวนาเราก็เชิญทุกแนวคิดมาสอน แต่สอนแบบอาจารย์ท่าน ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้านั่นแหละ กล้าพูดได้ว่าสวนโมกข์กรุงเทพ เป็นสถานหนึ่งในประเทศไทยที่เปิดกว้างเรื่องนี้มาก เราพยายามจะทำแม้เรื่องคริสต์กับอิสลาม เราเคยจัดงานคริสมาสต์ เชิญบาทหลวงมาให้พร ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า มีพระมานั่งฟัง คนก็ตกใจว่าพวกสวนโมกข์นี่เพี้ยน (หัวเราะ) แต่ตอนหลังพักไว้ก่อน เพราะคนเขารู้สึกว่ามันเกินไป เราทำได้ 2-3 ครั้ง บางคนบอกไม่เชิญอิหม่ามมาบ้าง นี่ก็คิดไว้ แต่ตอนนี้ขอข้ามก่อน หรืออย่างกิจกรรมด้านเพลงภาวนานี่เราก็มีวิธีคิดแบบเดียวกันก็คือการหาคนที่มีความถนัดมาช่วยกันทำแทนเรา โดยเรามีแนวคิดต่าง ๆ เตรียมให้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์
MKT Event : อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการสร้างแนวคิดกิจกรรมทางธรรมที่สอดคล้องกับโลกทุนนิยมอย่างสอดคล้องลงตัว ตรงนี้มีวิธีคิดอย่างไร
นพ.บัญชา : แนวทางนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสวางไว้ 2 ข้อ ข้อที่ 1 ต้องนำพาทุกคนเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน ผมไม่ได้หมายความว่าสวนโมกข์จะต้องดึงคนมาเป็นพุทธ หรือดึงพุทธทั้งหลายมาศรัทธาพุทธทาสฯ เพียงแต่หลักการคือ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ ทุกคนมีจริตของตัวเองที่จะชอบอาจารย์นี้ ชอบคำสอนชุดนี้ หรือบางทีคำสอนของพระเยซูข้อนี้ดีก็มีสิทธิ์ที่จะชอบและนำมาปฏิบัติ คุณรู้ไหมว่าคนที่มาที่นี่เป็นคริสต์เยอะมาก แล้วเชื่อไหมคุณบี๋-คณาคำ ที่เป็นคนบันทึกเสียงคาถาชินบัญชรเพื่อใช้ในการภาวนาของที่นี่ เขาก็เป็นคริสต์ ซึ่งเขานับถือพระพุทธเจ้าที่คำสอน ส่วนข้อที่ 2 เมื่อเราเข้าใจความจริงข้อนี้ เราต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ไม่ใช่มาถกเถียงกันว่าของฉันดีกว่า ของเธอแย่กว่า เพราะสิ่งร่วมสำคัญที่สุดในคำสอนของทุกศาสดาและทุกนิกายศาสนาก็คือนำพาผู้คนให้พ้นจากอำนาจของวัตถุนิยม คือให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจ ไม่ใช่ให้วัตถุเป็นเจ้า ให้ความสำคัญกับจิตใจให้ได้ดุลมากขึ้น ๆ
MKT Event : ทีนี้มาพูดถึงอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นนั่นคือ ปฏิบัติภาวนาเพื่อน้อมถวาย “กำลังของแผ่นดิน” บ้าง
นพ.บัญชา : สำหรับกิจกรรมนี้การเกิดของมันมี 3 จังหวะ อันที่ 1 คือการเกิดของเรา ต้องใช้คำว่าเราได้รับเมตตาจากพระเจ้าอยู่หัว ทีนี้เมื่อท่านสวรรคต เราก็ตัดสินใจว่าไม่รู้จะทำอะไรดีไปกว่าสิ่งที่เราถนัด เราก็เลยนัดมาภาวนาเพื่อถวายพระองค์ท่านตั้งแต่วันแรกที่สวรรคต 14 ตุลา, ครบรอบ 7 วัน, ครบรอบ 15 วัน, ครบรอบ 50 วัน, ครบรอบ 100 วัน หรืออย่างสิ้นปีที่ผ่านมา เราทำกิจกรรมตามรอยธรรมราชา และตอนนี้เป็นช่วงเวลา กำลังจะออกพระเมรุงานพระบรมศพ ขณะเดียวกันก็จะเข้าสู่วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งตอนนี้ได้รับการประกาศให้เป็นวันพ่อแห่งชาติ และจะเป็นวันพ่อที่พิเศษมากเพราะถ้าพระองค์ยังทรงพระชนม์ก็จะครบ 90 ปีพอดี และหอจดหมายเหตุเราตั้งขึ้นเพื่อฉลองในคราวมีพระชนม์มายุ 80 กำลังจะครบ 10 ปี เราจึงทำการประมวลทุกอย่างที่เราถนัดเพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่านที่มีทั้งต่อเราและต่อแผ่นดิน ตกลงว่าจากนี้ไปเราจะปรับโหมดกิจกรรมไปสู่แนวคิดที่ว่า ‘เราคือกำลังของแผ่นดิน’ เพราะพ่อได้จากเราไปแล้ว ซึ่งคุณธเนศแกแต่งเพลงขึ้นมาว่าพ่อยังอยู่ ในความทรงจำของคนไทยทุกคน ยังมีพ่ออยู่ เพียงแต่วิธีที่จะให้พ่อยังอยู่จริง ๆ ที่ไม่ใช่แค่อยู่ในความทรงจำ เราต้องแปลมาเป็นอยู่ที่ตัวเราน้อมนำเอาสิ่งดี ๆ จากพระองค์ท่านมาใช้ น้อง ๆ ทีมงานเขาเลยมาตีความว่าวิธีเดียวที่พ่อจะยังอยู่และเราจะช่วยสานปณิธานพ่อ คือเราขอเป็นภูมิพลน้อย ๆ ของพ่อ ขอเป็นกำลังของแผ่นดิน ที่จะสานปณิธาน สานพระจริยวัตร ทำเท่าที่เราทำได้
MKT Event : ในส่วนกิจกรรมที่สอดคล้องกับธีมดังกล่าวประกอบด้วยอะไร
นพ.บัญชา : เท่าที่เราออกแบบตอนนี้มีกิจกรรมอยู่ 4-5 อย่าง อันที่ 1 คือเสาร์ 5 คือ 30 กันยานี้ เดือนหน้าส่งเสด็จ เราก็จะมีกิจกรรมเสาร์ 5 ว่าด้วยกำลังของแผ่นดิน จากนั้นวันที่ 13 ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคต ตั้งแต่บ่ายโมงตรงจนถึงเช้าวันที่ 14 เราจะมารวมกันอยู่ที่นี่เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ มีกิจกรรมดนตรีภาวนาเพื่อต้อนรับคนเมือง มาร้องเพลงบางเพลงเพื่อระลึกถึงพ่อ ขณะเดียวกันมาร่วมกันภาวนา มีพระอยู่กับเรา ใครนั่งสมาธิไหวจนเช้าก็อยู่จนเช้า ใครไม่ไหวก็ตามกำลัง มีเรือนว่าง มีโคนไม้ให้อยู่ได้เต็มไปหมด พอเช้าเราก็ใส่บาตรถวายพระเจ้าอยู่หัวกัน แล้วจะทำแบบนี้อีกครั้งในวันที่ 26 ตุลาคม และวันที่ 5 ธันวาคม
นอกเหนือจากกิจกรรมนี้ เรากำลังจะทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘เราคือกำลังของแผ่นดิน’ โดยเราจะเชิญชวนคนที่เข้าร่วมมาร่วมกันเขียนหนังสือเล่มนี้ หนังสือนี้จะทำเป็นดิจิทัลก่อน แต่แบบปริ้นท์จะออกมา 5 ธันวา เรื่องของคุณจะอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย มาช่วยกันเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง สานปณิธานพ่อว่าเราคือกำลังของแผ่นดิน
MKT Event : คุณหมอคาดหวังว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นหลังจากกิจกรรมนี้
นพ.บัญชา : ผมเรียนตรงไปตรงมา เราบอกว่าทำถวายพระองค์ท่าน ถึงไม่ถึงไม่ทราบ แต่ด้วยเจตนามันเกิดขึ้นโดยเรา สำหรับกิจกรรมที่เราออกแบบ เราคือกำลังของแผ่นดิน เดิมตามรอยธรรมราชา ตามรอยไม่พอ เราต้องลุกขึ้นมาเป็นกำลังของแผ่นดิน แล้วเราลงมือทำ ประโยชน์จริง ๆ เกิดขึ้นทั้งตัวเราในการน้อมนำหลักคิดหลักปฏิบัติหรือแบบอย่างของพระองค์มาไว้ในใจ เสร็จแล้วลงมือทำให้เกิดขึ้นกับบ้านเมือง ผู้คนสังคม ซึ่งก็คือเราอีก ตกลงโหมดที่เราออกแบบไว้ก็ตั้งใจว่าจะเกิดผลใหญ่จริง ๆ ไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัวได้รับหรอก เพราะว่าพระองค์ทรงทำไว้ล้นเหลือแล้ว แต่ประโยชน์ใหญ่เกิดขึ้นในตัวของเราเอง เราก็เป็นกำลังของแผ่นดินได้ เราก็เป็นภูมิพลได้ เราเกิดมา เราต้องเป็นภูมิพลของแผ่นดินนี้ ไม่ได้เป็นภาระแห่งแผ่นดิน ถ้าเราน้อมรำลึกนี้มาใส่ตัวแล้วลงมือทำ หากพระเจ้าอยู่หัวยังอยู่และทรงทราบ ผมเชื่อว่าอันนี้พระองค์จะปลื้มและปีติมากกว่าปฏิบัติอามิสบูชาหรือการสักการบูชาที่ไร้เหตุผล
MKT Event : แนวคิดนี้มองดูแล้วสอดคล้องกับแนวคิดภาวนาวิถีเมือง
นพ.บัญชา : ใช่ครับ ที่เราเคยบอกว่าทำเพื่อตัวเองได้ประโยชน์ระดับหนึ่ง ทำเพื่อคนอื่นได้ประโยชน์ทั้งตัวเองและคนอื่น ถ้าทำเพื่อคนอื่นอย่างกว้างขวางมันได้ประโยชน์อีกไม่รู้กี่ชั้นนับไม่ถ้วนนั่นแหละ
MKT Event : นอกเหนือจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในตอนนี้ ยังมีสิ่งใดอีกที่เป็นเป้าหมายที่ทั้งตัวคุณหมอ รวมถึงสวนโมกข์กรุงเทพ อยากทำให้ประสบความสำเร็จ
นพ.บัญชา : ตอนนี้เรากำลังไปอีกเฟสหนึ่งที่อ้างอิงจากความคิดของอาจารย์ท่านเจ้าคุณประยุทธ ท่านบอกว่า วัดทุกวัดในประเทศไทยที่เกิดขึ้น ผู้สร้างวัดตั้งใจอยากให้วัดเป็นสถานที่คล้าย ๆ อย่างนี้ คือเป็นพื้นที่กลางเพื่อคนใฝ่ดีใฝ่บุญใฝ่ความดีงามมาร่วมกันทำ แต่ด้วยเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นกับ 50,000 วัดในประเทศไทย ก็คือคนเข้าวัดด้วยเหตุผลที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเรื่องพุทธศาสนาเท่าที่ควร เรามีความคิดสร้างกิจกรรมใหม่รวมทั้งสร้างเครือข่ายขบวนธรรม แล้วออกไปช่วยวัดเท่าที่เราจะทำได้ วัดไหนพร้อมเราจะออกไปรับใช้ วัดไหนยังไม่พร้อมไม่เป็นไร
MKT Event : ช่วยในแง่ไหนบ้าง
นพ.บัญชา : ช่วยทุกเรื่องอย่างเช่น ตอนนี้มีกลุ่มสถาปนิกอาสาช่วยไปออกแบบปรับวัดให้เหมาะสมตามสมควรที่วัดเป็นอยู่เพื่อประโยชน์ข้างหน้า เป็นวัดที่สัปปายะ และสวนโมกข์กรุงเทพจะไปช่วยริเริ่มสร้างกิจกรรมในวัดให้งดงาม ส่วนเรื่องการบริหารจัดการอย่างไรนั้นเดี๋ยวค่อยว่ากัน เอาตรงที่เริ่มต้นก่อน
MKT Event : คือเริ่มต้นตั้งแต่การปลูกฝังมายด์เซต และมุมมองที่ดีใหม่ ๆ ต่อพุทธศาสนาใช่ไหม
นพ.บัญชา : หลายอย่างเลย มายด์เซตอย่างเดียวคงไม่ได้ พระท่านก็มีภาระเยอะมาก ความคาดหวังของสังคมก็ร้อยแปดพันประการ เพราะเราเองก็ไม่ได้อยู่วัดตลอด เดี๋ยวมีโยมคนโน้นมาอยากได้โน่น โยมคนนี้มาอยากทำนี่ใช่ไหม โยมคนโน้นอยากได้น้ำมนต์ คนนี้อยากได้หวย ท่านหนีไม่พ้น ต้องดูแลโยมทั้งหมด ดังนั้นนอกจากไปถวายข้อคิดเห็นแล้ว ขณะเดียวกันบางเรื่องต้องไปรับใช้ให้มันเกิดขึ้นให้ได้ พอมันเกิดขึ้น มันก็ค่อย ๆ ขยายออกไป
MKT Event : กับสิ่งที่คุณหมอเล่าให้ฟังทั้งหมดเหล่านี้ ทุกกิจกรรมวัดความสำเร็จจากปัจจัยใด
นพ.บัญชา : วัดจาก 3 อย่าง อย่างที่ 1 คือแบบง่าย ๆ วัดจากปริมาณคนที่มาร่วมว่ามีมากน้อยแค่ไหน เป็นกลุ่มใดบ้าง รวมทั้งคุณภาพต่าง ๆ ของผู้มาร่วม หลักการของสวนโมกข์เราบอกว่าถ้าคุณชอบที่นี่ก็เชิญมาใช้ ถ้าใช้แล้วชอบมากมาช่วยพวกเราด้วย อย่างที่ 2 วัดในเรื่องเนื้อหางานที่เราทำออกมา ว่าเป็นเนื้อหาผิดพลาดบกพร่องถูกท้วงติงมากน้อย หรือได้รับการโมทนาสาธุ แล้วเผยแผ่ส่งต่อ เช่น คนมาเห็นชอบถ่ายรูปแชร์ไป คนเห็นก็แชร์กันไป หรือเราทำเรื่องธรรมะแล้วถูกส่งต่อไปมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือมันถูกส่งต่อไปพื้นที่ที่ไม่น่าจะไปอยู่ได้ไหม
MKT Event : หมายความว่าอย่างไรครับ
นพ.บัญชา : เช่นธรรมะของพระพุทธเจ้า หรือของอาจารย์พุทธทาสไปเป็นส่วนหนึ่งในคำพูดของกลุ่มเด็กแว็นซ์ เป็นต้น เพราะคำมันโดน หรืออะไรก็แล้วแต่ เช่น อาจารย์พุทธทาสบอก “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง”, “เช่นนั้นเอง” เวลาเด็กทะเลาะกันเถียงกันก็เอาคำนี้ไปใช้ คือเอาเมสเซจไปพูดไปใช้ต่อ ๆ กัน ซึ่งผมก็พอใจแล้ว
MKT Event : อันนี้รวมถึงการไปในช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยใช่ไหม
นพ.บัญชา : ใช่ครับ การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คมันทำให้สิ่งเหล่านี้ยิ่งไปได้ไกล ไปได้แรง และไปได้ถึงปลายทาง ถ้าหากว่าผู้ส่งรวมทั้งผู้หามันได้จังหวะที่จะเจอกัน ซึ่งผมพบว่าสังคมออนไลน์อาจจะเป็นมิติใหม่ และเป็นอนาคตที่น่าสนใจ ผมพบคนหนุ่มคนสาวที่เข้ามาช่วยเป็นอาสาสมัครของสวนโมกข์ ส่วนใหญ่มาจากช่องทางสังคมออนไลน์ ทุกคนที่มาก็ต่างดิ้นรนทำมาหากิน แต่เขามีวันว่างมาพักที่นี่ มาเรียนรู้ มาให้ที่นี่ ผมรู้สึกว่าอันนี้กำลังมากขึ้น อันนี้มากับโซเชียลมีเดีย และวิธีทำมาหากินในโลกยุคใหม่มันเปลี่ยน มันเป็นเจ้าของกิจการได้ ผมมองว่า 2-3 เรื่องนี้อาจจะนำพามาซึ่งมิติใหม่ทางด้านชีวิตจิตใจและการพัฒนาสังคม และอาจจะเป็นโอกาสสำคัญของงานพระพุทธศาสนา สุดท้ายเราก็เป็นเพื่อนกับเครือข่ายและขบวนธรรม อันนี้อาจจะเป็นคำตอบในการส่งต่อแนวคิดด้านพุทธศาสนาให้ก้าวไกลไปกว่าเดิมได้ในอนาคต